หลักการเลือกลงทุนใน "กองทุนรวม"
การลงทุนในกองทุนรวมนั้นช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายในการลงทุนได้ ดังที่ได้เขียนประโยชน์ไว้ในบทความที่แล้ว (อ่านบทความ : ลงทุนเอง หรือ ซื้อกองทุนรวม อย่างไหนดีกว่า?) การเลือกกองทุนให้เหมาะสมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสมในระยะยาวนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกันซึ่งจะ มีขั้นตอนดังนี้
1. ประเมินเป้าหมายในการลงทุน (Expected Return : ผลตอบแทนคาดหวัง) และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance)
นักลงทุนจะต้องประเมินเป้าหมายในการลงทุนของตัวเอง โดยอาจจะพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้เงินในอนาคต และระยะเวลาในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนคาดหวังจะต้องมีความเหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ด้วย โดยการลงทุนที่มีผลตอบแทนคาดหวังสูงก็มีแนวโน้มจะมีความผันผวนสูงเช่นกันซึ่งจะเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และมีระยะเวลาในการลงทุนที่นาน
2. เลือกประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class)
โดยอาจจะเริ่มจากการหาข้อมูลว่ามีสินทรัพย์ประเภทใดบ้างที่สามารถลงทุนได้ เช่น (เรียงลำดับตามความเสี่ยงจากมากไปน้อย)
- กองทุนหุ้น (Equity Fund) ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund / REIT) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เช่นอาคารสำนักงานให้เช่า ที่อยู่อาศัยเช่นโรงแรมหรือ serviced apartment โกดังให้เช่า
- กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า โรงไฟฟ้า โครงข่ายโทรคมนคม เป็นต้น
- กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือภาคเอกชน
- กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความมั่นคง เช่นเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี
3. สัดส่วนในการลงทุน (Weight)
นักลงทุนควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเป้าหมายในการลงทุนของแต่ละคน นักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้มาก(เช่นอายุยังน้อย มีเวลาในการลงทุนนาน และยังมีรายได้ในอนาคตจากงานประจำ)ก็ควรที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มากขึ้น และเมื่ออายุมากขึ้นก็ควรที่จะลดสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงลง ยกตัวอย่างเช่นนักลงทุนที่อายุ 25 ปี อาจจะลงทุนในกองทุนหุ้น 80% กองทุนตราสารหนี้ 20% แต่นักลงทุนที่อายุ 55 ปี อาจจะลงทุนในกองทุนหุ้น 30% กองทุนตราสารหนี้ 70% เป็นต้น
4. เลือกกองทุน
เมื่อเลือกประเภทสินทรัพย์และสัดส่วนได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเลือกกองทุน ควรพิจารณาจาก
- ภูมิภาคที่ลงทุน เช่นเป็นกองทุนหุ้นในประเทศหรือต่างประเทศ ลงทุนในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป เป็นต้น
- ผู้จัดการกองทุน ควรมีกระบวนการในการลงทุนที่น่าเชื่อถือ และมีผลงานในอดีตที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม หรือเทียบกับกองทุนอื่นที่ใกล้เคียงกัน
- ค่าธรรมเนียมและค่าบริหารจัดการกองทุน ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวนหรือสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดการกองทุน โดยปกติแล้ว สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยก็จะมีค่าบริหารจัดการต่ำกว่า ทั้งนี้ควรเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนที่ใกล้เคียงกันด้วย - เทอร์ร่า บีเคเค
ตัวอย่าง กองทุนรวมที่มีผลตอบแทนอยู่ในอันดับต้นๆย้อนหลัง 5 ปี
ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA.
บทความโดย เทอร์ร่า บีเคเค จาก ดร.ธนภูมิ ดำรักษ์, CFA. Email : tanapoom@uchicago.edu บทความโดย TerraBKK คลังความรู้สู่การลงทุนเพิ่มความมั่งคั่ง ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก