หากกล่าวถึง "การเดินทาง" และ "หิน" เราก็อดคิดไปถึง Sailing Stone หรือ ก้อนหินเดินได้จากอุทยานแห่งชาติ Death Valley National Park ในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ เพราะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หินสามารถเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ให้เห็นเป็นรอยทางการเคลื่อนที่อย่างชัดเจน แต่รอยแห่งการเดินทางของหินไม่ได้ปรากฏอยู่บนดินโคลนที่แตกระแหงของ ทะเลสาบเรซแทรค พลาย่า (Racetrack Playa) เท่านั้น ยังคงเป็นรอยแห่งประวัติศาสตร์จากยุคอดีตเดินทางสู่ยุคปัจจุบันให้เราได้ใช้ศึกษาและค้นคว้ากัน

จากแนวคิดการนำหินมาดัดแปลงใช้งานของมนุษย์ถ้ำยุคหินสู่มนุษย์ไฮเทคยุคดิจิตอล จากเครื่องมือเครื่องใช้สู่งานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า มนุษย์ยังคงใช้ประโยชน์จากก้อนหินมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคหินเก่ากับงานศิลปะบนแผ่นหิน อย่าง "Rock Art" หรือ "Parietal Art" ที่มนุษย์ถ้ำทำขึ้นบนพื้นผิวของก้อนหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นงานศิลปะบนผนังถํ้าหรือเพิงพักพักอาศัยที่สร้างจากหิน ทั้งการวาดภาพระบายสีและการแกะสลักหิน จาก "วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ" (Venus of Willendorf) งานแกะสลักหินรูปสตรีในยุคโบราณอันมีชื่อเสียง สู่งานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่อย่าง “โคลอสเซียม” (Colosseum) ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ จากเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคหินเก่าสู่การสร้างสถาปัตยกรรมตึกระฟ้าในปัจจุบัน หินถูกนำมาใช้สร้างสิ่งก่อสร้างและงานศิลปกรรมอย่างมากมาย เราลองมาดูกันว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหินมีการเดินทางอย่างไรบ้าง

เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักวิธีเพาะปลูกพืชและการรู้จักวิธีจับสัตว์ป่ามาเลี้ยงให้เชื่อง พวกเขาเริ่มสร้างบ้านพักอาศัยใกล้กับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และพักอาศัยรวมกลุ่มกันในลักษณะของหมู่บ้าน และรู้จักนำหินมาใช้ทำอาวุธเพื่อการยังชีพ พร้อมกับสร้างสิ่งประดิษฐ์และงานฝีมือใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกทั้งนำมาปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรมแบบง่ายๆ อาทิ กำแพงเมือง "เมืองเจอริโค" (Jericho) ซึ่งเป็นการนำก้อนหินขนาดใหญ่มาวางเรียงซ้อนกัน ที่ถือได้ว่าเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ หรือการสร้าง "เสาหินขนาดใหญ่" ที่เรียกว่า "เมกะลิท" (Megalith) ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ ครอมเลก (Cromlech) เสาหินขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงกัน อย่าง "สโตนเฮนจ์" (Stonehenge) ที่เมืองวิลต์เชียร์ ในประเทศอังกฤษ เมนเฮอร์ (Menhir) เสาหินขนาดใหญ่ตั้งตรงอยู่เดี่ยวๆ และ ดอลเมน (Dolmen) เสาหินขนาดใหญ่หลายต้นที่ตั้งตรงเพื่อรองรับก้อนหินขนาดใหญ่เพียงก้อนเดียว

หลังจากนั้นมนุษย์ก็เริ่มเข้าสู่การสร้างถิ่นฐาน เริ่มสร้างชุมชนและสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งพักพิงมากขึ้น จนเกิดเป็น "นครรัฐ" (State) หรือ "อาณาจักร" (Kingdom) ในสมัยนั้นก็มีการนำหินมาสร้างเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างในดินแดนเมโสโปเตเมียก็มีการก่อสร้าง "ซิกกูแรต" (Ziggurat) วิหารแบบหอสูงบนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ก่อสร้างด้วยก้อนหินและอิฐโคลน สูงกว่า 40–50 ฟุต หรือ "กำแพงเมืองของชาวฮิตไตต์" ที่ก่อสร้างด้วยแท่งหินขนาดใหญ่ นอกจากการใช้หินแล้วในยุคนั้นยังมีการค้นพบวัสดุชนิดอื่นมากขึ้นอีกด้วย ทั้งโลหะสัมฤทธิ์ (Bronze) เงิน (Silver) ทองคำ (Gold) และโลหะเจือ (Alloy) และยังมีการนำหินประเภทต่างๆ มาใช้ในการแกะสลักงานศิลปะมากขึ้นอีกด้วย อาทิ หินอะลาบาสเตอร์ (Alabaster) หินทราย (Sandstone) หินไดออไรต์ (Diorite) หินบะซอลต์ (Basalt) หินแกรนิต (Granite) และยิปซัม (Gypsum) เป็นต้น

จากที่ราบลุ่มแม่น้ำไทริสและยูเฟรติสในดินแดนเมโสโปเตเมีย สู่ที่ราบลุ่มแม่นํ้าไนล์ในดินแดนอียิปต์โบราณ หินถูกนำมาก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์อย่าง "พีระมิด" ก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมากถูกนำมาวางเรียงซ้อนด้วยขนาดที่ลดหลั่นกันไป พีระมิดที่หลายคนรู้จักกันดี ได้แก่ "มหาพีระมิด" (The Great Pyramid of Gizeh) ที่เมืองกิเซห์ (Gizeh) ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่เก็บพระศพของกษัตริย์อียิปต์โบราณ และด้วยขนาดอันใหญ่โตน่าอัศจรรย์ พีระมิดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ แต่หลังจากผ่านยุคแห่งพีระมิดก็เข้าสู่ยุคของสุสานฟาโรห์รูปแบบใหม่ อย่างการฝังใน "สุสานหินตัด" (Rock-Cut Tomb) ห้องสี่เหลี่ยมที่สร้างด้วยแท่งหิน ตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่ใต้เนินดิน ซึ่งในสมัยอาณาจักรอียิปต์ใหม่นิยมสร้างสุสานหินแทนพีระมิดแบบดั้งเดิมเสียมากกว่า นอกจากนี้ในช่วงที่ยุคอียิปต์รุ่งเรืองยังมีการสร้าง "ประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย" (The Pharos of Alexandria Lighthouse) ตั้งอยู่บนเกาะฟาโรสริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยตัวประภาคารถูกสร้างด้วยหินอ่อนสลักลวดลายวิจิตรบรรจง สูงประมาณ 200-600 ฟุต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ในศตวรรษที่ 13 ประภาคารฟาโรสได้พังทลายลงเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวจึงไม่เหลือร่องรอยให้เราได้ศึกษากันอีก

ส่วนในสมัยอาณาจักรกรีกนั้นได้เกิดงานศิลปะ นวัตกรรมและสิ่งก่อสร้างรูปแบบใหม่อันทรงอิทธิพลขึ้นมากมาย ชาวกรีกรู้จักการสร้างศิลปะในหลายแขนง หินอ่อนถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานกันอย่างแพร่หลาย โดยเน้นการสร้างงานประติมากรรม "รูปตริภังค์" (Contrapposto) รูปคนแกะสลักที่ยืนโดยทิ้งนํ้าหนักลงบนขาข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งถือกันว่าเป็นแบบฉบับของความกลมกลืนและสมดุลของรูปประติมากรรมในท่ายืน และในงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมอันสวยงามอย่างวิหาร ซึ่งประดับตกแต่งด้วยงานประติมากรรมที่งดงามที่สุด อาทิ "วิหารไดอานา (อาร์เทมิส) แห่งเมืองเอฟิซูส" (The Temple of Diana (Artemis) at Epesus) ที่สร้างขึ้นจากหินอ่อน กว้าง 160 ฟุต ยาว 342 ฟุต ด้านกว้างมีเสาหินอ่อนเรียงรายตลอดแนว หลังคาทำด้วยไม้มุงกระเบื้องหินอ่อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิหารที่สวยงามมากจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี "วิหารพาร์เทนอน" (Parthenon) และ "วิหารอีเรกเทเอียน" (Erechtheion) อีกด้วย และชาวกรีกยังได้สร้างงานศิลปะ โมเสก (Mosaic) ซึ่งเป็นการใช้หินกรวดเม็ดเล็กๆ เรียงต่อกันเป็นภาพติดบนผนังหรือลวดลายประดับบนพื้นบ้าน นับได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์งานโมเสกขึ้นเป็นครั้งแรกของทวีปยุโรปด้วย

จากวิหารแห่งเทพถูกแทนที่ด้วย "โคลอสเซียม" ในเวลาต่อมา เมื่อโรมันเข้ามามีอำนาจครอบครองดินแดนกรีซโบราณ ชาวโรมันได้ลอกเลียนงานศิลปะของชาวกรีกไปเป็นของตนเองมากมายหลายรูปแบบ ในยุคโรมันมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น 3 ประเภท คือ วิหาร สุสาน และที่พักอาศัย โดยนิยมใช้หินปูนในการทำฐานรากและใช้ปูนขาวในการแต่งพื้นผิวของฝาผนังอาคาร และในยุคนี้ยังมีการประดิษฐ์คิดค้น "คอนกรีต" (Concrete) มาใช้ในการก่อสร้างฝาผนัง ช่องโค้ง คูหาโค้ง และโดมซึ่งประดับตกแต่งด้วยหินอ่อน งานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ ทวิอัฒจันทร์ "โคลอสเซียม" (Colosseum) สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในกรุงโรม และถือเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งอัศจรรย์ของโลกยุคใหม่เช่นกัน ก่อสร้างจากวัสดุอันประกอบด้วย เสาหลักสร้างด้วยหินปูนแกร่ง ขณะที่เสาทั่วไปสร้างด้วยหินปูนชนิดพรุนและอิฐ พื้นและกำแพงสร้างด้วยกระเบื้อง และเพดานทรงโค้งภายในอาคารสร้างด้วยซีเมนต์ จากการเลือกใช้วัสดุที่หลากหลายผสมผสานในงานก่อสร้างจึงทำให้ ‘โคลอสเซียม’ มีความทนทานสูงและมีอายุที่ยาวนานมาจนทุกวันนี้

เมื่อหินเดินทางมาสู่ดินแดนเอเชียไมเนอร์ ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิลของชาวไบแซนไทน์ ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของชาวไบแซนไทน์ได้แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิซึ่งกินอาณาเขตไปถึงดินแดนบนคาบสมุทรอิตาลีจรดดินแดนชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน งานสถาปัตยกรรมของศิลปะไบแซนไทน์ส่วนมากนิยมก่อสร้างโบสถ์และอาคารต่างๆ เพื่อใช้ในกิจการของศาสนาคริสต์นิกายออร์โทดอกซ์ อาคารสิ่งก่อสร้างของศิลปะไบแซนไทน์อันทรงคุณค่าที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ ได้แก่ "โบสถ์ฮาเกียโซเฟีย" (Hagia Sophia) ในประเทศตุรกี ซึ่งมีลักษณะของหลังคาทรงโดมที่มีความซับซ้อน ถูกวางเรียงซ้อนสูงขึ้นไปในแนวตั้ง โบสถ์แห่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางด้วยเช่นกัน โดยโบสถ์ถูกสร้างขึ้นจากการใช้เสาหินกลมขนาดใหญ่และกำแพงหินหนาช่วยค้ำยันหลังคาทรงโดมขนาดใหญ่ให้คงอยู่ ซึ่งทำให้โบสถ์แห่งนี้กลายเป็นงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ามาจนกระทั่งในทุกวันนี้

ทีนี้ลองเดินทางข้ามมายังฝั่งเอเชียกันบ้าง เอเชียในอดีตก็มีสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่สร้างจากหินอยู่มากมายเช่นกัน อาทิ ในอาณาจักรอินเดีย ก็มี "เมืองมหาบาลีปุรัม" (Mahabalipuram) เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องของหินแกะสลัก ซึ่งมีการแสดงถึงสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แบบดราวิเดียน (Dravidian Architecture) รวมทั้งยังมีสถาปัตยกรรมหินตัดแบบอินเดีย และแท่งหินยักษ์ ซึ่งเมืองแห่งนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกแล้วด้วย หรือในอาณาจักรจามปาก็มี "ปราสาทหินจาม" อายุนับพันปี ตั้งอยู่ทางภาคกลางตอนล่างของประเทศเวียดนาม ปราสาทหินเหล่านี้เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมด้านศาสนาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาติจามปา นับเป็นความลึกลับคู่ดินแดนที่มีภูมิอากาศแปรปรวนเช่นนี้

ซึ่งในปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานของปราสาทหินจามโบราณให้เห็นเป็นจำนวนมาก หรือในอาณาจักขอม ก็มีสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าเช่นกันอย่าง "นครวัด-นครธม" (Angkor Wat – Angkor Thom) สิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัวเทวสถานถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชาต่อมา ตัวปราสาทก่อสร้างโดยใช้หินทรายเป็นวัสดุหลักจำนวนมาก เทวสถานนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "เมืองพระนคร" จากองค์การยูเนสโกด้วย และอีกหนึ่งสิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีน ได้แก่ "กำแพงเมืองจีน" (The Great Wall of China) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกทั้งยุคกลางและยุคใหม่ ด้วยกำแพงที่สูงกว่า 7 เมตร กว้างกว่า 5 เมตร และมีความยาวกว่า 6,350 กิโลเมตร กำแพงเมืองจีนเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทอดยาวผ่านภูมิประเทศที่หลากหลาย ดังนั้นวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างจึงแตกต่างและมีความหลากหลายตามแต่สภาพแวดล้อม เช่น เมื่อเริ่มสร้างกำแพงเมืองจีนจะใช้หิน ดิน และไม้เป็นหลัก แต่ในบริเวณใกล้กรุงปักกิ่งกำแพงเมืองจะถูกสร้างโดยใช้หินอ่อน หรือในบางบริเวณกำแพงเมืองจะถูกสร้างโดยใช้หินแกรนิต บางแห่งก็ใช้ดินเผา ส่วนทางตะวันตกของจีนกำแพงจะถูกสร้างโดยใช้โคลน จึงทำให้ชำรุดได้ง่ายกว่า แต่กำแพงเมืองจีนที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ถูกสร้างในราชวงศ์หมิงโดยใช้วัสดุที่ทนทานอย่างหินเป็นหลัก

จากก้อนหินบนกำแพงเมืองจีนผ่านข้ามประวัติศาสตร์จากยุคกลางเข้าสู่ยุคใหม่แห่งวิทยาการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทวีปยุโรป การเริ่มต้นฟื้นฟูศิลปวิทยาของชาวกรีกและโรมันโดยนักปราชญ์ยุคใหม่ก็เกิดขึ้น การนำมาซึ่งแนวความคิดเรื่องมนุษยนิยม (Humanism) ซึ่งเป็นทรรศนะที่ถือว่ามนุษย์เป็นสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าและมีความสามารถที่จะพัฒนาตนเองโดยอาศัยเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีเมืองฟลอเรนซ์ ในประเทศอิตาลี เป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของทวีปยุโรป ทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดงานศิลปกรรมมากมาย ทั้งจิตกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ในยุคนี้มีการนำหินมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะหินอ่อนที่จะนิยมนำมาแกะสลักและใช้ในงานสถาปัตยกรรมเช่นกัน ซึ่งผลงานที่น่าสนใจ ได้แก่ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter)

จากก้อนหินของงานก่อสร้างในอิตาลีสู่ก้อนหินแห่งชาโตซ์ในฝรั่งเศส เมื่อพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 (Francis I) แห่งฝรั่งเศส ได้ให้สถาปนิกชาวอิตาลีออกแบบ ชาโตซ์ (Chateaux) อันเป็นคำเรียกปราสาทของชาวฝรั่งเศสที่มีขนาดใหญ่ ด้วยกระบวนแบบสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในดินแดนฝรั่งเศส ซึ่งนิยมก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างด้วยหินคุณภาพเยี่ยม ซึ่งหาได้ง่าย อย่างเช่น หินชนวน (slate) ที่ถูกนำมาใช้สำหรับมุงหลังคาและตกแต่งอาคาร อาทิ พระราชวังลูฟร์ (Lourve) และ ชาโตซ์ เดอ ชองบอร์ด (Chãteau de Chambord) และในเวลาต่อมาได้มีการการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมขั้นสูงที่ยิ่งใหญ่และอลังการอย่าง พระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) และการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบ ใกล้กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก่อให้เกิดเป็นมาตรฐานของการก่อสร้างพระราชวังให้กับดินแดนทั้งมวลของทวีปยุโรป

ซึ่งในช่วงเวลานี้อิทธิพลของการออกแบบงานสถาปัตยกรรมจากสถาปนิกชาวอิตาลีนั้นได้แพร่หลายออกไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ในเอเชียเองสถาปัตยกรรมหลายแห่งก็ได้รับอิทธิพลนี้มาเช่นกัน อาทิ "ทัชมาฮาล" ในประเทศอินเดีย อนุสรณ์สถานแห่งความรักของจักรพรรดิ์ชาห์ เจฮัน แด่พระมเหสีมุมทัช มาฮาล อาคารถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองมะครานา หินอ่อนสีแดงจากเมืองฟาตีบุระ หินอ่อนสีเหลืองจากฝั่งแม่น้ำนรภัทฑ์ เพชรตาแมวจากกรุงแบกแดด ปะการัง และ หอยมุกจากมหาสมุทรอินเดีย หินเจียระไนสีฟ้าจากเกาะลังขะ เพชรจากเมืองบนทลขัณฑ์ ทัชมาฮาลถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการรับรองจากสถาปิกทั่วโลกว่าสร้างได้ถูกสัดส่วนและงดงามที่สุดอีกด้วย

หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็ตามก็ได้มีการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมจากหินเอาไว้มากมาย ตั้งแต่ครั้งในยุคลพบุรี อย่าง "ปราสาทหินพนมรุ้ง" "ปราสาทหินพิมาย" และ "พระปรางค์สามยอด" ที่นิยมสร้างจากหินทราย อิฐ และศิลาแลง สู่สมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการสร้างสถาปัตยกรรมโดยรับเอาอิทธิพลจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น อาทิ "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ที่มีการนำหินอ่อน จากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี มาก่อสร้างอาคารตามแบบของสถาปัตยกรรมในอิตาลี โดยมีจุดเด่นคือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากวัสดุทองแดง ภายในพระที่นั่งบนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโกตามแบบศิลปะตะวันตกอีกด้วย

หลังจากนั้นหินก็เดินทางเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมมากขึ้น ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคของโลหะ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เหล็กหล่อ (Casting Iron) และ เหล็กกล้า (Steel) ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นในการก่อสร้าง อย่างพวกโครงสร้างของโรงงานอุตสาหกรรม งานสถาปัตยกรรมโลหะที่เกิดขึ้นใหม่ได้ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านระบบโครงสร้าง (structural system) และก่อให้เกิดการวางรากฐานให้แก่งานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเวลาต่อมา หินจึงถูกนำไปใช้ในแง่ของงานอุตสาหกรรมแทน

และเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ศิลปะยุคใหม่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมและศิลปวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นมีศิลปินกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ที่ได้นำ "หินหล่อ" (Cast Stone) ซึ่งเป็นการหล่อคอนกรีตให้มีความคล้ายคลึงกับหินมาสร้างผลงาน โดยพื้นผิวของงานประติมากรรมจะมีความเรียบลื่น อีกทั้งสถาปนิกในกลุ่มลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ นิยมใช้วัสดุอย่างคอนกรีตเสริมเหล็กมาสร้างอาคารรูปร่างต่างๆ อย่างท้าทาย ซึ่งคอนกรีตเสริมเหล็กดังกล่าวจะมีบรรดาเส้นเหล็กกล้าผูกตรึงไว้ภายใน มีการผสมผสานความทนแรงอัด (Compressive strength) ของคอนกรีตเข้ากับความต้านแรงดึงของเหล็กกล้า และปลอดจากอันตรายของการแตกร้าวที่เกิดขึ้นจากความร้อน เพราะคอนกรีตและเหล็กกล้ามีอัตราการขยายตัวเท่ากัน ผลงานที่โดดเด่นน่าสนใจของสถาปนิกกลุ่มนี้ ได้แก่ งานสถาปัตยกรรมในกระบวนแบบของแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบอย่างให้กับสถาปนิกคนอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรปและทวีปอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย

ในปัจจุบันเราจะพบได้ว่างานสถาปัตกรรมยุคใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 "ตึกระฟ้า" กลายเป็นกระแสของการพัฒนานวัตกรรมวัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยีการก่อสร้าง จากอดีตสู่ปัจจุบัน การที่สถาปนิกสามารถออกแบบก่อสร้างตึกระฟ้าที่มีความสูงเป็นสิบเท่าของตึกระฟ้าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้สำเร็จ สืบเนื่องมาจากการมีพัฒนาการทั้งในด้านคอนกรีตเสริมเหล็กและเหล็กกล้าสำหรับทำโครงสร้าง ลิฟต์สำหรับขึ้นที่สูง ระบบเครื่องกล (mechanical system) ที่สลับซับซ้อน รวมทั้งการออกแบบด้านการให้แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และการระบบประปา ไปจนถึงการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับรายละเอียดและวัสดุต่างๆ และกรรมวิธีประกอบวัสดุต่างๆ จำนวนมากเข้าด้วยกัน แต่หินก็ยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมเช่นเดิม


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : www.BuilderNews.in.th