สินเชื่อปีวอกเติบโตดีขึ้น...ฝากความหวังไว้ที่การลงทุนภาครัฐและภาคส่งออก
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์การเติบโตของ สินเชื่อ ปี 2559 มีโอกาสขยายตัวที่ระดับ 4.0 - 6.0% แม้ดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก เนื่องจากสินเชื่อรายย่อยเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต หลังธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างระมัดระวังในการคัดกรองลูกค้าใหม่เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย โดยเติบโตเพียง 5.0 - 6.0% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่อยู่สูงกว่า 15% ส่วนการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจยังต้องฝากความหวังไว้ที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการส่งออกที่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสินเชื่อผู้ประกอบการ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน บริการโลจิสติกส์ และสื่อสารและสารสนเทศ
- กลยุทธ์ด้านราคาคงไม่ใช่กลยุทธ์หลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประคอง/เพิ่มส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงอยู่ในระดับสูง จาก Credit Cost ที่มาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ เพื่อดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ อีกทั้งรายรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์บางส่วนลดลงอยู่แล้วจากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า
ก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2558 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายของธนาคารพาณิชย์ไทยในการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของสินเชื่อ การบริหารคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารให้ผ่านพ้นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและคู่ค้าสำคัญ ดังสะท้อนผ่านอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 2558 ที่ชะลอลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก อีกทั้งยังปรับลดลงจากปี 2557 ที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว โดยมีประมาณการเติบโตที่ระดับ 4.0% หรือเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2557 ราว 4 แสนล้านบาท (หักผลของการควบรวมระหว่างธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ สาขากรุงเทพฯ) ขณะที่ เมื่อต่อภาพไปในปี 2559 แล้ว เชื่อว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก คงทำให้แต่ละธนาคารยังต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ท่ามกลางการสานต่อมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเพื่อป้องกันการตกชั้นของสินเชื่อ แม้อัตราดอกเบี้ยจะยังคงทรงตัวในระดับต่ำ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
- ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ... คาดเติบโตที่ 4.0 - 6.0% แม้ดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมาก จากสินเชื่อรายย่อยที่อ่อนแรง
o การเติบโตของสินเชื่อ...ดีขึ้นในกรอบที่จำกัด ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นกว่าปี 2558 ตามทิศทางการลงทุนของภาคเอกชนที่ได้รับแรงหนุนจากโครงการลงทุนของภาครัฐที่จะเข้าสู่การเบิกจ่ายในปี 2559 คงทำให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมีโอกาสเติบโตดีขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ดี การเติบโตดีขึ้นดังกล่าวน่าจะจำกัดอยู่ในกรอบเพียง 4.0 - 6.0% โดยมีค่ากลางที่ระดับ 5.0% สูงกว่าประมาณการเติบโตของสินเชื่อในปี 2558 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 4.0% เล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากปัจจัยที่กดดันการเติบโตของสินเชื่อมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 น่าจะลากยาวถึงปี 2559 ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่กดดันทั้งการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงความสามารถในการก่อหนี้ของลูกค้าเอสเอ็มอี และการเติบโตของสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ตลอดจนการหันไประดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีแรงกดดันต่อการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อลงทุนระยะยาว
o สินเชื่อรายย่อยเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต...โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตชะลอลง ขณะที่ สินเชื่อส่วนบุคคลปรับตัวดีขึ้นจากฐานต่ำ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าสินเชื่อรายย่อยที่เคยเป็นแรงหนุนสินเชื่อที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ในปี 2559 นี้จะเติบโตเหนือกว่าสินเชื่อภาคธุรกิจ แต่ยังทิ้งห่างอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่เคยทำได้ถึงระดับ 15.4% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2553 - 2557) เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างระมัดระวังในการคัดกรองลูกค้าใหม่เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย โดยคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีสัดส่วนกว่า 50% ในผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยมีโอกาสพักฐานหรือเติบโตชะลอลงเทียบกับปี 2558 ซึ่งเป็นผลของการเร่งเบิกใช้สินเชื่อตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2558 และแรงส่งของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในช่วงเดือนเมษายน 2559 ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจหดตัวน้อยลงเทียบกับปี 2558 ตามผลของโครงการรถยนต์คันแรกที่ทยอยปรับลดลง ก่อนที่แรงซื้อรถยนต์ใหม่จะช่วยหนุนให้ยอดสินเชื่อเช่าซื้อพลิกกลับสู่อัตราการเติบโตในแดนบวกได้ในปี 2560 ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีโอกาสประคองการเติบโตได้ที่ระดับ 8.0% ใกล้เคียงกับปี 2558 แม้ว่าจะปรับลดลงจากค่าเฉลี่ยในอดีตค่อนข้างมากแล้วก็ตาม และสินเชื่อส่วนบุคคล คาดว่ามีโอกาสเติบโตดีขึ้นเทียบกับปี 2558 ที่คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาทำตลาดของผู้ประกอบการ หลังสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มมีโมเมนตัมการฟื้นตัวดีขึ้น และผลจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ
o สินเชื่อภาคธุรกิจ...ฝากความหวังไว้ที่ความก้าวหน้าของการลงทุนภาครัฐและการส่งออก หากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจในปี 2559 แล้ว เชื่อว่า แรงผลักดันการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจในองค์รวม คงต้องฝากความหวังไว้ที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการส่งออกที่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวเป็นบวก ซึ่งจะช่วยให้การเบิกจ่ายสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวกลับมามีบทบาทในพอร์ตสินเชื่อภาคธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่น่าจะเข้าสู่กระบวนการเบิกใช้สินเชื่อได้เร็ว โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสินเชื่อผู้ประกอบการ คงได้แก่ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มบริการโลจิสติกส์ และกลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ ขณะเดียวกัน กลุ่มเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมต่างๆ ข้างต้นน่าจะมีอุปสงค์ต่อสินเชื่อเพิ่มขึ้น และเป็นแรงผลักดันการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีหลักในปี 2559 นอกเหนือไปจากการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเดิมของธนาคารพาณิชย์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีจะยังคงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่อยู่เหนือระดับ 10% อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดทุนยังเป็นหนึ่งในทางเลือกระดมทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์คงจะนำเสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยที่สามารถแข่งขันได้เพื่อจูงใจลูกค้ารายใหญ่ เพราะแม้ว่ามาร์จิ้นอาจจะต่ำแต่จะได้ฐานลูกค้าใหม่เพื่อต่อยอดไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารพาณิชย์
- กลยุทธ์ด้านราคาคงไม่ใช่กลยุทธ์หลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประคอง/เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ขณะที่ ผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อ (Effective Yield on Performing Loan) มีโอกาสทรงตัวต่อจากปี 2558 แม้แต่ละธนาคารพาณิชย์จะวางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อในปี 2559 ไว้ค่อนข้างสูงกว่าปี 2558 โดยเปรียบเทียบ แต่เชื่อว่ากลยุทธ์ด้านราคายังไม่น่าใช่กลยุทธ์หลักที่ธนาคารพาณิชย์นำมาใช้เพื่อประคองหรือเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจาก 1) ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจาก Credit Cost ที่มาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ เพื่อดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง 2) อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันค่อนข้างทรงตัวต่ำและเอื้อต่อการกู้ยืมของลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้การแข่งขันลดดอกเบี้ยลงไปอีกเพื่อจูงใจลูกค้าใหม่ค่อนข้างจำกัด และ 3) ธนาคารพาณิชย์มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเป็นรายๆ ไป ทั้งมาตรการพักชำระหนี้และการลดดอกเบี้ย (ซึ่งการออกมาตรการช่วยเหลือลักษณะดังกล่าว ผนวกกับหนี้ด้อยคุณภาพที่ขยับขึ้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลตอบแทนจากเงินให้สินเชื่อ (Effective Yield on Performing Loan) ของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงมาที่ระดับ 5.18% เทียบกับสิ้นปี 2557 ที่ระดับ 5.23%) ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ข้างต้นที่ลากยาวจากปี 2558 สู่ปี 2559 คงทำให้การแข่งขันด้านราคาสินเชื่อในภาพรวมคงมีจำกัด เพื่อรักษาระดับรายได้ดอกเบี้ยรับและประคอง NIM ของธนาคารพาณิชย์
- ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นความเสี่ยงหลักของธนาคารพาณิชย์...คาดแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 3/2559 ก่อนปรับตัวลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 ยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลให้เอ็นพีแอลขยับขึ้นได้ในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูงที่กดดันทั้งความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกค้าและการอุปโภคบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคงมีผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อย (รวมสินเชื่อมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน) และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่พึ่งพิงกำลังซื้อภายในประเทศ ท่ามกลางภาวะภัยแล้งที่อาจกดดันต่ออำนาจซื้อของแรงงานในภาคเกษตรในพื้นที่ภูมิภาครวมถึงธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ธรรมชาติของ NPL มักปรับตัวตามจีดีพีราว 2 ไตรมาส ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ NPL จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.0% ในช่วงไตรมาส 3/2559 (ภายใต้สมมติฐานจีดีพีปรับตัวดีขึ้น YoY ในทุกๆ ไตรมาสในปี 2559) ก่อนปรับลดลงในช่วงท้ายปี 2559 ตามการเติบโตของสินเชื่อที่ท้ายปีมักเร่งขึ้นเร็วและการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยอาจทำให้เอ็นพีแอลสามารถจบปี 2559 ได้ที่ระดับ 2.8 - 2.9% ต่อสินเชื่อรวม