ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีมติให้หยวนรวมอยู่ในตะกร้าเงินสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญของหยวนสู่การเป็นสกุลเงินหลักของโลก รวมถึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าตะกร้าเงิน SDRs ของ IMF ได้ให้น้ำหนักกับสกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างจีน
  • สิ่งสำคัญที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือ บทบาทของหยวนในตลาดเงินโลก ที่คงจะทยอยเพิ่มมากขึ้นเมื่อถูกรวมอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs
  • การที่ IMF มีมติให้หยวนถูกรวมอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs คงยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ขณะที่ในระยะข้างหน้าปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อหยวนยังคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก

มติของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 ที่จะรวมหยวนอยู่ในตะกร้าเงินสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) นับเป็นก้าวสำคัญของจีนในการเพิ่มบทบาทของตัวเองในเวทีโลก หลังจากที่ในปี 2553 มติของ IMF ยังไม่ยอมรับให้หยวนเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDRs เนื่องจาก ณ ขณะนั้นแม้หยวนจะเข้าเงื่อนไขด้านปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ แต่ IMF เห็นว่าหยวนยังไม่เป็นสกุลเงินที่มีการใช้อย่างเสรี (Freely Usable)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การรวมหยวนเข้าไปในตะกร้าเงิน SDRs ในครั้งนี้เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของหยวนสู่การเป็นสกุลเงินหลักของโลก โดยเป็นเครื่องหมายว่าหยวนเริ่มบูรณาการเข้ากับตลาดการเงินโลกมากขึ้น รวมถึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าตะกร้าเงิน SDRs ของ IMF ได้ให้น้ำหนักกับสกุลเงินของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและทวีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างจีน โดยการปรับตะกร้าเงินในปีหน้า IMF ได้ให้น้ำหนักกับหยวนในตะกร้าเงินถึงร้อยละ 10.92 ซึ่งมากกว่าเยน (ร้อยละ 8.33) และปอนด์ (ร้อยละ 8.09)

จากข้อมูลของ SWIFT ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้หยวนจะแสดงให้เห็นว่ามีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไต่อันดับการเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกจากอันดับที่ 14 ในปี 2555 เป็นอันดับที่ 5 ในเดือนต.ค. 2558 แต่การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนดังกล่าวกลับมาจากการขยายตัวของมูลค่าการค้าของจีนเป็นหลัก บวกกับเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมูลค่าการค้าที่มากที่สุดในโลกแล้วนับว่าบทบาทของหยวนในเวทีโลกในปัจจุบันยังมีน้อยมาก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนเองก็มีความพยายามที่จะให้หยวนมีความยืดหยุ่น น่าเชื่อถือ และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขั้นที่หนึ่งคือการให้หยวนรวมอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs ทั้งการขยายกรอบการซื้อขายหยวนประจำวันจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 2 การปล่อยให้หยวนเคลื่อนไหวตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดมากขึ้น รวมทั้งแผนการเปิดเสรีบัญชีทุน (Capital Account Liberalization) และตลาดตราสารหนี้ของจีน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDRs เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ และคงไม่ได้ทำให้มีการใช้หยวนในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างทันทีทันใด

ดังนั้นในระยะยาว หากทางการจีนต้องการให้หยวนมีบทบาทในเวทีโลกอย่างสมบูรณ์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก โดยสามารถแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่นได้อย่างเสรี การเร่งปฏิรูปตลาดเงินตลาดทุนในประเทศในระดับที่ลึกขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะจีนยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น การจำกัดโควตานักลงทุนในการเข้าถึงตลาดในประเทศ (Onshore Market) เป็นต้น แต่การไปถึงจุดนั้นยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เนื่องจากทางการจีนคงจะต้องเตรียมความพร้อมในอีกหลายประเด็น อาทิ ถ้าจีนจะต้องเริ่มเปิดให้มีการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศอย่างเสรีจะทำให้ระบบการเงินของจีนมีความอ่อนไหวต่อวิกฤตการเงินของโลกมากขึ้น และการให้หยวนเป็นไปตามกลไกตลาดจะส่งผลให้ทางการจีนเองควบคุมและใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี ตะกร้าเงิน SDRs ใหม่จะยังไม่มีผลอย่างเป็นทางการจนกว่าจะถึงวันที่ 1 ต.ค. 2559 ซึ่งส่งผลให้ทุกฝ่ายต่างมีเวลามากขึ้นในการเตรียมความพร้อม

สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันจีนได้ขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 จากเดิมที่เป็นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นและไทยเองก็เป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของจีนในอาเซียน สะท้อนว่าจีนเริ่มมีบทบาทกับภาคการค้าระหว่างประเทศของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และหากหยวนจะกลายมาเป็นเงินสกุลหลักของโลก และใช้ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น การชำระเงินระหว่างประเทศด้วยหยวนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการไทยในการลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และลดต้นทุนในการชำระเงินระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้ไทยจะมีสัดส่วนการชำระเงินค่าสินค้านำเข้าและส่งออกเป็นหยวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ไทยและจีนได้พัฒนาความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน อาทิ การจัดตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) ในไทย การเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนกับบาทโดยตรงผ่านตลาด Interbank สำหรับบางธนาคารของจีนในมณฑลยูนนาน และการมีผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงสำหรับเงินหยวน (Hedging) เป็นต้น แต่สัดส่วนการชำระด้วยหยวนยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่งในระยะยาวคงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆที่จำเป็นอีกมากเพื่อสนับสนุนการใช้หยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยคาดว่าเงินบาทน่าจะเป็นค่าเงินต่อไปของประเทศในอาเซียนที่จีนอนุญาตให้สามารถแลกเปลี่ยนกับหยวนได้โดยตรง (Direct Trading) ต่อจากเงินริงกิตของมาเลเซีย และเงินดอลลาร์ของสิงคโปร์ นอกจากนี้ ในอนาคตถ้าผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปหยวนมีบทบาทมากขึ้นในตลาดการเงินโลก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยในการกระจายการลงทุนไปสู่สินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

โดยสรุป การที่ IMF มีมติให้หยวนถูกรวมอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs คงยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ขณะที่ในระยะข้างหน้าปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อหยวนยังคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงและมีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนในระยะกลาง/ยาว หากหยวนเป็นที่นิยมใช้ในตลาดโลกมากขึ้น ทางการไทยก็น่าจะต้องทยอยเพิ่มสัดส่วนหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ แม้ในปัจจุบันไทยเริ่มมีการใช้หยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แล้วบ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย