อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในไตรมาส 2/2559
อัตราเงินเฟ้อไทยติดลบตลอดช่วง 12 เดือนของปี 2558 จากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงตามทิศทางตลาดโลก โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในเดือนธ.ค. 2558 ต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 0.97 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2558 และส่งผลทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อในปี 2558 พลิกกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 0.90 ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นอย่างน้อย (กระทรวงพาณิชย์เผยแพร่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคปีฐาน 2554 ในเว็บไซต์ย้อนหลังจนถึงปี 2519) สำหรับในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2/2559 ก่อนจะขยับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 (เนื่องจากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2558) อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 มีโอกาสต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 1.2 ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยติดลบเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.90 ในปี 2558 (ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไป -0.85% YoY ในเดือนธ.ค. 2558) เนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ (ในตะกร้าเงินเฟ้อ 450 รายการของกระทรวงพาณิชย์) ชะลอลง นำโดย แรงฉุดของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน (-14.5% ในปี 2558 เทียบกับ +1.7% ในปี 2557) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ และค่าไฟฟ้าที่ในระหว่างปี 2558 มีการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ Ft ถึง 4 รอบ ขณะที่ ราคาสินค้าในหมวดอาหารสด (+0.7% ในปี 2558 ชะลอลงจาก +3.5% ในปี 2557) ก็ยังคงขยับขึ้นไม่มาก แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งก็ตาม
- เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันหลายรายการเริ่มทยอยปรับตัวลงในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 2558 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นผลมาจากการปรับทบทวนโครงสร้างต้นทุนของสินค้าตามราคาน้ำมันที่ลดลง และการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี มากกว่าที่จะเป็นสัญญาณสะท้อนถึงความซบเซาของอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่กระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
- สำหรับภาพรวมอัตราเงินเฟ้อในปี 2559 มีความเป็นไปได้ที่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2559 อาจต่ำลงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เนื่องจากหากตัดตัวแปรความตึงเครียดในตะวันออกกลางออกแล้ว คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกในปี 2559 น่าจะยังมีช่วงขาขึ้นที่ค่อนข้างจำกัดท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนว่า อุปสงค์ในตลาดโลก (โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว) ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเพียงพอที่จะซึมซับกำลังการผลิตส่วนเกินของตลาดน้ำมันในปัจจุบัน
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ภาพเงินเฟ้อติดลบมีแนวโน้มที่จะลากยาวตลอดไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากการทยอยปรับลดลงของต้นทุนค่าขนส่ง อาจทำให้การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อนข้างทรงตัว และ/หรือปรับลดลงได้เล็กน้อยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ Ft งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2559 ที่ปรับลดลงต่อเนื่องอีก 1.57 สตางค์ต่อหน่วย ตามมติของที่ประชุมกกพ. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2558 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้ออาจเคลื่อนไหวในกรอบติดลบประมาณร้อยละ -0.3 ถึง -0.1 ในไตรมาส 1/2559 ก่อนที่จะกลับมาเป็นบวกเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ 2/2559 ไม่เกินร้อยละ 0.5 และอาจทยอยขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง
ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะเริ่มมีภาพชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ก็อาจเป็นปัจจัยช่วยหนุนเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อ / ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่อาจจะยังคงปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ตามปัจจัยทางด้านอุปทานและตัวแปรในฝั่งต้นทุนของผู้ผลิต อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และน่าจะยังไม่สะท้อนสถานการณ์ที่น่ากังวลมากนัก หากว่าโมเมนตัมการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศในช่วงหลังจากนี้มีความต่อเนื่อง และทยอยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย