ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • การที่ไทยถูกปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศจากองค์กรการบินหลายองค์กรอย่างต่อเนื่อง อาจนำมาสู่การจำกัดการปฏิบัติการบินของสายการบินของไทยไปยังจุดหมายปลายทางหลายแห่งทั่วโลก
  • ผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในปี 2558 คงจำกัด ทว่า ผลกระทบต่อสายการบินแต่ละรายคงแตกต่างกัน
  • มองไปยังอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงมีไม่มากนัก หากแต่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจที่ให้บริการแก่สายการบิน

วานนี้ (1 ธ.ค. 2558) องค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ได้ทำการปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทย จากระดับปกติ (Category 1) เป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Category 2) แม้ว่าการลดอันดับดังกล่าวจะไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายและมีผลกระทบโดยตรงที่จำกัดต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย ทว่า การที่ไทยถูกปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศจาก 2 องค์กรกำกับดูแลด้านการบินที่สำคัญ อาจนำไปสู่ข้อจำกัดการปฏิบัติการบินของอากาศยานสัญชาติไทยในระยะข้างหน้า

มาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทยเริ่มเป็นประเด็นมาตั้งแต่ต้นปี 2558 เมื่อองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) ระบุว่า การกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของไทยมีความบกพร่องและตัดสินใจขึ้น “ธงแดง” กับไทยในเดือนมิถุนายน 2558 ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าว นำไปสู่การปรับโครงสร้างการกำกับดูแลการบินพลเรือนของทางการไทย โดยยุบกรมการบินพลเรือนและจัดตั้งสององค์กรใหม่ กล่าวคือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกรมท่าอากาศยาน เพื่อแยกอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบินและอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการท่าอากาศยานออกจากกัน โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ ICAO กำหนด

อย่างไรก็ดี การให้ใบแดงของ ICAO นำไปสู่การเข้าประเมินมาตรฐานความปลอดภัยฯ ของไทย โดยองค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (The European Aviation Safety Agency หรือ EASA) ซึ่งการประเมินจะยึดตามหลักมาตรฐานของ ICAO ทว่า ความแตกต่างระหว่างสององค์กรนี้กับ ICAO คือ ICAO ประเมินเพื่อชี้แนะข้อบกพร่อง แต่ไม่มีอำนาจในการบังคับหรือลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ขณะที่อีกสององค์กรกำกับดูแลด้านการบินดังกล่าว มีอำนาจในการจำกัดการปฏิบัติการบินสายการบินที่ไม่ได้มาตรฐานและ/หรือสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยฯ ในการทำการบินมายังจุดหมายปลายทางภายในประเทศของตน

การที่ FAA ลดอันดับของไทยเป็น Category 2 นั้น สายการบินที่จดทะเบียนในไทยยังสามารถปฏิบัติการบินได้เช่นเดิม แต่ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินหรือจุดบินใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยคงจำกัด เนื่องจากปัจจุบันไม่มีสายการบินของไทยปฏิบัติการบินไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ก็คงจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญอาจมีอิทธิพลต่อผลการประเมินของ EASA ซึ่งกำลังจะประกาศในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าการประเมินของทั้ง FAA และ EASA ใช้มาตรฐานของ ICAO เป็นหลัก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากที่ EASA อาจจะขึ้นบัญชีดำสายการบินของไทย ที่ปฏิบัติการบินไปยุโรป โดยมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องเดียวกัน ซึ่งไทยยังไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ หาก EASA ขึ้นบัญชีดำสายการบินของไทยดังที่คาด จะทำให้สายการบินของไทยไม่สามารถปฏิบัติการบินไปยังจุดหมายปลายทางในยุโรปได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยซึ่งมีเส้นทางการบินสู่ยุโรปหลากหลายเส้นทาง

ที่สำคัญ หากไทยถูกปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศโดย 3 องค์กรการบินหลักของโลก ก็อาจจะนำไปสู่การจำกัดปฏิบัติการบินของอากาศยานของไทยโดยประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเป็นรายสายการบินของ EASA อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเครือข่ายการบินในปัจจุบันที่มีการบินโดยใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน (Code share flight) เนื่องจากไทยถือเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสายการบินของไทยเองก็ปฏิบัติการบินในฐานะส่วนหนึ่งของเครือข่ายพันธมิตรการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การถูกปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศที่เกิดขึ้น นอกจากส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและสายการบินจดทะเบียนในประเทศแล้ว การที่ไทยยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยฯ ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์ ก็คงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินในภาพรวมและผลการดำเนินงานของแต่ละสายการบินในหลากหลายมิติ มากน้อยแตกต่างกันตามแต่ละลักษณะการประกอบธุรกิจของแต่ละสายการบิน เช่น

  • ทุกสายการบินอาจต้องเผชิญกับต้นทุนค่าดำเนินงานที่สูงขึ้นจากค่าเบี้ยประกันภัยเครื่องบินที่แปรผกผันกับมาตรฐานความปลอดภัย
  • สายการบินที่ใช้วิธีการเช่า (lease) เครื่องบินเพื่อปฏิบัติการบิน อาจต้องเผชิญข้อจำกัดที่มากขึ้นจากผู้ให้เช่า (leaser) ซึ่งอาจหมายรวมถึงเงื่อนไขทางด้านการเงินด้วย
  • การสูญเสียเส้นทางการบินเป็นการถาวรในบางเส้นทาง ในกรณีที่สายการบินอื่นได้โควต้าการบินของเส้นทางนั้นๆ ไปแทน
  • การสูญเสียรายได้จากการถูกจำกัดการปฏิบัติการบินไปยังบางจุดหมายปลายทาง รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในอนาคต เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเปิดหรือขยายเส้นทางบินใหม่ๆ อีกทั้งยังเปิดทางให้สายการบินต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดการให้บริการในเส้นทางที่เชื่อมโยงกับไทย
  • ค่าใช้จ่ายในการเช่าที่จอดเครื่องบินที่อาจไม่ได้ใช้ปฏิบัติการบิน เนื่องจากตารางการบินที่ลดลง

ทั้งนี้ สายการบินที่เน้นตลาดเส้นทางการบินภายในประเทศเป็นหลัก น่าจะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดกว่าสายการบินที่มีสัดส่วนรายได้จากการปฏิบัติการบินในเส้นทางระหว่างประเทศค่อนข้างสูง ทว่า ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในธุรกิจการบิน การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจะกดความสามารถในการทำกำไรให้ต่ำลงไปอีก นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าว อาจทำให้แผนการปรับโครงสร้างสายการบินของไทยบางสายการบิน อาจต้องล่าช้าออกไป

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของไทยนั้น ที่ผ่านมาสะท้อนภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัว อีกทั้งการเข้ามาแข่งขันในตลาดเส้นทางการบินภายในประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การเดินทางทางอากาศไปยังจุดหมายปลายทางภายในประเทศเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เหตุการณ์ปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทยในช่วงปลายปี 2558 จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของมูลค่าตลาดของธุรกิจขนส่งทางอากาศ ที่จะเติบโตราวร้อยละ 11.7-13.3 อย่างไรก็ดี อาจต้องจับตาผลกระทบในปีหน้าที่อาจจะขยายวงกว้าง รวมถึงความพยายามของทางการในการแก้ไขข้อบกพร่องด้านมาตรฐานความปลอดภัย ที่หากดำเนินการสำเร็จ ก็คงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการบินของไทยในระยะข้างหน้า

เมื่อมองไปยังอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง พบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทยในปัจจุบัน คงส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระดับที่น้อยมาก เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศคงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็เชื่อว่าจะมีสายการบินอื่นๆ มารองรับความต้องการการเดินทางมายังไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อย่างไรก็ดี การถูกปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทยโดย FAA หลังการถูกขึ้นธงแดงโดย ICAO นั้น อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคของไทย เนื่องจากเส้นทางการบินของสายการบินสัญชาติไทยจะถูกจำกัด ทำให้โอกาสในการขยายธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อรองรับการให้บริการสายการบินของไทย เช่น การจัดทำอาหารสำหรับบริการบนเครื่องบิน การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงการบิน และกิจกรรมซ่อมบำรุง เป็นต้น อาจชะลอตามไปด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าปัญหาหลักที่ ICAO ระบุถึงข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) อยู่ที่กระบวนการรับรองผู้ดําเนินการเดินอากาศ การออกข้อกําหนดการปฏิบัติการ และการรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมด้านอื่นๆ อาทิ กิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair, and Operations: MRO) ซึ่งก็อยู่ในการกำกับดูแลโดยหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของไทย แต่หากปล่อยให้สถานะที่ถูกปรับของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของไทยและสายการบินของไทยคงอยู่ยาวนานออกไป อาจกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนในธุรกิจ MRO ในอนาคต อย่างไรก็ดี ในปีหน้า หากมาตรฐานการบินของไทยได้รับการทบทวนและถูกปลดล็อค ผลกระทบต่างๆดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย