ดาวน์เกรด KBANK ฝรั่งเทกระจาด
KBANK เผชิญแรงขายกระหน่ำกดราคาหุ้นรูดต่อเนื่อง พบยอดชอร์ตเซลพุ่ง และ NVDR เทขาย หลังจ่อเป็นหุ้นที่ถูกลดน้ำหนักในดัชนี MSCI Thailand มากที่สุดในรอบนี้ ด้านผู้บริหารยอมรับฝรั่งทิ้งหุ้น หลังโบรกฯต่างชาติดาวน์เกรด ด้านนักวิเคราะห์ ตบเท้าปรับลดประมาณการกำไรปีนี้และปีหน้า เหตุยังเจอ NPL กดดัน แต่มองเป็นจังหวะเข้าซื้อ ให้ราคาเป้าหมาย 196-207 บาท
เผชิญแรงขายกดดันมาหลายวันทำการติดต่อกัน สำหรับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ส่งผลให้นักวิเคราะห์เริ่มออกมาเปิดเผยว่ามีปริมาณการ Short sales ในระดับสูงในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.ที่ผ่านมา จากเหตุผลว่า KBANK เป็นหุ้นที่ถูกลดน้ำหนักในดัชนี MSCI Thailand มากที่สุดในรอบนี้
โดยราคาหุ้น KBANK วานนี้ (19 พ.ย.58) ปิดการซื้อขายที่ระดับ 168.50 บาท ลดลง 4.00 บาท หรือ -2.32% มูลค่าการซื้อขาย 2,593.17ล้านบาท ส่วนในรอบ 3 วันทำการ (17-18 พ.ย.58) ราคาปรับลดลงไปประมาณ 3.71% ส่วนในรอบ 1 เดือน ราคาปรับลดลงไป 11.54%
ฝรั่งขาย-ชอร์ตเซลกดราคาหุ้น
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ราคาหุ้น KBANK ยังคงถูกกดดันจากแรงขายผ่าน NVDR เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน รวมถึงปริมาณการ Short sales ในระดับสูงเมื่อวันก่อน คาดเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ KBANK เป็นหุ้นที่ถูกลดน้ำหนักในดัชนี MSCI Thailand มากที่สุดในรอบนี้ ทั้งนี้มองว่าราคาหุ้นจะยังคง Underperform ตลาดต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่ดัชนี MSCI รอบใหม่มีผลบังคับใช้ รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์ สรุปข้อมูลการขายชอร์ตของหุ้นไทย พบว่า KBANK ถูกขายชอร์ตค่อนข้างมากในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย.
โดยวันที่ 17 พ.ย. มีการขายชอร์ต 434,000 หุ้น มูลค่า 75,204,050 บาท คิดเป็น 9.06%
ส่วนวันที่ 18 พ.ย. มีการขายชอร์ต 357,800 หุ้น มูลค่า 61,808,950 บาท คิดเป็น 10.18%
ขณะที่ NVDR ขายสุทธิ KBANK ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.-18 พ.ย. รวมขายสุทธิ 5,997,399 หุ้น
โดยล่าสุด ณ วันที่ 18 พ.ย. NVDR ถือหุ้น KBANK รวม 560,779,574 หุ้น คิดเป็น 23.43% ของหุ้นทั้งหมด ลดลงจากช่วงต้นปีที่ถือ 671,062,263 หุ้น หรือ 28.04%
ยอมรับฝรั่งทิ้งหุ้น ปรับพอร์ตลงทุน รับข่าวโบรกฯต่างชาติลดน้ำหนัก
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า จากการที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น KBANK ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการปรับพอร์ตการลงทุน หลังมีโบรกเกอร์ต่างชาติปรับลดน้ำหนักการลงทุนใน KBANK ลง ซึ่งไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงานแต่อย่างใด โดยพื้นฐานและผลประกอบการธนาคารยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
"ต่างชาติดาวน์เกรดเราก็เป็นเรื่องปกติ และจริงๆ แล้ว KBANK ก็มีต่างชาติถืออยู่เยอะ เมื่อเวลาถูกดาวน์เกรดก็จะถูกเทขายออกมาเป็นปกติ แต่ก็ยังมีนักลงทุนที่ต้องการถือยาว ก็ยังถือต่อไป ส่วนนักลงทุนที่ถือสั้นก็เล็งเห็นว่าขายทำกำไรออกไปเพื่อไปถือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และมีราคาเป้าหมายที่เขากำหนดไว้"นายปรีดี กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันสัดส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารกสิกรไทย แบ่งเป็น นักลงทุนในประเทศ 51% และนักลงทุนต่างชาติ 49% โดยมีไทยเอ็นวีดีอาร์ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 สัดส่วน 23.97%
ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ - ปีหน้า
บล.ฟิลลิป เปิดเผยว่า KBANK ตั้งเป้าที่จะปล่อยสินเชื่อในปีหน้าไม่แตกต่างจากปีนี้ โดยคาดว่าปีหน้าจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ประมาณ 6 – 7% จากปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6% โดย ณ สิ้น 3Q58 KBANK ปล่อยสินเชื่อได้ 3.3% ยังห่างจากเป้าอยู่พอสมควร แต่ไตรมาส 4 ปกติเป็นช่วง High season ของการปล่อยสินเชื่อทำให้ทาง KBANK ยังมั่นใจว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า
ด้วยเศรษฐกิจที่อาจจะยังไม่ฟื้นตัวได้ดีเท่ากับที่คาดไว้เดิม ทาง KBANK จึงได้มีการปรับขึ้นระดับการตั้งสำรองขึ้นอีกเป็น 170 bps โดยคาดว่า NPL ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.8% (NPL 3Q58 อยู่ที่ 2.6%) และคาดว่าในปีหน้า NPL อาจจะสูงขึ้นเป็น 3.5 – 3.6% ทำให้ระดับการตั้งสำรองอาจจะยังคงสูงอยู่ที่ระดับ 170 bps อย่างไรก็ตามทาง KBANK ให้ข้อมูลว่าระดับ NPL ที่จะเพิ่มสูงขึ้นนี้เป็นระดับที่บริหารจัดการได้ และการปรับขึ้นการตั้งสำรองนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มระดับสัดส่วนสำรองต่อ NPL ให้สูงขึ้น มากกว่าที่จะเพิ่มขึ้นเพราะ NPL สูงขึ้น โดย 3Q58 KBANK มีสัดส่วนสำรองต่อ NPL อยู่ 132% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารที่ 115% อยู่พอสมควร ในปีหน้าสินเชื่อที่เติบโตขึ้นอาจจะมาจากสินเชื่อรายใหญ่เป็นหลัก ซึ่งทำให้ผลตอบแทนสินเชื่ออาจจะไม่สูงมากนัก ประกอบกับรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ไม่มาก จากฐานที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ KBANK คาดว่าสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้จะยังสูงอยู่ที่ระดับ 45 – 47% ใกล้เคียงกับปีนี้
ทั้งนี้ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2558 – 59 ของ KBANK ลง 4.1% และ 4.6% ตามลำดับ เหลือ 4.4 หมื่นล้านบาท และ 4.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท และ 4.8 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ แต่ยังคงประมาณการเงินปันผลไว้ที่ 4 บาท/หุ้น และ 4.25 บาท/หุ้น ตามลำดับปรับลดราคาพื้นฐานลงเหลือ 196 บาท อย่างไรก็ตามยังคงมองว่า KBANK เป็นธนาคารที่มีความโดดเด่นในเรื่องโครงสร้างรายได้ และราคาหุ้นก่อนหน้านี้ปรับลดลงมาจนเริ่มมีส่วนต่างจากราคาพื้นฐาน จึงปรับเพิ่มคำแนะนำขึ้นเป็น “ซื้อ” จากเดิมที่แนะนำ “ถือ”
มอง Q4/58 ยังเจอปัญหา NPL พุ่งกดดัน
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยกับสำนักข่าว "อีไฟแนนซ์ไทย" ว่า ราคาหุ้น KBANK ที่ปรับตัวลดลงหลังถูกโบรกเกอร์ต่างชาติปรับลดประมาณการลง อีกทั้งถูกกดดันจากแรงขายผ่าน NVDR ติดต่อกัน จากการถูกลดน้ำหนักในดัชนี MSCI รวมถึงปริมาณการ Short sales ในระดับสูงเมื่อวันก่อน ทั้งนี้มองว่า ปัจจัยที่เป้นตัวกดดัน KBANK คาดว่าน่าจะหมดลงในช่วงใกล้สิ้นเดือนพ.ย. และมองเป็นจังหวะการเข้าซื้อ โดยช่วงวันที่ 30 พ.ย. MSCI จะมีการคำนวณหุ้นในดัชนีฯ อีกครั้ง
นอกจากนี้ในเชิงปัจจัยพื้นฐานมองว่าภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4/ 58 โดยรวมจะยังไม่ดี เนื่องจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งก็ตาม อีกทั้งในไตรมาสที่ 4 มักจะเป็นช่วงฤดูกาลที่บันทึกค่าใช้จ่ายทั่วไป อย่างเช่นการจ่ายโบนัสพนักงาน เป็นต้น
ส่วนผลประกอบการทั้งปี 2558 ของ KBANK มองว่าอยู่จะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท หดตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 13% ขณะที่ไตรมาสที่ 4/58 คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท (วัดจากการนำผลประกอบการทั้ง 9 เดือน ลบ กับคาดการณ์ทั้งปี) ดังนั้นเมื่อเทียบกับไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว ถือว่าหดตัวจากไตรมาสที่ 3 สำหรับปี 2559 มองว่าจะเติบโต 4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี ที่ 41,700 ล้านบาทและยังคงคำแนะนำ ซื้อ ด้วยราคาเป้าหมายที่ 207 บาท
KBANK ตั้งเป้าสินเชื่อปี 59 โต 6-7% บนสมมติฐานจีดีพีโต 3%
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อ 6-7% บนสมมติฐานจีดีพีเติบโต 3% จากปีนี้ที่คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 6% เช่นเดียวกัน โดยการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 20 โครงการ มูลค่ารวม 1.77 ล้านล้านบาท ขณะที่ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลตั้งงบประมาณรายจ่าย 5.44 แสนล้านบาท สูงกว่าปี 2557 ที่ 20.7% รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
สำหรับเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในกรอบจำกัด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในปีหน้า อย่างไรก็ตามหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2559 จะกลับมาขยายตัวได้ 2% ขณะที่ปีนี้ติดลบ 5%
รับ NPL ปีหน้าขยับขึ้นแตะ 3.5-3.6% จากสิ้นปีนี้ที่ 2.8%
นายปรีดีกล่าวว่า สินเชื่อในปีหน้าแบ่งเป็นการเติบโตสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ 4-6% โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายคือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน รับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้าง กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูป สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 5-7% โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และจะรักษาความเป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบกับจะคัดเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) อยู่ที่ 45-47% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL) ที่ระดับ 3.5-3.6% จากสิ้นปีนี้ที่ 2.8% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจทำให้ธนาคารปรับการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญต่อสินเชื่อรวม (Coverage Ratio) ขึ้นมาอยู่ที่ 170% ในปีนี้จาก 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 150% โดยธนาคารคาดว่าปีหน้าก็จะรักษาในระดับ 170% เช่นเดียวกัน
"NPL เราขยับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อย แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะเรามีการปรับเกณฑ์การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น และเข้าไปดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด" นายปรีดี กล่าว??สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีหน้าธนาคารตั้งเป้าไม่เกิน 10% ทั้งนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-3.7% จาก 9 เดือนอยู่ที่ 3.66% และปีหน้าคาดอยู่ที่ 3.4-3.6% ซึ่งการที่ NIM ลดลง เป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีหน้าธนาคารตั้งเป้าไม่เกิน 10% ทั้งนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) สิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-3.7% จาก 9 เดือนอยู่ที่ 3.66% และปีหน้าคาดอยู่ที่ 3.4-3.6% ซึ่งการที่ NIM ลดลง เป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
งัด 4 กลยุทธ์ ฟื้นธุรกิจ
ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ธนาคารกสิกรไทยได้มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก เพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ ดังนี้
1. การเป็นธนาคารหลักของลูกค้า (Customer’s Main Bank) ในทุกกลุ่มลูกค้า และมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
2. การเป็น “AEC+3 Bank” เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจจากการเกิด AEC และโอกาสทางธุรกิจกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
3. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อครองความเป็นผู้นำการให้บริการดิจิทัล แบงกิ้ง (Digital Banking) และยกระดับความสามารถของธนาคาร (Digital Transformation)
และ 4. การตอกย้ำเรื่องบริการที่เป็นเลิศตามแนวคิด “บริการทุกระดับประทับใจ” และการเสริมสร้างตำแหน่งทางการตลาดนี้ให้แข็งแกร่ง
นายธีรนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยบวก ในปี 2559 จากการที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการประมูลและเริ่มลงทุน โครงการต่าง ๆ รวมเป็นเม็ดเงินราว 3 แสนล้านบาท จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทั้งภายในประเทศและที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน (ASEAN Connectivity) ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังการเปิด AEC สมบูรณ์ ส่งผลให้ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2559 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ขนส่ง ขณะที่ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมจะมีแนวโน้มที่ดีเช่นกัน จากการขยายการลงทุนของผู้ได้รับใบอนุญาต 4G รวมทั้งความต้องการบริการด้านข้อมูล (Non-Voice) ที่เพิ่มขึ้น ตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลและความต้องการใช้งานเพื่อสนับสนุนธุรกิจออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ธุรกิจการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจะมีแนวโน้มที่ดี จากการจัดสรรกำลังการผลิตไปสู่ตลาดศักยภาพในต่างประเทศ เพื่อทดแทนยอดขายในประเทศที่อาจยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแรง ซึ่งในปี 2559 ธนาคารกสิกรไทยมีความพร้อมทั้งการให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ คำปรึกษา นวัตกรรมบริการ และเครือข่ายการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทรงประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.efinancethai.com จากหัวข้อ ดาวน์เกรด KBANK ฝรั่งเทกระจาด
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.