ช่วงน้ำท่วมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ท่อน้ำ ประปา และท่อส้วมในบ้านของผู้อยู่อาศัยทุกท่านจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่จุดเล็กๆ คือ ท่อรั่ว ท่อแตกเพราะแรงดันน้ำ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น น้ำประปามีสี มีกลิ่นตุๆ จนใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้เพราะน้ำท่วมไหลซึมเข้าไปตามรอยแตกของท่อหรือถังเก็บน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน เป็นต้น คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ เราควรจะเดินท่อประปา และท่ออื่นๆ ที่ใช้ในบ้านของเราอย่างไรจึงจะปลอดภัยจากน้ำท่วม และยังสามารถใช้งานได้อย่างเป็นปกติและถูกสุขอนามัยในช่วงน้ำท่วม สำหรับเรื่องนี้ทั้งท่านเจ้าของบ้านที่กำลังจะหาที่ทางปลูกใหม่และท่านที่กำลังจะปรับปรุงแก้ไขบ้านเดิมที่เพิ่งผ่านน้ำท่วมไป คงน้ำไปเป็นแนวทางใช้งานกับบ้านของทุกท่านได้อย่างแน่นอน

1. ระบบการติดตั้ง: แนวทางการเดินท่อทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นท่อประปา หรือท่อโสโครกควรแยกระบบท่อของบ้านแต่ละชั้นออกจากกันเพื่อการใช้งานอย่างอิสระ โดยเฉพาะชั้นล่างตัวท่อไม่ว่าจะเป็น ท่อน้ำ หรือท่อน้ำโสโครกควรเดินรอยสูงจากพื้นประมาณ 40-50 เซ็นต์ ให้เห็นได้ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมทั้งขณะน้ำท่วมและช่วงปกติ นอกจากนี้ควรติดตั้งท่ออากาศในท่อส้วมให้ครบทุกโถส้วมและวางให้ปลายท่อยาวพ้นระดับน้ำท่วมอย่างเพียงพอ เพื่อให้ใช้งานทั้งในภาวะปกติและน้ำท่วมครับ รวมทั้งควรเลือกใช้ท่อ PE แทนท่อ PVC เนื่องจากตัวท่อจะมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อความเสียหายมากกว่า

2. การติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง: การติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งสูงจากระดับพื้นชั้นล่างอย่างน้อย 0.50 เมตรหรือ
เหนือระดับน้ำท่วมขังโดยใช้โครงเหล็กแขวนติดตั้งกับผนัง เพื่อให้ระบบประปาในบ้านยังใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลาขณะน้ำท่วม และยังช่วยลดความเสียหายของอุปกรณ์ต่างๆ อีกด้วย สำหรับตำแหน่งการติดตั้งถังเก็บน้ำในบ้านควรหลีกเลี่ยงการฝังดิน เพื่อป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าสู้ถังเก็บน้ำ ซึ่งจะมีผลต่อสุขอนามัยในการใช้งาน ควรเลือกใช้ถังเก็บน้ำสำเร็จรูปแบบวางตั้งพื้นจะลดความเสียหายได้มากกว่า เนื่องจากระดับฝาถังจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมขังมากกว่าการติดตั้งแบบฝังดิน ระบบบำบัดน้ำเสียควรเลือกใช้ถังบำบัดแบบสำเร็จรูปมากกว่าบ่อเกรอะ บ่อซึมเพราะจะทำงานได้ดีกว่าในช่วงน้ำท่วมขัง โดยตัววัสดุถังจะป้องกันการไหลซึมเข้าของน้ำท่วมขังได้ดีและควรทำขอบคอนกรีต (curb) ป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าฝาถังบำบัดที่อยู่ที่ระดับพื้นอีกด้วย นอกจากนี้ ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมควรพิจารณาติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปสำรองสำหรับส้วนชั้นสองเพื่อใช้งานในช่วงน้ำท่วมเพิ่มเติม วางที่ระดับดินเพื่อให้ใช้งานส้วมดังกล่าวได้อย่างปกติในขณะน้ำท่วม และสำหรับการติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งไว้ที่ระดับชั้นสองเพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์และการใช้งานในช่วงน้ำท่วมได้ ระบบท่อระบายน้ำควรพิจารณาจัดทำพื้นที่เก็บกักน้ำหรือ Sump Area เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำในจุดที่ต่ำที่สุดของท่อระบายน้ำภายในบ้านและเตรียมการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อการสูบน้ำท่วมขังออก และควรติดตั้งประตูน้ำที่จุดเชื่อมต่อท่อระบายน้ำสาธารณะเพื่อควบคุมน้ำไหลย้อนกลับเข้าท่อระบายน้ำภายในและตัวบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาจากสภาพน้ำท่วมขังในบริเวณบ้านได้


Source: BuildTech Buyers' Guide 2012/2013

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :