ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ทางการเวียดนามผลักดัน โครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญของการยกระดับภาคการผลิตของเวียดนามให้เข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่เข้มข้นมากขึ้น
  • การพัฒนาโครงการโรงกลั่นฯนี้ คงจะส่งผลกระทบต่อไทยผ่านการส่งออกไปยังเวียดนาม ซึ่งมีน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกหลัก หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้า เมื่อโครงการโรงกลั่นฯทั้งหมดได้รับการพัฒนาอย่างเสร็จสมบูรณ์ ก็คงทำให้เวียดนามเปลี่ยนสถานะจากคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาเป็นคู่แข่งในการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเวียดนามมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากบทบาทที่สำคัญของภาครัฐในการเร่งพัฒนาและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนและใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน ทางการเวียดนามกำลังพยายามที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยการผลักดันโครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งแม้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง แต่หากเวียดนามสามารถพัฒนาได้สำเร็จลุล่วง ก็คงจะนำไปสู่การยกระดับภาคการผลิตภายในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีที่เข้มข้นขึ้น อันเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเวียดนามในระยะข้างหน้า

การเร่งพัฒนาโรงงานกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร....ปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับภาคการผลิตของเวียดนาม

ทางการเวียดนามกำลังเร่งส่งเสริมการลงทุนในโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร ผ่านการลงทุนร่วมระหว่างรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบให้ได้ถึง 25-30 ล้านตัน/ปี ภายในปี 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2563 (National Energy Development Strategy 2020) เพื่อใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากทรัพยากรน้ำมันดิบในประเทศที่เวียดนามมีปริมาณสำรองมากเป็นอันดับที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือราว 4.4 พันล้านบาร์เรล (ประมาณ 600 ล้านตัน) โดยปัจจุบันมีโครงการที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้วทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยแม้จะคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2563 ไปบ้าง แต่ในปี 2564 กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของเวียดนามคงจะพุ่งสูงไปถึง 27 ล้านตัน/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 99 ของประมาณการปริมาณความต้องการภายในประเทศทั้งหมด จากปัจจุบันที่สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้เพียง 6.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่ราว 21.8 ล้านตัน/ปี ในปี 2557

นอกจากนี้ โครงการโรงกลั่นฯ นี้ยังจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภาคการผลิตและความสามารถทางการแข่งขันของเวียดนามในอนาคต โดยโรงกลั่นฯ ดังกล่าวจะทำการผลิตสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตสารโอเลฟินส์ (Olefins) และอะโรเมติกส์ (Aromatics) อันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกและวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ยานยนต์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่หลั่งไหลเข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้าจากการที่เวียดนามเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) และยังได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเกิดขึ้นของโครงการโรงกลั่นฯในเวียดนามนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคการผลิตภายในประเทศ จากการใช้แรงงานเข้มข้นสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันภาคการผลิตของเวียดนามยังกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นขั้นปลายน้ำ จึงทำให้ภาคการผลิตภายในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ดังนั้น การพัฒนาโรงกลั่นฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นๆ คงจะช่วยผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมขั้นกลางน้ำ อันจะช่วยเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตในเวียดนามให้มีรูปแบบการผลิตที่ครบวงจรมากขึ้น และนำไปสู่การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนศักยภาพของแรงงานภายในประเทศ ท่ามกลางสภาวการณ์ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งมีความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงาน ได้เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเบาหรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการโรงกลั่นฯ นี้ ยังจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสินค้าส่งออกและนำเข้าในกลุ่มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ตลอดจนเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก กล่าวคือ ปัจจุบันเวียดนามมีการส่งออกน้ำมันดิบเป็นสินค้าอันดับต้นๆ แต่กลับมีการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด เนื่องจากศักยภาพโรงกลั่นฯ ในเวียดนามไม่สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติกได้มากเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ดังนั้น การเกิดขึ้นของโครงการโรงกลั่นฯนี้ คงจะช่วยตอบสนองความต้องการของสินค้าดังกล่าวภายในประเทศได้มากขึ้น และอาจทำให้เวียดนามลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ อันจะส่งอานิสงส์ต่อดุลการค้าของเวียดนามที่ยังมีแนวโน้มขาดดุล จากการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติก แต่ส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำอย่าง น้ำมันดิบ เป็นต้น นอกจากนี้ หากในอนาคตข้างหน้าโครงการโรงกลั่นฯอื่นๆ ที่ทางการได้ทำการศึกษาและวางแผนไว้ได้เริ่มก่อสร้างทั้งหมด ก็คงจะทำให้น้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติกกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเวียดนามแทนที่น้ำมันดิบในลำดับต่อไปอีกด้วย

การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติกของเวียดนาม

ปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปของเวียดนาม ซึ่งถึงแม้ว่าในช่วงปี 2554 – 2556 นั้นจะมีปริมาณการนำเข้าลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ซบเซา ทว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้นนั้น ก็ทำให้มีปริมาณการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นตามไปด้วย โดยล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 เวียดนามมีปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่ 9.2 ล้านตัน จาก 7.3 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 (YoY) ส่วนการนำเข้าเม็ดพลาสติกของเวียดนามนั้นได้มีปริมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 นี้ ปริมาณการนำเข้าเม็ดพลาสติกอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 (YoY)

หากโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรของเวียดนามก่อสร้างเสร็จทั้งหมด ตามที่ทางการได้วางแผนไว้ ก็อาจทำให้เวียดนามซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยกลายมาเป็นคู่แข่งได้ในอนาคตข้างหน้า

หากกลับมามองผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทย จากการพัฒนาโรงกลั่นฯของเวียดนาม ในระยะใกล้ยังคงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจรนี้ ถือเป็นอุตสาหกรรมหนักและต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีในการพัฒนาโครงการ ดังนั้น การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเวียดนาม (สัดส่วนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังเวียดนามในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2558) น่าจะยังคงเติบโตได้ดีจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเวียดนาม

ทว่า ในระยะปานกลาง เมื่อโรงกลั่นฯทั้งสามแห่งสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ ในปี 2564 ก็คงทำให้เวียดนามมีปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยไปเวียดนาม ในขณะที่ การส่งออกเม็ดพลาสติกไทยไปเวียดนามนั้น คงจะไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใดนัก เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกได้เอง อีกทั้งกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นค่อนข้างมีความซับซ้อน จึงทำให้การพัฒนาสายการผลิตเชิงพาณิชย์ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ประกอบกับการนำเข้าเม็ดพลาสติกของเวียดนามส่วนใหญ่นั้น นำมาเป็นทั้งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อีกทั้งเวียดนามเองยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไปยังตลาดต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน โดยในช่วงปี 2553-2557 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์และเม็ดพลาสติกขยายตัวในกรอบร้อยละ 10-30 ซึ่งกว่าร้อยละ 82 ของสินค้าส่งออกในกลุ่มดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก ดังนั้น ความต้องการเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของเวียดนามน่าจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาคการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ทั้งนี้ ในระยะยาว เมื่อประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันโลกกลับมาสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็คงจะทำให้โครงการโรงกลั่นฯของเวียดนามที่ได้มีการวางแผนไว้ เริ่มทยอยก่อสร้างทั้งหมด และเวียดนามก็คงจะกลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกสินค้าจำพวกน้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมไปถึงเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ไปยังตลาดต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสปป.ลาว ที่กำลังมีการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเชื่อมต่อกับเวียดนาม อีกทั้งจีนและญี่ปุ่น ก็มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับเวียดนาม ตอกย้ำความได้เปรียบด้านต้นทุนการขนส่ง แม้ปัจจุบันสินค้าส่งออกในกลุ่มน้ำมัน ตลอดจนเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยกับเวียดนามยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก กล่าวคือ ไทยจะเน้นการส่งออกเม็ดพลาสติกและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนและจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ เวียดนามส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มค่อนข้างต่ำเป็นหลัก

ดังนั้น การปรับตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยนั้น ภาครัฐและเอกชนควรที่จะร่วมมือกันพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้นและมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ยังเน้นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก อาทิ พลาสติกในงานวิศวกรรม พลาสติกคุณสมบัติพิเศษที่สามารถทนความร้อนและสารเคมี ตลอดจนพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของเม็ดพลาสติกไทย และรองรับความต้องการของภาคธุรกิจที่กำลังขยายตัวภายในประเทศ เช่น ธุรกิจที่อยู่อาศัยและธุรกิจสุขภาพ จากการเร่งลงทุนของโครงการภาครัฐ รวมไปถึงการขยายตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ การพัฒนาเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันทางการไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยธุรกิจที่จัดตั้งในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนสูงที่สุด อีกทั้ง เม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ ยังที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคตจากกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย