ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเชนร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหารเป็นผลให้ธุรกิจ Cold Chain Management (การจัดการห่วงโซ่ความเย็น) เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โดย Cold Chain Management ซึ่งเป็นกระบวนการบริหารสินค้าคงคลังและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่มีเทคโนโลยีการันตีคุณภาพในการส่งมอบ น่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจด้านอาหารดังกล่าวให้มีการไหลลื่นของสินค้าและวัตถุดิบ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานของธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจ Cold Chain Management จะมีมูลค่าตลาดแตะระดับ 10,000 ล้านบาท ในปี 2561จากที่มีมูลค่า 6,800 ล้านบาท ในปี 2558

ปัจจุบันธุรกิจเชนร้านอาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหาร อาทิ ธุรกิจอาหารญี่ปุ่น เครื่องดื่ม เบเกอรี่ มีการเติบโตเป็นอย่างมากตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และประชากร ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคให้มีความทันสมัยและเร่งรีบมากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจอาหารดังกล่าวได้มีขยายสาขาและกระจายตัวไปยังพื้นที่และกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหาร (เฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ) ณ เดือนตุลาคม 2558 มีจำนวนสาขาสูงถึง 13,843 สาขา เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 23.9 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2555 ซึ่งมีจำนวน 11,174 สาขา ขณะที่ธุรกิจเชนร้านอาหารและแฟรนไชน์ร้านอาหารก็มีการเปิดสาขาใหม่ๆ ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นตามการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การส่งมอบสินค้าและวัตถุดิบเพื่อคงความเป็นมาตรฐานอย่างทั่วถึงไปยังสาขาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในยุคนี้ ทั้งนี้ Cold Chain Management (การจัดการห่วงโซ่ความเย็น) ซึ่งเป็นกระบวนการบริหารสินค้าคงคลังและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่มีเทคโนโลยีการันตีคุณภาพในการส่งมอบ น่าจะสามารถสนับสนุนให้ธุรกิจด้านอาหารมีการไหลลื่นของสินค้าและวัตถุดิบ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

นอกจากนี้ Cold Chain Management ยังเป็นธุรกิจที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งจะสามารถสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจขนส่งสินค้าโดยรวมในปัจจุบัน

สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ Cold Chain Management

ธุรกิจ Cold Chain Management นับเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ แต่ยังคงมีขนาดที่เล็กเมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั้งหมด เนื่องจากเป็นธุรกิจบริการที่มีการนำเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนเข้ามาใช้ในการดำเนินการและมีกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างที่จะจำเพาะ อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางของธุรกิจอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมผู้ว่าจ้างหลักของบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ก็คงทำให้ มูลค่าของธุรกิจ Cold Chain Management มีศักยภาพในการเติบโตด้วยเช่นกัน

- ธุรกิจเชนร้านอาหาร แฟรนไชส์ร้านอาหารมีการแข่งขันอย่างรุนแรง

การเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นรายใหม่ ทำให้ธุรกิจเชนร้านอาหารและแฟรนไชส์ร้านอาหารมุ่งเน้นการแข่งขันด้านการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ทั้งการขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าและการจัดโปรโมชั่นทางด้านราคาต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของธุรกิจ Cold Chain Management ที่ถือว่ามีจุดเด่นในการลดต้นทุนทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้

- ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหารเติบโตได้ดีตามการขยายสาขาไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

ภาวะของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอาหารในปัจจุบันเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญอย่างจังหวัดหัวเมืองหลักและจังหวัดการค้าชายแดนสำคัญ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเพื่อแสวงหาโอกาสจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2559 ที่จะถึงนี้

จากทิศทางของธุรกิจอาหารที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง น่าจะส่งผลให้ตลาดของ ธุรกิจบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ มีโอกาสเติบโตตาม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดธุรกิจบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิในปี 2558 จะมีมูลค่าประมาณ 56,500 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556-2558 สำหรับเฉพาะมูลค่าของธุรกิจ Cold Chain Management มีการเติบโตนับตั้งแต่ปี 2556-2558 เฉลี่ยร้อยละ 10.1 ต่อปี โดยคาดว่า ในปี 2558 ธุรกิจ Cold Chain Management จะมีมูลค่าประมาณ 6,800 ล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.0 ของมูลค่าตลาดบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิทั้งหมด ในขณะตลาดส่วนที่เหลือเป็นการดำเนินการในลักษณะการบริการดั้งเดิม กล่าวคือ บริการรับฝากและรับจ้างขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิและการขนส่งสินค้าที่บริษัทตนเองเป็นผู้ผลิต

ดังนั้น ด้วยมูลค่าตลาดในปัจจุบันของ Cold Chain Management จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เล่นในตลาดยังคงมีไม่มาก อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่หรือเป็นบริษัทที่มีการร่วมทุนกับต่างประเทศ โดยแบ่งเป็น

  • บริษัทโลจิสติกส์ที่เป็นบริษัทในเครือตั้งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของบริษัทแม่ ในการบริหารจัดการกระบวนการขนส่งสินค้าไปยังสาขาหรือลูกค้า ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26 ของตลาด Cold Chain Management ทั้งหมด
  • บริษัทโลจิสติกส์เพื่อให้บริการบริษัทผู้ผลิตอื่น โดยมีการวางแผนโซลูชั่นที่เหมาะสมแก่ลูกค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 74 ของตลาด Cold Chain Management ทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท

ดังนั้น จากขนาดตลาดที่ยังเล็กอยู่ของธุรกิจ Cold Chain Management จึงคาดว่า น่าจะเป็นธุรกิจศักยภาพที่จะสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดธุรกิจบริการจัดเก็บและขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิได้อีกมาก ประกอบ เมื่อพิจารณาด้านโครงสร้างของตลาดยังพบว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ให้บริการบริษัทผู้ผลิตอื่นมากกว่าจะเป็นผู้เล่นที่เป็นบริษัทในเครือที่ให้บริการบริษัทแม่ ดังนั้น จึงน่าจะส่งผลให้ผู้ที่สนใจที่จะก้าวเข้ามาในตลาด Cold Chain Management ไม่ต้องเผชิญการกีดกันทางธุรกิจนัก

นอกจากนี้ Cold Chain Management ยังมีโอกาสจากแรงดึงดูดที่จะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารหันมาให้ความสนใจใช้บริการมากยิ่งขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากลูกค้าไม่ต้องลงทุนในการขนส่งสินค้าเอง และด้วยระบบการบริหารจัดการที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยนั้น จะสามารถเป็นการลดต้นทุนในการดำเนินการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของผู้รับบริการได้อีกด้วย

Cold Chain Management ทางเลือกในการสร้างคุณค่าทางธุรกิจให้แก่ผู้ใช้บริการ

นอกจากโอกาสจากการเติบโตของธุรกิจอาหารที่จะส่งผลบวกต่อธุรกิจ Cold Chain Management แล้ว เมื่อพิจารณาในแง่จุดเด่นของ Cold Chain Management ซึ่งมีความแตกต่างจากธุรกิจบริการรับฝากและรับจ้างขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบดั้งเดิม ก็จะพบว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตได้อีกมาก กล่าวคือ Cold Chain Management นับเป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางธุรกิจของผู้ใช้บริการได้ โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาระดับพรีเมี่ยม อาทิ ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านกาแฟและเบเกอรี่ ซึ่งต้องมีการรักษารสชาติและคุณภาพอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด จึงต้องมีการวางแผนเส้นทางและช่วงเวลา รวมถึงความถี่บ่อยในการกระจายสินค้า เพื่อเป็นการลดการสูญเสียของสินค้าและคงมาตรฐานในการให้บริการของธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการ Cold Chain Management สามารถสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจของลูกค้าจนได้รับความพึงพอใจ ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการ Cold Chain Management เอง อันจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในที่สุด

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย