ประเด็นร้อน!!: ยุคเสื่อมบทวิเคราะห์??..ตั้งสติก่อนเสพ!!
เคยสังเกตุไหมว่าปัจจุบัน บทวิจัย-บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ มักจะไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แม้กระทั่งการคาดการณ์ดัชนีตลาดหุ้นไทย การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) (EPS Growth) ไปจนถึงหุ้นรายบริษัท ทำให้เกิดคำถามว่า "นี่เป็นยุคเสื่อมของบทวิเคราะห์ หรือไม่?"
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ประมาณการของโบรกเกอร์ต่างๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก "ระดับฟ้ากับเหวเลยก็ว่าได้" เพราะถึงแม้จะใช้ข้อมูล สมมติฐาน และทฤษฏีที่แตกต่างกัน แต่บทสรุปที่ได้ก็ไม่น่าจะหลากหลายจนนักลงทุนยากที่จะฟันธงได้ว่าควรเชื่อมั่นบทวิเคราะห์ฉบับไหน
ที่สะดุดตาคงหนีไม่พ้นการมองดัชนีฯ ในช่วงต้นปีมีบางค่ายให้เป้าปีนี้แค่ 1,360 จุด แต่บางแห่งให้สูงถึง 1,800 จุด จนกระทั่งปัจจุบันโบรกฯทุกแห่งได้ปรับลดคาดการณ์ลงมาแถวๆ 1,400 ปลายๆ จนถึง 1,500 จุดต้นๆ.. แต่ความเป็นจริงล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 4 ธ.ค.58 ดัชนีฯยังย่ำอยู่บริเวณ 1,333.57 จุด
ขณะที่บทวิเคราะห์รายบริษัท เช่น TRUE ที่โบรกต่างประเทศรายหนึ่งแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมายปีหน้า 15.50 บาท ส่วนอีกโบรกฯกลับแนะ "ขาย" ให้ราคาเหมาะสมแค่ 3.30 บาท แต่ราคากระดานอยู่แถวๆ 8.15 บาท
หรือ TTCL ที่ปัจจุบันราคากระดาน 15.90 บาท แต่ราคาตามบทวิเคราะห์ ให้ความเห็นหลากหลายมาก ตั้งแต่ซื้อ ถือ และขาย ส่วนราคาเหมาะสมก็ช่างต่างกันเหลือเกินตั้งแต่ 17.30 - 36.70 บาท หรือมีบางแห่งให้สูงสุดถึง 50 บาท
ยัง...ยังไม่หมด ขอยกอีกสักหนึ่งตัวอย่าง THCOM ปัจจุบันราคา 26.75 บาท แต่ช่วงราคาของบทวิเคราะห์มีตั้งแต่ 27.30-54.50 บาท รวมทั้งหุ้น J ที่บางโบรกฯให้ราคาเหมาะสม 3 บาท แต่บางรายให้สูงถึง 6 บาท แตกต่างกัน 100%
ภาวะการณ์ที่ยกมาข้างต้นทำให้ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" คำนึงถึงนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย ว่าจะเสพข้อมูลบทวิเคราะห์กันอย่างไร เพราะเป็นกลุ่มที่มักจะถูกจำกัดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลจากผู้บริหาร ขณะที่บทวิเคราะห์ซึ่งควรจะทำหน้าที่ดังกล่าวแทนกลับมีความแตกต่างในแต่ละค่ายอย่างสิ้นเชิง รวมถึงความแม่นยำที่มักจะคลาดเคลื่อนเป็นประจำ
ขณะเดียวกันทุกวันนี้ ผลพวงจากการแข่งขันค่าคอมมิชชั่นที่ดุเดือด ส่งผลให้นักลงทุนถูกจำกัดการเข้าถึงบทวิเคราะห์มากขึ้นไปอีก!!
*** เศรษฐกิจผันผวนลดทอนความแม่นยำ"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ระบุว่า ความคลาดเคลื่อนของคาดการณ์ต่างๆจากบทวิจัยเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ต้องมีการปรับมุมมองกันบ่อยๆ
"คุณภาพของนักวิเคราะห์ยังถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีทั้งภายในและภายนอก ทำให้การคลาดเคลื่อนของบทวิเคราะห์สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะพื้นฐานมันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ต้องมานั่งปรับแก้กันบ่อยๆ
ลองไปดูตอนที่เศรษฐกิจดีๆ นิ่งๆ สิ เชื่อว่าจะไม่มีการตั้งคำถามแบบนี้หรอกแต่ตอนนี้ใครแม่น ใครมั่ว พูดยากมาก และต้องเข้าใจคนทำด้วย เพราะข้อมูลที่ใช้ประกอบการวิเคราะห์มันไม่นิ่ง ความน่าจะเป็นที่ออกมาจึงผันผวนตามไปด้วยไม่ใช่แค่ในบ้านเรา ต่างประเทศก็เป็น"
*** ต่างนักวิเคราะห์-ต่างมุมมอง ถือเป็นเรื่องปกติเขาอธิบายต่อเกี่ยวกับหุ้นรายบริษัทว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ แม้จะศึกษามาจากตำราที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แต่ประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความถนัดและลึกซึ้งในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของนักวิเคราะห์นั้นๆ ว่าจะมองอย่างไร การเปรียบเทียบจากประเด็นนี้ แล้วตัดสินว่ามาตรฐานโดยภาพรวมลดลงนั้นถือว่าไม่แฟร์
"กัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา" กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส เสริมว่า ความแตกต่างถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้นักลงทุนได้มีทางเลือกในการตัดสินใจที่หลากหลาย
"บทวิเคราะห์ที่มีมุมมองต่างกันนั้นเป็นเรื่องดี เพราะทำให้นักลงทุนได้เลือกรับข้อมูลในหลายๆ รูปแบบ ไม่ใช่ว่าเวลาจะเชียร์ซื้อก็ซื้อกันทุกโบรกฯ ขายก็ขายกันทุกโบรกฯ
ธุรกิจหนึ่งๆ อาจจะมีจุดอ่อนหรือจุดแข็งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลเท่านั้นในการมอง ความสำคัญอยู่ตรงนี้...
สุดท้ายนักลงทุนต้องเป็นคนเลือกและตัดสินใจเองว่าจะลงทุนหรือไม่ เพราะเอาจริงๆแล้วบทวิเคราะห์เป็นเพียงส่วนประกอบในการตัดสินใจ ไม่ใช่อ่านแล้วต้องซื้อตามเลยต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบจากแหล่งอื่นๆ ด้วย"
*** ยันไม่ได้หวงบทวิเคราะห์ แต่ลูกค้าต้องมาก่อน"ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เอเซียพลัส ชี้แจงว่า ไม่ได้ปิดกั้นการเข้าถึงบทวิเคราะห์ของบริษัทฯ แต่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเล็กน้อย กล่าวคือลูกค้าจะได้อ่านก่อนเท่านั้น
"ผมไม่ได้หวงนะ ไม่ใช่ว่าเราไม่เผยแพร่ เราทำตามปกติ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ภาพรวมตลาด แต่หุ้นรายตัวลูกค้าต้องได้อ่านก่อน ส่วนคนอื่นๆ ก็อาจจะช้ากว่าบ้างสัก 2-3 วัน เพราะตอนนี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงมาก ซึ่งบทวิเคราะห์เรามีต้นทุน
เรามีทีมวิเคราะห์กว่า 30 คน มากสุดในอุตสาหกรรม ค่าใช้จ่ายตรงนั้นหลายล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากอยากได้อ่านเร็วๆ ก็มาเป็นสมาชิก ที่ไม่ได้ยากเย็นอะไรในขั้นตอนการสมัคร
...คือ คนเราติดกินฟรีกันมากเกินไป พอไม่ได้เหมือนที่เคยได้ก็มาโวยวาย ต้องเข้าใจเราบ้าง"
เขาเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศไม่มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์เป็นสาธารณะ ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น หรือมิเช่นนั้นก็ต้องซื้อ...
"แต่ก่อนบ้านเราก็ไม่ฟรีนะ ผมยังเคยต้องซื้อเล่มละหลายหมื่นบาทมานั่งอ่านเลย แต่ตอนที่ผมเป็นนายกสมาคมนักวิเคราะห์เมื่อ 6-7 ปีก่อน ได้มีการตระหนักถึงปัญหานี้ จึงขอความร่วมมือคนในวงการเพื่อเผยแพร่ จนมีให้ดูกันในเว็ปไซด์ในวันนี้
และขอย้ำว่าเรายังให้คนอื่นๆ อ่านบทวิเคราะห์ของเรา แต่จะช้ากว่าลูกค้า "เอเซีย พลัส" เท่านั้น ซึ่งหากเชื่อมั่นในทีมวิเคราะห์ของเรา ก็ต้องมาเปิดพอร์ตกับเรา"
"กัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา" ช่วยยืนยันว่า ภายใต้ความเสรีในวงการโบรกเกอร์ ย่อมเกิดการแข่งขัน ดังนั้นแต่ละรายต้องมีกลยุทธ์เพื่อการอยู่รอด บทวิเคราะห์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งการที่รายใดจะให้ใช้บริการแบบปิด ถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ เพราะเป็นต้นทุนที่มีนัยสำคัญ
"มนตรี ศรไพศาล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า "แม้เราจะมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าการแข่งขันทำให้ส่วนแบ่งลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นต้องหาทางจำกัดความเสี่ยงดังกล่าว กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งหากอยากใช้บทวิเคราะห์ที่ดีที่สุดก็ต้องมีพอร์ตกับเรา"
*** นักลงทุนวอนเพิ่มความโปร่งใสในการวิเคราะห์"อนุรักษ์ บุญแสวง" หรือ "โจ ลูกอีสาน" นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ระบุว่า การงดเผยแพร่บทวิเคราะห์ให้กับนักลงทุนที่ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ถือเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และสมเหตุสมผล เพราะเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่ง
"ธุรกิจโบรกฯ ไม่ใช่องค์กรการกุศล ซึ่งถ้าการแข่งขันรุนแรง กลยุทธ์ดังกล่าวก็ถือว่าแฟร์"
แต่เขามองว่า ปัจจุบันความโปร่งใสในการทำบทวิเคราะห์ยังคงเป็นที่น่าเคลือบแคลงใจ ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วย "Conflict of Interest"
"แม้ว่า VI จะวิเคราะห์หุ้นเอง แต่บทวิเคราะห์ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญนะ ทำให้ได้เห็นในมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งประเด็นความแตกต่างของแต่ละค่ายไม่ได้ถือว่าแปลกแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายเราจะตัดสินใจเลือกเอง
สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ ความโปร่งใสมากกว่า ผมเห็น "Conflict" เยอะนะทุกวันนี้ เช่น โบรกไหนมีลูกค้ารายใหญ่หรือกองทุนถือหุ้นนั้นๆ ก็จะเขียนเชียร์ เหมือนได้รับการร้องขอกันมา
หรืออย่างเช่นเข้าไปพบผู้บริหารและได้ข้อมูลก่อนก็จะใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนก่อน ลองสังเกตุดูว่าหุ้นมักจะขึ้นหรือลงก่อนมีบทวิเคราะห์ออกเสมอ
ขณะที่บางราย สบช่องโอกาสนี้ร่วมมือกับผู้บริหารและกลายไปเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการสร้างราคาหุ้นเลยก็เป็นได้
ซึ่งผมเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่สมควร เอาเปรียบรายย่อยเกินไป อยากให้มีธรรมาภิบาลมากกว่านี้"
ด้านนักลงทุนรายย่อยคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ตนไม่สนใจประเด็นเกี่ยวกับการงดเผยแพร่บทวิเคราะห์มากนัก เพราะจะใช้วิธีการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น หรือเข้าร่วมงาน Opportunity Day ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะได้เข้าซักถามข้อมูลข้อสงสัยด้วยตัวเอง
"โดยส่วนตัวเป็นคนลงทุนหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งบทวิเคราะห์มีน้อยอยู่แล้ว เข้ามาถามผู้บริหารเองดีกว่า หรือติดตามข่าวจากสื่อ ซึ่งทุกวันนี้มีหลายช่องทาง โดยหากมองแล้วน่าจะเป็นไปในเชิงบวกก็จะเข้าลงทุน"
ส่วนอีกราย กล่าวว่า "เลิกเชื่อบทวิเคราะห์มานานแล้ว เพราะมักจะไม่ค่อยแม่นยำ ลงทุนตามทีไรติดดอยทุกที (หัวเราะ) แต่ก็อ่านนะ เพื่อเป็นแนวทาง ดูราคาเหมาะสมที่เขาให้เทียบกับราคากระดานว่าเป็นอย่างไร
แต่ก็ไม่ได้เชื่อหรอก จะคิดเองมากกว่า ส่วนประเด็นที่ไม่ได้มีพอร์ตแล้วไม่ได้อ่านบทวิเคราะห์ก็ไม่ยาก อยากอ่านของที่ไหนก็ไปสมัคร เดี๋ยวนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร และไม่จำเป็นต้องเทรดโบรกฯนั้นๆก็ได้อ่าน ทุกวันนี้มีพอร์ตอยู่ 6-7 แห่ง"
*** mai ผุดโปรเจค"Snap shot"หลังไร้บทวิเคราะห์หุ้นเล็ก"ประพันธ์ เจริญประวัติ” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า กลางปีหน้า mai จะทำโปรเจค "Snap Shot" ซึ่งเป็นข้อมูลอัพเดทของบริษัทที่จดทะเบียนใน mai คล้ายๆ บทวิเคราะห์ แต่จะไม่มีการแนะนำ "ซื้อ-ขาย" หรือให้ราคาเหมาะสม
โดยโปรเจคดังกล่าวจะเผยแพร่ผ่านเว็ปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบความเคลื่อนไหวของธุรกิจให้ทันสมัย ของ บจ.ขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันมีบทวิเคราะห์น้อยมาก
"เดิมเรามีการร่วมมือกับโบรกเกอร์หลายแห่งสำหรับทำบทวิเคราะห์ให้กับ บจ.ใน mai แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีบทวิเคราะห์ไม่ถึงครึ่งของ บจ.ทั้งหมด ซึ่งเข้าใจว่าบุคคลากรของโบรกฯมีจำกัด ไหนจะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก
ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่โดยใช้โปรเจ็ก "Snap shot "ไว้ให้ข้อมูลกับนักลงทุน ซึ่งแม้จะไม่มีคำแนะนำการลงทุนหรือราคาเป้าหมาย แต่ก็คงช่วยประกอบการตัดสินใจได้มากขึ้น"
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายครอบคลุมมากกว่า 80% ของบจ.ใน mai ทั้งหมดในปีหน้า ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งทีมงานเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ แล้ว
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : www.efinancethai.com รายงาน โดย ศราพงค์ นันติวงค์ เรียบเรียง โดย อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร อีเมล์. anurak@efinancethai.com อนุมัติ โดย พิมพ์รภัส ศิริไพรวัน