5 เหตุผลที่ต้องเก็บเงินค่ามัดจำคนเช่าบ้าน
หลายคนที่ทำธุรกิจเช่าบ้านมักจะสงสัยว่าทำไมจะต้องเก็บค่ามัดจำก่อนเช่าบ้าน? หรือผู้เช่าบางคนเองก็ไม่อยากจะจ่ายเงินค่ามัดจำก้อนนี้ เพราะไม่รู้ว่ามีสาเหตุจำเป็นอะไรถึงต้องเก็บเงินก้อนใหญ่ขนาดนั้นก่อนเข้าอยู่
เงินมัดจำ คือ เงินที่แสดงถึงการรับประกันความเสียหายของบ้านหรือสินทรัพย์ที่อยู่ในบ้านเช่า ซึ่งหากผู้เช่าไม่ได้ทำบ้านเสียหายหรือไม่ได้ผิดสัญญาอะไร เจ้าของบ้านจะคืนเงินก้อนนี้เต็มจำนวน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเจ้าของบ้านมักจะเก็บเงินก้อนนี้ในอัตรา 2-3 เท่าของค่าเช่า จ่ายในล่วงหน้าตั้งแต่วันแรกที่เข้าอยู่ โดยหลักๆแล้วเจ้าของบ้านควรกำหนดเอาไว้ในสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะมีกรณีใดบ้างที่สามารถหักเงินมัดจำได้ ก็แล้วแต่เจ้าของบ้านกับผู้เช่าจะตกลงกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งประเด็นหลักๆที่ควรเก็บค่ามัดจำ TerraBKK Research ได้แยกประเด็นมาไว้ดังนี้ 1. กรณีผู้เช่าทำบ้านและทรัพย์สินเสียหาย
นี่เป็นเหตุผลหลักๆที่เจ้าของบ้านควรเก็บค่ามัดจำ เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้เช่าทำบ้านเสียหาย ซึ่งก่อนทำสัญญาต้องมีการเจรจาในเรื่องนี้ให้เรียบร้อย ว่าหากเป็นความเสียหายที่เกิดจากผู้เช่า ไม่ใช่เกิดจากความเสื่อมของทรัพย์สิน เจ้าของบ้านมีสิทธิ์หักเงินค่ามัดจำตามสภาพที่เสียหาย หรือหากมีสภาพที่เสียหายมากจนถึงขั้นต้องรีโนเวทใหม่ทั้งหลัง ตรงนี้เจ้าของบ้านเองก็มีสิทธิ์จะไม่คืนค่ามัดจำทั้งก้อนหรือสามารถเรียกค่าเสียหายเพิ่มได้หากประเมินแล้วว่าค่ามัดจำไม่เพียงพอกับค่าซ่อม
ในกรณีบ้านเสียหายแล้วยึดค่ามัดจำนี้ เป็นส่วนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของบ้านและผู้เช่ามานักต่อนักแล้ว TerraBKK แนะนำว่าควรมีใบรายการสำหรับเช็คสภาพทรัพย์สินให้ผู้เช่าเช็คก่อนเข้าอยู่ ว่าก่อนเข้าอยู่มีสภาพเช่นไร แล้วหลังคืนบ้านมีสภาพเช่นไร เพื่อเป็นหลักฐานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในภายหลัง 2. กรณีผู้เช่าย้ายออกก่อนหมดสัญญา
โดยทั่วไปแล้วการทำสัญญาเช่ามักจะมีระยะเวลา 1-3 ปี และหากมีการเปลี่ยนแปลงเช่น จะย้ายออกก่อนหรือต้องการจะต่อสัญญาต้องแจ้งเจ้าของบ้านล่วงหน้า 30 วัน เพื่อให้เจ้าของบ้านได้เตรียมตัวว่าจะต่อสัญญาต่อไปหรือจะหาผู้เช่าใหม่ แต่ในกรณีที่ผู้เช่าคิดจะย้ายออกก็ออกเลย บอกวันนี้ออกพรุ่งนี้ แบบนี้เจ้าของบ้านสามารถหักค่ามัดจำได้ตามสมควร เพราะผู้เช่าทำผิดสัญญา ไม่ได้แจ้งล้วงหน้า 30 วันตามที่ตกลงกันไว้ เป็นเหตุให้เจ้าของบ้านเสียเวลาและเสียโอกาสในการหาผู้เช่าใหม่ที่ต้องปล่อยบ้านว่างไว้เพื่อรอผู้เช่ารายใหม่ 3. กรณีผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า
แม้ในความเป็นจริงเงินมัดจำไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าเช่า ผู้เช่าไม่สามารถให้เจ้าของบ้านหักค่าเช่าจากเงินค่ามัดจำได้ แต่หากถึงคราวจำเป็นคือผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่าโดยไม่สามารถตามตัวได้ เจ้าของบ้านก็ต้องยึดเงินมัดจำเป็นค่าเช่าไปก่อน แต่อย่าลืมว่าเจ้าของบ้านเก็บเงินมาเพียง 2-3 เท่าของค่าเช่า หากผู้เช่ายังคงมีพฤติกรรมแบบนี้อีกหลายเดือน ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก ดีไม่ดีค่ามัดจำเองก็ไม่พอหัก อาจจะต้องมีการบอกเลิกสัญญาก่อนเรื่องบานปลายไปกว่านี้ 4. กรณีผู้เช่าค้างค่าน้ำค่าไฟ
ก่อนย้ายออกและก่อนที่เจ้าของจะคืนค่ามัดจำ ควรเรียกหาใบเสร็จและบิลค่าน้ำค่าไฟของเดือนล่าสุด เพื่อเป็นหลักฐานว่าค่าน้ำค่าไฟผู้เช่าได้ชำระเรียบร้อย ไม่มีติดค้าง แต่หากยังไม่ได้ใบเสร็จหรือยังไม่มีการเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ เจ้าของบ้านควรยึดค่ามัดจำไว้ส่วนหนึ่งตามจำนวนที่พอๆกับค่าน้ำค่าไฟของเดือนที่แล้ว เผื่อว่าผู้เช่าอาจจะไม่ได้กลับมาจ่ายให้ ซึ่งเปอร์เซนต์น้อยมากที่เวลาผู้เช่าย้ายออกไปแล้ว จะกลับมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ ดังนั้นควรหักขึ้นมาก่อนแล้วหากชำระแล้วจริงจึงคืนเงินก้อนนั้นไปตามจำนวน 5. เป็นค่าทำความสะอาด
แม้ว่าผู้เช่าจะไม่ได้ทำบ้านเสียหาย แต่หากบ้านสกปรกจนเจ้าของบ้านต้องทำความสะอาดครั้งใหญ่ เงินค่ามัดจำที่หักมาก็สามารถมาเป็นค่าทำความสะอาดได้เช่นกัน ซึ่งจริงๆแล้วก่อนย้ายออกผู้เช่าก็ควรทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบบ้านคืน - เทอร์ร่า บีเคเค
บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้
TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก
ทำบ้านเช่าต้องรู้ วิธีสกรีนคนเช่าก่อนให้เข้าอยู่ นักลงทุนหลายคนคงคิดจะทำธุรกิจบ้านเช่ากันบ้าง แม้จะเหนื่อยและมีปัญหาที่หนีไม่พ้นคือปัญหาเรื่องผู้เช่า เพราะแต่ละคนก็มาจากต่างถิ่น ต่างนิสัย บ้างเจอผู้เช่าดีก็โชคดีไป แต่ใครเจอผู้เช่าร้ายหน่อยก็แทบเข็ดจนอยากจะขายบ้านทิ้งเลยทีเดียว แต่หากพูดถึงผลตอบแทนจากการเช่าก็ยังเป็นที่น่าดึงดูดให้นักลงทุนหลายรายอยากจะเข้ามาในธุรกิจนี้