การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4G ... คาดดันยอดขายสมาร์ทโฟนปี 2559 พุ่งกว่าร้อยละ 14.7
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะต่อไปจากนี้ ธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมและการสื่อสารแบบไร้สาย โดยเฉพาะในส่วนของการให้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย 3G/4G จะเข้าสู่ยุคการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นภายใต้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัด
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมในยุคเทคโนโลยี 4G รวมถึงการเกาะกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยี 4G ของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในไทย น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยในด้านจำนวนขาย โดยน่าจะได้รับแรงผลักดันมาจาก 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดผู้บริโภคที่ยังคงใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ซึ่งปัจจุบัน มีอยู่ราว 16 ล้านเลขหมาย หรือประมาณ 10.7 ล้านราย และตลาดผู้บริโภคในกลุ่มที่ถือครองสมาร์ทโฟน 3G ที่ไม่รองรับ 4G
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2559 จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้จะสูงถึง 17.9 – 18.7 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 14.7 – 19.9 จากปี 2558 ขณะที่มูลค่าตลาด สมาร์ทโฟน ไทยจะมีมูลค่าประมาณ 93,880 – 94,480 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบแคบราวร้อยละ 5.1 – 5.8 จากปี 2558 เนื่องจาก สมาร์ทโฟน ต่อเครื่องมีราคาย่อมเยาลง จึงทำให้มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนโดยรวมมีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการขยายตัวในด้านจำนวนเครื่องที่จัดจำหน่ายได้
การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมบนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4G ซึ่งมีความเข้มข้นในการแข่งขันที่สูงขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดในด้านทรัพยากรคลื่นความถี่ และการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ในธุรกิจบริการโทรคมนาคมแบบไร้สาย อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านและการแข่งขันในยุค 4G ที่เข้มข้นขึ้น คาดว่า ย่อมก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟน 4G ในระยะถัดไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดสมาร์ทโฟนในยุค 4G น่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนมาจาก 2 ตลาดหลัก โดยตลาดแรกคือ ตลาดผู้บริโภคที่ยังคงใช้บริการในระบบ 2G ซึ่งปัจจุบัน มีกลุ่มผู้บริโภคที่ยังถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G อยู่ราว 16 ล้านเลขหมาย หรือประมาณ 10.7 ล้านราย โดยผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม สืบเนื่องจากผู้ประกอบการที่มีฐานลูกค้า 2G จำเป็นจะต้องบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการสูงสุด ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องการผลักดันให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวหันมาใช้บริการ 3G/4G ให้ได้มากที่สุด ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการน่าจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่ดึงดูดใจลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว อาทิเช่น การออกโปรโมชั่นที่เสนอให้ลูกค้าสามารถนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G เครื่องเก่ามาแลกเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ที่รองรับ 3G/4G ได้ในราคาถูก หรือออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเพื่อซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมเอง (House Brand) พร้อมเสนอแพ็กเกจการใช้บริการเสียงและข้อมูลในราคาย่อมเยา ทั้งในรูปแบบเติมเงินหรือรายเดือน เป็นต้น เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าในกลุ่มที่ยังถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็น 2G เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนบนระบบ 3G/4G
นอกจากนี้ ตลาดผู้บริโภคในกลุ่มที่ถือครองสมาร์ทโฟน 3G ที่ไม่รองรับ 4G ก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่มีส่วนสำคัญให้ตลาดสมาร์ทโฟนขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคม และกลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมน่าจะกระตุ้นและทยอยผลักดันให้ผู้บริโภคในกลุ่มที่มีพฤติกรรมใช้บริการข้อมูลความเร็วสูงผ่านโครงข่าย 3G เป็นจำนวนมาก ให้เปลี่ยนมาใช้บริการ 4G ซึ่งมีความเสถียรและความเร็วที่สูงกว่า 3G ราว 4-5 เท่า โดยเฉพาะในรูปแบบรายเดือน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอและมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจทำการออกแคมเปญให้ส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่รองรับ 4G ในกรณีที่ลูกค้าเปลี่ยนรูปแบบการใช้บริการจากเติมเงินมาเป็นรายเดือน พร้อมให้แพ็กเกจการใช้งานแบบรายเดือนในราคาที่จูงใจให้เพิ่มการใช้งานด้านข้อมูลในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งจากกลยุทธ์ทางการตลาดดังกล่าว อาจทำให้สัดส่วนสมาร์ทโฟนของกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมในตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.4 เป็นร้อยละ 40.2 ของจำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ทั้งหมดในปี 2559
ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่าย สมาร์ทโฟน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ผลิตจากจีนและเกาหลีใต้ น่าจะเกาะกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 4G ของไทย โดยทำการออกสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถรองรับการใช้งานในระบบ 4G ด้วยระดับราคาที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากนัก ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในไทย อาจทำการออกโปรโมชั่นการให้ส่วนลด หรือการเลือกผ่อนชำระค่าซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่โดยปราศจากดอกเบี้ย หรือนำเสนอของแถมมากมาย อาทิเช่น เคสโทรศัพท์ หูฟัง ไม้เซลฟี่พร้อมรีโมตชัตเตอร์ เป็นต้น เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ยังพอมีกำลังซื้อ ทำการตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่ชื่นชอบและติดตามเทคโนโลยี เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวมักจะทำการขายสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมที่ถือครองอยู่เพื่อซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ หรือซื้อเพื่อถือครองเป็นเครื่องที่สอง นั่นย่อมทำให้สมาร์ทโฟนที่จำหน่ายในตลาดโดยรวมขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในปี 2559 ตลาดสมาร์ทโฟนไทยอาจจะยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยอาจไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดของทั้งกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมและกลุ่มผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนตามที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะเป็นแรงผลักดันให้ตลาดสมาร์ทโฟนในด้านจำนวนการจัดจำหน่ายขยายตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มีการปรับมุมมองเชิงบวกต่อจำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายในไทย โดยคาดว่า จำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ในปี 2559 จะสูงถึง 17.9 – 18.7 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 14.7 – 19.9 จากปี 2558 ขณะที่มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยจะมีมูลค่าประมาณ 93,880 – 94,480 ล้านบาท ขยายตัวในกรอบแคบราวร้อยละ 5.1 – 5.8 จากปี 2558 เนื่องจากสมาร์ทโฟนต่อเครื่องมีราคาย่อมเยาลง จึงทำให้มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนโดยรวมมีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับการขยายตัวในด้านจำนวนเครื่องที่จัดจำหน่ายได้
จากการขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟนตามที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมนำพาไปสู่การขยายฐานผู้เข้าใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และปริมาณการใช้ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าใช้บริการข้อมูลของผู้บริโภครายใหม่ที่เพิ่งเปลี่ยนระบบการใช้บริการจาก 2G มาเป็น 3G/4G ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าว น่าจะมีการเข้าใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างง่ายในระยะแรก อย่างเช่น การเข้าใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างไลน์ เฟซบุ๊ค หรือยูทูป เป็นต้น และเมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการเข้าใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแล้ว น่าจะเป็นการเอื้อต่อการใช้งานบริการข้อมูลในด้านอื่นๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นในระยะถัดไป เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ หรือการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักออนไลน์ เป็นต้น และเมื่อมีการใช้บริการข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีรายได้ในส่วนของการให้บริการข้อมูลเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้บริการข้อมูลโดยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่า ในปี 2559 ผู้บริโภคไทยที่ใช้บริการข้อมูล (Non-Voice) จะมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 298 บาทต่อคนต่อเดือน เติบโตราวร้อยละ 13.4 จากปี 2558 ที่มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 263 บาทต่อคนต่อเดือน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ให้บริการโมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต อาจจะได้รับรายได้อื่นๆ จากการให้บริการธุรกิจในรูปแบบอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการข้อมูล อาทิเช่น บริการบันเทิงออนไลน์ (Mobile Entertainment) การรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (mWallet) เป็นต้น ซึ่งรายได้ในส่วนดังกล่าวน่าจะมาช่วยชดเชยในส่วนของรายได้จากการให้บริการเสียง (Voice) ที่มีแนวโน้มลดลง เพราะผู้บริโภคนิยมใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารกันมากขึ้น
ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย