ผลการตรวจสอบ มาตรฐานการบิน ของ EASA เป็นที่น่าพอใจ...แต่ยังคงต้องติดตามการแก้ไขปัญหา ICAO และ FAA
- ผลการตรวจสอบ มาตรฐานการบิน ขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ( European Aviation Safety Agency : EASA) ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หลังจากที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีมติไม่ลงรายชื่อสายการบินของประเทศไทย ในบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศของสหภาพยุโรป (EU Air Safety List) ส่งผลให้สายการบินของไทยยังคงสามารถบินเข้าน่านฟ้าของประเทศสมาชิก EU ได้
- ผลของ EASA ซึ่งมีทิศทางบวกช่วยลดความกังวลต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเส้นทางบินยุโรปสามารถสร้างรายได้ให้กับศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวได้ราวร้อยละ 10 โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเส้นทางการบินภายในประเทศและเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเดิมเป็นหลัก
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ( European Aviation Safety Agency : EASA) ออกมาเป็นที่น่าพอใจ หลังจากที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีมติไม่ลงรายชื่อสายการบินของประเทศไทย ในบัญชีรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศของสหภาพยุโรป (EU Air Safety List) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้สายการบินของไทยยังคงสามารถบินเข้าน่านฟ้าของประเทศสมาชิก EU ได้ อย่างไรก็ดี EASA จะยังคงตรวจสอบพัฒนาการความปลอดภัยของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากเกิดประเด็นที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ก็อาจมีการพิจารณาสายการบินของไทยเข้าบรรจุใน EU Air Safety List ในอนาคตได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยเผชิญกับความไม่เชื่อมั่นต่อมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินหลังจากที่ได้มีการขึ้นธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยบนเว็บไซต์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ตามมาด้วยองค์กรบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ที่ได้ปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินไทยจากระดับปกติ (Category 1) เป็นระดับต่ำกว่ามาตรฐาน (Category 2) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
ผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินของ EASA ส่งผลให้บรรยากาศภาพรวมธุรกิจการบินของไทยในปีหน้าไม่ต้องเผชิญแรงกดดันมากนัก ...อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามการแก้ไขปัญหาเพื่อปลดล็อคธงแดงของ ICAO และเลื่อนอันดับชั้นมาตรฐานของ FAA
การขึ้นธงแดงของ ICAO และการปรับลดมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของ FAA ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและสายการบินของไทย อย่างไรก็ดี ในแง่ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินที่ผ่านมานั้น นับว่ายังคงอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดการปฏิบัติการทางการบิน โดยการห้ามเพิ่มเที่ยวบิน ขยายเส้นทางการบิน เปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบินจากบางประเทศสมาชิก ICAO (ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเผชิญการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากประเทศจุดหมายปลายทางเท่านั้น
สำหรับผลของ EASA ซึ่งมีทิศทางบวกจะสามารถลดแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมการบินของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีสายการบินที่ทำการบินไปยังประเทศสมาชิก EU จำนวน 2 สายการบินโดยทำการบินเที่ยวบินประจำ 1 สายการบินและเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) อีก 1 สายการบิน ซึ่งเส้นทางยุโรปนับว่าเป็นเส้นทางศักยภาพและสร้างรายได้ให้กับสายการบินของไทยเป็นอย่างดี โดยสายการบินของไทยมีจุดหมายปลายทางไปยังทวีปยุโรปกว่า 11 จุดหมายปลายทาง จากข้อมูลธุรกิจสายการบินของไทย (รวบรวมจากรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่จดทะเบียนบางราย) มีรายได้จากการให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ารวมกันอยู่ที่ประมาณ 234,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 77 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากภูมิภาคยุโรปประมาณร้อยละ 27 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้ายังจำเป็นต้องติดตามแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อกธงแดงกรณี ICAO และการปรับอันดับมาตรฐานความปลอดภัยของ FAA โดยในปี 2559 ที่จะถึงนี้ ภาครัฐและเอกชนยังคงต้องให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหามาตรฐานการบินของไทย โดยประเด็นสำคัญยังคงอยู่ที่การดำเนินการตรวจสอบและออกใบรับรองอนุญาตสายการบินใหม่ (AOC Recertification) จำนวน 41 สายการบิน (โดยจะดำเนินการตรวจสอบ 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศก่อน) เพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่ ICAO กำหนดในคู่มือการตรวจสอบ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังการแก้ไขปัญหาการจัดอันดับชั้นของ FAA ด้วย เนื่องจาก FAA ดำเนินการตรวจสอบตามแนวทางของ ICAO โดยยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่ากระบวนการ AOC Recertification ทั้ง 28 สายการบินดังกล่าว จะสามารถแล้วเสร็จได้ภายในเดือนสิงหาคม ปี 2559 เพื่อแจ้งให้ ICAO เดินทางเข้ามาตรวจสอบภายในเดือนธันวาคม 2559 ตามแผนที่วางไว้หรือไม่
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการบินในปี 2559 แม้ว่าการผ่านมาตรฐานการบินของ EASA จะส่งผลให้ธุรกิจการบินของไทยยังคงมีการขยายตัวได้ แต่ในบางเส้นทางยังคงดำเนินอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีข้อจำกัด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2559 ยังคงสามารถขยายตัวได้ราวร้อยละ 10 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2558 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 12 โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเส้นทางการบินภายในประเทศและเส้นทางการบินระหว่างประเทศในเส้นทางเดิมเป็นหลัก ขณะที่อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 ที่มีแนวโน้มชะลอลงค่อนข้างมากจากผลของฐานที่สูงในปี 2558 จะยังเป็นปัจจัยกดดันภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทยในปี 2559 นอกเหนือไปจากผลกระทบจากกรณีการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในปี 2558 ซึ่งคงทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มาทำตลาดเส้นทางภายในประเทศ รวมถึงเส้นทางไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการรักษาฐานรายได้ของธุรกิจ ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นเป็นอย่างมากตามมา อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องเผชิญกับต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้น รวมถึงประเทศจุดหมายปลายทางการบินอาจมีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ณ ลานจอด (Ramp Inspection) เครื่องบินที่มาจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ผู้ประกอบการสายการบินของไทยต้องเผชิญ
การใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย