ทูตไทยมอง "สัมพันธ์ไทย-สหรัฐ"
"มติชน" สัมภาษณ์พิเศษ นายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ถึงความ สัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ในภาพรวม และประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ตั้งแต่ทิปรีพอร์ต ทีพีพี และสิ่งที่ไทยควรคาดหวังต่อสหรัฐ
"ผมพอใจกับภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทยในปัจจุบันซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าในทุกทางมีการพบปะในระดับสูงทั้งการพบกันของท่านรัฐมนตรีดอนปรมัตถ์วินัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายแอนโทนี บลิงเคน รมช.ต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือนธันวาคมนี้ก็จะมีการจัดประชุมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ โดย นายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะหารือกับ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ หลังจากนั้นในช่วงต้นของปี 2559พล.อ.เดวิส เชียร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐจะเยือนประเทศไทยเพื่อพบปะกับปลัดกระทรวงกลาโหม"
การประสานงานเรื่องรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ทิปรีพอร์ต) มีความคืบหน้าอย่างไร
ขอทำความเข้าใจก่อนว่าสหรัฐจัดทำรายงานการค้ามนุษย์กับทุกประเทศซึ่งรวมทั้งสหรัฐเองด้วย หลักเกณฑ์การประเมินก็เป็นสิ่งที่สหรัฐกำหนดขึ้นเอง โดยจะเปรียบเทียบจากสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศนั้นๆ ในปีก่อนหน้า
การชี้แจงทำความเข้าใจกับสหรัฐเป็นเรื่องที่เราทำอย่างต่อเนื่อง ตลอด 10 เดือนที่ผมไปเป็นทูตในสหรัฐ ต้องบอกว่าหายใจเข้าหายใจออกเป็นเรื่องทิปรีพอร์ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญสูงสุด สถานทูตไปพูดคุยทำความเข้าใจกับหน่วยงานทิปออฟฟิศของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่ดูแลการจัดทำรายงานดังกล่าวแทบจะทุกสัปดาห์ขณะที่กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆพวกเราไม่ได้ขยันเฉพาะในช่วงใกล้วันที่สหรัฐประกาศผลการจัดอันดับค้ามนุษย์เท่านั้น
นอกจากนี้สถานทูตยังส่งรายงานให้กับผู้ช่วย ส.ส.และ ส.ว.ที่มีบทบาทเรื่องทิปรีพอร์ตอยู่เป็นประจำ รวมถึงไปพูดคุยกับ ส.ส.และ ส.ว.หลายท่านเพื่อชี้ให้เห็นถึงความพยายามที่ไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศ บางท่านก็มองว่าไทยไม่น่าจะอยู่ในเทียร์ 3 แต่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหาร อาทิ การส่งฟ้องคดีค้ามนุษย์ของไทยมี 171 คดี ขณะที่มาเลเซียมี 3 คดี จีนมี 1 คดี แต่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในเทียร์ 2 ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอธิบายการจัดอันดับค้ามนุษย์ ไม่ได้มีการเปรียบเทียบตัวเลขของไทยกับประเทศต่างๆ เพราะเขาเทียบกับการดำเนินงานของประเทศนั้นๆ ในปีก่อน
ขณะเดียวกันในเว็บไซต์ของสถานทูตก็ได้รายงานความคืบหน้าการจัดการกับปัญหาค้ามนุษย์ในไทยอย่างสม่ำเสมอมีการนำเสนอข่าวและคอลัมน์ซึ่งมีเนื้อหาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ส่วนตัวมองว่ารายงานการค้ามนุษย์ที่สหรัฐจัดทำขึ้นมีข้อดีตรงที่สร้างความตื่นตัวให้ไทยและทำให้เห็นว่ารัฐบาลไทยมีความเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศภายหลังประกาศให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 ท่านนายกรัฐมนตรีแสดงท่าทียอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาค้ามนุษย์ เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขปัญหาเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมมองว่าท่าทีเช่นนี้สามารถชนะใจรัฐบาลและสภาคองเกรสได้ เพราะแสดงว่าเรามุ่งมั่นจัดการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ในประเทศ ไม่ใช่เพราะมีการให้คะแนน แต่เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำให้ถูกต้อง
ในปีหน้าสหรัฐจะปรับอันดับไทยดีขึ้นหรือไม่ ผมไม่อาจรู้ เพราะเป็นสิทธิของสหรัฐ ส่วนตัวมองว่าไทยทำดีขึ้นทุกปี ส่วนสหรัฐจะเห็นด้วยหรือไม่คงไม่อาจบังคับได้ แต่ตอนนี้สื่อมวลชนในสหรัฐ เอ็นจีโอ ส.ส. และ ส.ว.สหรัฐบางคนเริ่มตั้งคำถามกับทิปออฟฟิศว่า การจัดอันดับค้ามนุษย์เป็นไปตามเนื้อผ้าหรือไม่ หรือมีการเมืองเข้ามาปะปน เนื่องจากมีกฎหมายที่ระบุว่า ถ้าประเทศใดอยู่เทียร์ 3 จะไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี เรื่องนี้สร้างความฉงนใจ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐจะต้องตอบคำถาม
มีความกังวลประเด็นใดเกี่ยวกับทิปรีพอร์ต
สิ่งที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นคือการเลื่อนเป้าหมายของหลักเกณฑ์การพิจารณาให้สูงขึ้น ซึ่งผมไม่อยากให้คิดว่าไทยกำลังแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ตามโจทย์ที่สหรัฐวางไว้ แต่อยากให้สาธารณชนมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนของไทยไปในทางที่ดีขึ้น
ตอนนี้เรากำลังถูกกล่าวหาว่าสินค้าไทยใช้แรงงานค้ามนุษย์ผมเชื่อว่าทุกคนอยากปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสินค้าไทยให้ถูกต้องอย่าไปคิดว่าสหรัฐมากดดันหรือบีบบังคับไทยถ้าเราอยากขายสินค้าในประเทศที่เป็นตลาดสำคัญอย่างสหรัฐเราก็ต้องปฏิบัติตามกติกาสากลเมื่อเราร่วมมือกันทำให้ทุกอย่างดีขึ้น อันดับของไทยก็จะสูงขึ้น และสินค้าไทยก็น่าเชื่อถือขึ้นด้วย ผมขอย้ำว่าสหรัฐไม่ได้เลือกปฏิบัติกับไทย แต่เขาทำกับทุกประเทศ
สหรัฐมีความห่วงกังวลสถานการณ์การเมืองในไทยในเรื่องใดบ้าง
สหรัฐถือว่าการเมืองเป็นเรื่องภายในของไทย แต่ในฐานะมิตรประเทศที่ยาวนาน สหรัฐอยากให้การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของไทยมีความยั่งยืน มีการเลือกตั้งที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ผมมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐทุกระดับมีความเป็นมิตรอย่างเต็มเปี่ยม และมีความมุ่งหวังที่ดีต่อไทย ขอยืนยันว่าความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางบวก ล่าสุดผมได้พบกับ พล.ร.อ.แฮร์รี
แฮร์ริส ผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมดูแลชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐครอบคลุมไปถึงมหาสมุทรอินเดีย กว่า 50% ของโลกอยู่ในการดูแลของ พล.ร.อ.แฮร์ริสซึ่งได้ย้ำว่าไม่เคยหันหลังให้กับไทย และเห็นคุณค่าพันธมิตรทางทหารระหว่างสองประเทศ ขณะที่ผมย้ำว่าสหรัฐจะประสบความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียต้องร่วมมือกับไทย
เรื่องการพิจารณาของไทยต่อการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี)
ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ว่าไทยมีความสนใจจะเข้าร่วม โดยกำลังศึกษาข้อดีข้อเสีย ผมเตรียมเสนอรัฐบาลว่าเรามาถูกทางแล้วที่แสดงความสนใจ วันใดที่เราศึกษาเสร็จแล้ว เราก็ดำเนินการได้อย่างมั่นใจไม่ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมทีพีพี ทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องตามดูว่าสามารถเตรียมการหารือปฏิรูปในเรื่องใดไว้ล่วงหน้าได้ เพื่อยกระดับมาตรฐานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้เอกชนและสหรัฐรู้ว่าไม่ว่าไทยเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมทีพีพี ไทยยังเตรียมพร้อม หากวันไหนไทยเข้าทีพีพี เราก็ได้เตรียมพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ดี ไทยยังมีเวลาเตรียมการ เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมทีพีพียังมีกระบวนการภายในเพื่อทำให้ข้อตกลงมีผลทางกฎหมาย กรณีสหรัฐ ประธานาธิบดีมีเวลา 90 วันที่จะบอกสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการว่าจะลงนาม ซึ่งประธานาธิบดีได้กระทำการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ขั้นต่อมาฝ่ายบริหารจะเสนอร่างกฎหมายที่จะทำให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ แล้วจึงให้สภาคองเกรสพิจารณาลงมติร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนับระยะเวลากระบวนการภายในสหรัฐแล้วมีความเป็นไปได้ว่า ในปีหน้ากระบวนการภายในของสหรัฐจะไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งระยะเวลาที่คองเกรสพิจารณาร่างกฎหมายจะเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ขณะที่ผู้ลงสมัครแข่งขันประธานาธิบดีอย่างนางฮิลลารี คลินตัน หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เอาข้อตกลงดังกล่าว ดังนั้นการเปลี่ยนรัฐบาลนำไปสู่ความไม่แน่นอนของทีพีพี ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยมีเวลาในการศึกษาเตรียมการและตัดสินใจมากขึ้น
ในระหว่างนี้เสนอว่าควรส่งผู้แทนไปพบปะพูดคุยกับสหรัฐว่าไทยกำลังเตรียมการ เพื่อเป็นการจับมือให้อุ่นกับสหรัฐ และจะได้คุยถึงกรอบการค้าไทย-สหรัฐด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เอกชนทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ เราเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐในภูมิภาคยาวนานถึง 182 ปี อีกทั้งในภูมิภาคอาเซียนสหรัฐลงทุนเป็นเม็ดเงินราว 7.1 ล้านล้านบาท มากกว่าที่สหรัฐลงทุนในจีนกับญี่ปุ่นรวมกัน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวราว 1.7 ล้านล้านบาทอยู่ในไทย เท่ากับว่าในส่วนแบ่ง 10 ประเทศอาเซียน ไทยประเทศเดียวได้ 1 ใน 4 ดังนั้นผลประโยชน์ที่สหรัฐมีร่วมกับไทยจึงเยอะมาก
ในฐานะทูตสหรัฐ อยากให้คนไทยเข้าใจสหรัฐให้ถูกต้องในเรื่องใดบ้าง
เวลาสหรัฐพูดถึงความคาดหวังเรื่องเป็นประชาธิปไตย ผมมั่นใจว่าสหรัฐพูดด้วยความหวังดี ไม่ได้เลือกข้างการเมืองภายในของไทย เพราะสหรัฐคาดหวังกับเราไว้ค่อนข้างสูง แต่อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าทำไมกับประเทศอื่นๆ เขาไม่ดำเนินมาตรการแบบนี้
ขณะที่นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เป็นข้าราชการมืออาชีพ ทำงานมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเคยเป็นเบอร์สองของสถานทูตสหรัฐในอังกฤษ ซึ่งในระบบสถานทูตของสหรัฐถือว่ามีความสำคัญ ประกอบกับสถานทูตสหรัฐในอังกฤษถือว่าสำคัญกว่าแห่งอื่นใดในโลก ตลอดจนอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยพระมหากษัตริย์ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นรากฐาน จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สหรัฐส่งทูตที่มีประสบการณ์ มีฝีมือ มีความเข้าใจ มีความมานะ และตั้งใจที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2558
ขอขอบคุณข้อมูล จาก : มติชน
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.