ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การส่งออกในเดือนต.ค. 2558 หดตัวลงมากกว่าที่คาด ที่ร้อยละ 8.11 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่ลึกที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี (แย่กว่าที่ตลาดคาดที่ติดลบร้อยละ 6.95 YoY และต่ำลงจากที่ติดลบร้อยละ 5.51 YoY ในเดือนก.ย. 2558) ขณะที่ หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำที่เติบโตถึงร้อยละ 469.9 (YoY) แล้ว มูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค. 2558 จะติดลบถึงร้อยละ 9.6 (YoY)

ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นับจากต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 หดตัวลงถึงร้อยละ 5.32 (YoY) ซึ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่ว่า มูลการส่งออกในภาพรวมของไทยในปี 2558 มีโอกาสที่จะติดลบมากกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ไว้

การส่งออกที่ติดลบค่อนข้างลึกในเดือนต.ค. 2558 เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ
  1. การเปรียบเทียบกับฐานมูลค่าส่งออกที่สูงในเดือนต.ค. 2557 ซึ่งทะลุเกินระดับ 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกไปตลาดหลัก ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน กลุ่มอาเซียนเดิม 5 ประเทศ และอินเดีย ในเดือนต.ค. 2558 หดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน ขณะที่ การส่งออกไปกลุ่ม CLMV ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน
  2. ราคาสินค้าส่งออกในเดือนต.ค. 2558 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในช่วงระหว่างเดือน
  3. การฟื้นตัวของสินค้าส่งออกรายการสำคัญ ยังไม่เป็นภาพที่ต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่นับรวมทองคำ ขณะที่ เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ และทองคำ ที่ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค. 2558 นั้น ผลส่วนหนึ่งคงเป็นอานิสงส์มาจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน
แนวโน้มการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2558 และภาพรวมในปี 2558

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยยังคงไม่มีภาพที่ชัดเจนมากนักในขณะนี้ ขณะที่การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็น่าจะอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2558 นี้ มีความเสี่ยงที่จะติดลบมากกว่าร้อยละ 5.0 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการไว้สำหรับกรณีพื้นฐาน

ทั้งนี้ มองว่า มูลค่าการส่งออกระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2558 จะยังคงเผชิญแรงฉุดจากผลทางด้านราคาสินค้าส่งออกที่น่าจะยังทรงตัวในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน (โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ราคาเชื่อมโยงกับราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์โลหะในตลาดโลก) และแม้ว่า ราคาส่งออกของสินค้าเกษตรและอาหาร บางประเภท อาจจะเริ่มทรงตัวได้บ้าง เพราะหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเผชิญกับภาวะภัยแล้ง แต่ก็คาดว่า ปริมาณการส่งออกก็อาจจะยังไม่เร่งตัวขึ้นมากเพียงพอที่จะชดเชยแรงฉุดของภาพรวมได้ นอกจากนี้ สัญญาณทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ ของไทย โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และกลุ่ม ASEAN เดิม 5 ประเทศ ที่อาจจะยังไม่กลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ ก็จะยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้สัญญาณเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกในหลายๆ หมวด จะต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงปีข้างหน้า

สรุปภาพรวมการส่งออกของไทยในเดือนต.ค. และ 10 เดือนแรกของปี 2558

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย