ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • โค้งสุดท้ายของปี 2558 ธุรกิจบริการที่พักใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นทำการตลาดกระตุ้นนักท่องเที่ยว โดยผลสำรวจจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 รูปแบบการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 95 เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ในจำนวนนี้เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน 2-4 วัน ถึงสัดส่วนร้อยละ 92 จึงน่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจบริการที่พักอย่างคึกคัก
  • ระหว่างท่องเที่ยว คนกรุงเทพฯยังเลือกใช้บริการร้านอาหารในท้องถิ่นในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 59 โดยให้ความสำคัญกับการสัมผัสบรรยากาศท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถในการให้บริการของร้านอาหารในท้องถิ่นจำกัด ซึ่งสะท้อนโอกาสสำหรับร้านอาหารในโรงแรมที่เป็นทางเลือกมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ ที่นอกจากจะได้อานิสงส์จากการรับประทานอาหารจากนักท่องเที่ยวที่แวะพักซื้อของแล้ว ยังสามารถเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ท่องเที่ยวในเขตเมือง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คนกรุงเทพฯเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่จะสร้างความคึกคักให้ตลาดไทยเที่ยวไทย และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดยังธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหารรวมกัน

ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดยังธุรกิจต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ที่พัก ร้านขายสินค้าที่ระลึก บริการด้านการเดินทาง เป็นต้น โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเม็ดเงินไปสู่บริการด้านที่พักร้อยละ 24 ของเม็ดเงินการท่องเที่ยวโดยรวม และมีสัดส่วนการใช้จ่ายเม็ดเงินไปสู่บริการอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 21 ของเม็ดเงินการท่องเที่ยวโดยรวม จึงกล่าวได้ว่า ธุรกิจบริการที่พัก และร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ระหว่างวันที่ 15 กันยายน-2 ตุลาคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนกรุงเทพฯหรือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาศึกษาหรือทำงานในกรุงเทพฯ 400 คน ครอบคลุมอาชีพหลัก อายุ และรายได้ เพื่อสะท้อนพฤติกรรมการท่องเที่ยว และเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มบริการที่พักและร้านอาหารในการปรับกลยุทธ์ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 นี้

โค้งสุดท้ายปี 2558 ช่วงเวลาทองของธุรกิจบริการที่พัก...เน้นทำการตลาดกระตุ้นนักท่องเที่ยว

ในระยะที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้ามาประกอบธุรกิจบริการที่พักในตลาดอย่างต่อเนื่องครอบคลุมตั้งแต่โรงแรม รีสอร์ท และโฮมสเตย์ กระจุกตัวในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ รวมถึงธุรกิจบริการที่พักบางส่วนกระจายธุรกิจไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองเพื่อกำหนดตำแหน่งการแข่งขันในการเป็นธุรกิจบริการที่พักรายแรกๆที่ให้บริการในพื้นที่นั้นๆ และหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธุรกิจบริการที่พักในแหล่งท่องเที่ยวหลัก

โดยจำนวนที่พักที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการที่พักมีแนวโน้มแข่งขันกันอย่างรุนแรง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ธุรกิจบริการที่พักส่วนใหญ่จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้บริการในรูปแบบการขายคูปองล่วงหน้าในราคาส่วนลดผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งงานส่งเสริมการท่องเที่ยว เว็บไซต์ของผู้ประกอบการ เว็บไชต์ที่เป็นตัวกลาง และแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มที่วางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้า

สำหรับ โค้งสุดท้ายของปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของตลาดไทยเที่ยวไทย ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของธุรกิจบริการที่พักในการให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งธุรกิจบริการที่พักใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นทำการตลาดกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้ายาวนานนัก โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาโดยตรงเพื่อรักษาระดับราคาไว้ ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับบัตรเครดิต การดึงดูดให้นักท่องเที่ยวใช้บริการที่พักนานขึ้นโดยให้ส่วนลดในวันพักถัดไปภายใต้เงื่อนไขการกำหนดจำนวนวันพักขั้นต่ำ การแถมบริการ เช่น อาหารเช้า สปา เป็นต้น

โดยผลสำรวจจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า รูปแบบการท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่สัดส่วนร้อยละ 95 เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ในจำนวนนี้เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน 2-4 วัน ถึงสัดส่วนร้อยละ 92 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเลือกท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 59 โดยส่วนใหญ่มีแผนท่องเที่ยวภาคใต้และภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ จึงกล่าวได้ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจบริการที่พักอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ ระหว่างท่องเที่ยว กลุ่มตัวอย่างใช้บริการรีสอร์ทในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 65 ซึ่งเป็นผลจากการให้ความสำคัญกับการเลือกที่พักที่มีสถานที่พักผ่อน เป็นส่วนตัว และมีกิจกรรมหลากหลายเป็นหลัก โดยฟรี Wi-Fi เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญสูงสุด สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา รวมถึงนิยมแชร์ข้อมูลและรูปภาพระหว่างท่องเที่ยวสู่สังคมออนไลน์

ผลสำรวจยังพบว่า พฤติกรรมการใช้บริการที่พักของกลุ่มตัวอย่างในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัวบางส่วนเลือกพักบ้านญาติหรือบ้านเพื่อน โดยกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ มีรูปแบบการเดินทางกลับภูมิลำเนา เยี่ยมญาติหรือเพื่อน และท่องเที่ยวในทริปเดียวกัน โดยจะใช้บริการที่พักก็ต่อเมื่อท่องเที่ยวค้างคืนยังต่างจังหวัดใกล้เคียงบ้านญาติหรือบ้านเพื่อน จึงอาจก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจที่พักจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่มากนัก

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับเพื่อนฝูง ซึ่งสมาชิกมีอายุ พฤติกรรม และความชอบใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอายุ 15-30 ปี ให้ความสนใจที่พักประเภทโฮมสเตย์สัดส่วนสูงกว่าอายุอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับการเปิดประสบการณ์ที่พักใหม่ๆที่ราคาไม่สูงมากนักในกลุ่มคนรุ่นใหม่

ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กล่าวโดยสรุป การท่องเที่ยวของกลุ่มตัวอย่างในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวแบบค้างคืน และยังกระจุกตัวในช่วงวันหยุดยาว ส่งผลให้ในช่วงวันหยุดยาวมีนักท่องเที่ยวใช้บริการที่พักจำนวนมาก ในขณะที่ ธุรกิจบริการที่พักในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งเผชิญภาวะห้องพักว่างในวันธรรมดา ประกอบกับทางเลือกในการพักบ้านญาติหรือบ้านเพื่อน รวมถึงแนวโน้มการให้ความสนใจที่พักกลุ่มที่ราคาไม่สูงมากนักของนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม เป็นความท้าทายของธุรกิจบริการที่พักในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 นี้

ทั้งนี้ อัตราการเข้าพักในเดือนกันยายนปี 2558 ที่อยู่ที่ร้อยละ 52.3 เติบโตจากเดือนกันยายนปี 2557 ที่อยู่ที่ร้อยละ 51.0 นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจบริการที่พักของไทยในช่วงปลายปี ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2558 ธุรกิจบริการที่พักควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราการเข้าพักในวันธรรมดาเพิ่มเติม ด้วยการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการตัดสินใจใช้บริการในวันธรรมดาจากนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้ายาวนานนักที่มีความอ่อนไหวต่อการจัดโปรโมชั่น รวมถึงธุรกิจบริการที่พักยังสามารถเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มองค์กรที่นิยมจัดกิจกรรมในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี เช่น การจัดทริป Outing พักผ่อนประจำปี การฝึกอบรมพนักงาน การจัดกิจกรรมTeam Building เป็นต้น ที่จะส่งผลให้อัตราการเข้าพักในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เติบโตขึ้น

แม้มีร้านอาหารหลายรูปแบบให้บริการ แต่คนกรุงเทพฯยังนิยมร้านอาหารท้องถิ่น

โดยทั่วไปแล้ว ร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยวหลักจะเป็นการประกอบธุรกิจในรูปแบบภัตตาคาร ห้องอาหาร และสวนอาหารในท้องถิ่น รวมถึงร้านอาหารในโรงแรม แต่ในระยะที่ผ่านมา การขยายธุรกิจของสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากขึ้น แม้จะมีร้านอาหารหลากหลายรูปแบบให้บริการในแหล่งท่องเที่ยว แต่ผลสำรวจ พบว่า ระหว่างท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 นี้ กลุ่มตัวอย่างยังเลือกใช้บริการร้านอาหารกลุ่มภัตตาคาร ห้องอาหาร และสวนอาหารในท้องถิ่นในสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 59 สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการสัมผัสบรรยากาศท้องถิ่น สอดคล้องกับภาพของนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการร้านอาหารในท้องถิ่นจำนวนมาก ในขณะที่ ขีดความสามารถในการให้บริการของร้านอาหารในท้องถิ่นเป็นไปอย่างจำกัด แม้ว่าผู้ประกอบร้านอาหารในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงบางรายจะขยายสาขาร้านอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้วก็ตาม ส่งผลให้ร้านอาหารในท้องถิ่นสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้บางส่วนไป

โดย กลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญกับราคาอาหารสูงสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวที่กลุ่มตัวอย่างใช้จ่ายเม็ดเงินสะพัดสู่ร้านอาหารในแหล่งท่องเที่ยว แต่จากการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเฉลี่ย 2-4 วันที่มีการรับประทานอาหารหลายมื้อ ประกอบกับภาพลักษณ์ของร้านอาหารในท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวหลักบางรายในสายตาของนักท่องเที่ยวยังไม่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเอาเปรียบนักท่องเที่ยวด้วยการตั้งราคาอาหารในระดับสูง เป็นเหตุให้กลุ่มตัวอย่างระมัดระวังการใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยว และอ่อนไหวทางด้านราคาในการรับประทานอาหารระหว่างท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทั้งนี้ ข้อจำกัดในการให้บริการของร้านอาหารในท้องถิ่น สะท้อนถึงโอกาสสำหรับร้านอาหารในท้องถิ่นรายใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบธุรกิจ หรือยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งอาจกลายเป็นตัวเลือกในการให้บริการนักท่องเที่ยว อีกทั้งสะท้อนโอกาสสำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ รวมถึงร้านอาหารในโรงแรม โดยร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ที่ขยายไปยังแหล่งท่องเที่ยวหลัก นอกจากจะได้อานิสงส์จากการรับประทานอาหารจากนักท่องเที่ยวที่แวะพักซื้อของระหว่างท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่ท่องเที่ยวในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มท่องเที่ยวพร้อมกับเพื่อนฝูง ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 30 ปี ที่กำลังซื้อไม่สูงนัก ที่นิยมใช้บริการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอลล์รองจากการใช้บริการร้านอาหารในท้องถิ่น โดยชูจุดแข็งด้านการกำหนดราคาอาหารชัดเจน และมาตรฐานอาหารและบริการ

ในขณะที่ ธุรกิจโรงแรมก็ปรับกลยุทธ์กระตุ้นการใช้บริการร้านอาหารในโรงแรมด้วยการขายแพ็กเกจห้องพักคู่การทำกิจกรรมต่างๆ และการรับประทานอาหาร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวโน้มการใช้บริการร้านอาหารในโรงแรมที่ลดลงของนักท่องเที่ยว โดยไตรมาสที่ 4 ปี 2558 นี้ ร้านอาหารในโรงแรมสามารถขายแพ็กเกจห้องพักคู่การทำกิจกรรมต่างๆและการรับประทานอาหารมื้อเช้าหรือมื้อเย็น ซึ่งเป็นมื้ออาหารที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมรับประทานที่ร้านอาหารในโรงแรม โดยนำเสนอจุดเด่นด้านความหลากหลายของอาหาร ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัวที่สมาชิกมีอายุ พฤติกรรม และความชอบแตกต่างกัน รวมถึงนำเสนอจุดเด่นด้านความสะดวกสบายในการรับประทานอาหาร ที่สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งนิยมใช้บริการร้านอาหารในโรงแรมรองจากการใช้บริการร้านอาหารในท้องถิ่น

ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 คนกรุงเทพฯเที่ยวไทย เม็ดเงินสะพัดโรงแรมและร้านอาหาร 18,000 ล้านบาท

ผลสำรวจ พบว่า แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เพิ่มงบประมาณใช้บริการที่พักและรับประทานอาหาร แต่ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัวบางส่วนปรับพฤติกรรม โดยระมัดระวังการใช้จ่ายและลดงบประมาณใช้บริการที่พักและรับประทานอาหารสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ลง ประกอบกับกลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัวบางส่วนมีรูปแบบการเดินทางกลับภูมิลำเนา เยี่ยมญาติหรือเพื่อน และท่องเที่ยวในทริปเดียวกัน จึงเลือกพักบ้านญาติหรือบ้านเพื่อนแทนการใช้บริการที่พักประเภทโรงแรมและรีสอร์ท

สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับเพื่อนฝูงส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นกลุ่มอายุ 15-30 ปี ที่ยังไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงเทียบเท่ากลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัว ส่วนใหญ่ไม่ลดงบประมาณใช้บริการที่พักและรับประทานอาหารลง แต่กลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับเพื่อนฝูงส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก จึงมีงบประมาณใช้บริการที่พักและรับประทานอาหารโดยเฉลี่ยไม่สูงไปกว่าคนกลุ่มตัวอย่างที่ท่องเที่ยวพร้อมกับครอบครัว

สถานการณ์ดังกล่าว เป็นความท้าทายของธุรกิจบริการที่พักและธุรกิจร้านอาหารที่ต้องปรับกลยุทธ์การแข่งขันอย่างเข้มข้นเพื่อคว้าโอกาสในช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวโค้งสุดท้ายของปี 2558 นี้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คนกรุงเทพฯเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ จึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่จะสร้างความคึกคักให้ตลาดไทยเที่ยวไทย และก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดยังธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหารรวมกัน 18,000 ล้านบาท เติบโตจากในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ร้อยละ 7 โดยแบ่งเป็นเม็ดเงินธุรกิจโรงแรม 9,600 ล้านบาท เติบโตจากในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ร้อยละ 7 และเม็ดเงินธุรกิจร้านอาหาร 8,400 ล้านบาท เติบโตจากในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ร้อยละ 8

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย