ปี 2559 เป็นอีกปีที่ยากสำหรับส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป
- ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ปี 2559 ยังคงเผชิญความยากที่จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัว ได้แก่ การเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจากกรณีที่ไทยเสียสิทธิพิเศษทางภาษี หรือ Generalized System of Preferences (GSP) ผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่สถานะใบเหลืองกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เป็นประเด็นต้องจับตาผลการพิจารณาอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดอีโคคาร์ในยุโรปเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการส่งออกในภาพรวมได้บางส่วน
- นอกจากนี้ กำลังซื้อของยุโรปปี 2559 ยังคงประคองตัวใกล้เคียงกับปี 2558 โดยสะท้อนผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ซึ่งนโยบายการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในปีนี้ แต่ยังต้องติดตามประเด็นความไม่สงบในภูมิภาคที่เป็นผลต่อเนื่องจากเหตุก่อการร้ายที่หากสถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม
- ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นที่ส่วนใหญ่ได้มีผลไปแล้วในปี 2558 แต่ก็ยังส่งผลกดดันมาถึงปีนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 ยังอยู่ในภาพหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 อยู่ในกรอบร้อยละ -1 (YoY) ถึง -3 (YoY) น้อยลงจากปี 2558 ที่ประเมินไว้ที่หดตัวร้อยละ -7 (YoY)
การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2558 เผชิญแรงกดดันหลักจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้านับตั้งแต่ไทยทยอยถูกตัดสิทธิ GSP ไปบางส่วนในปี 2557 และถูกตัดสิทธิทั้งหมดเมื่อต้นปี 2558 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูปที่คิดรวมเป็นสัดส่วนส่งออกราวร้อยละ 27 ที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการโยกย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ ประเด็น IUU Fishing ที่ไทยได้สถานะใบเหลืองได้เพิ่มแรงกดดันให้ไทยท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหาของภาครัฐและเอกชนของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไทยไป EU ในปี 2559 ยังเผชิญความท้าทายในการที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปยังติดลบอยู่ในกรอบร้อยละ -1 (YoY) ถึง -3 (YoY) น้อยลงจากปี 2558 ที่ประเมินไว้ที่หดตัวร้อยละ -7 (YoY) เพราะปัจจัยลบต่างๆ ในปี 2559 ที่ส่วนใหญ่ได้รับรู้และมีผลไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่ผลที่ต่อเนื่องทำให้ภาพรวมส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปยังหดตัวต่อไปอีกเป็นปีที่ 2 โดยมีปัจจัยหลักที่จะกระทบในปี 2559 ได้แก่
- การที่ไทยได้รับใบเหลืองจาก EU ในการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) เป็นประเด็นที่ต้องจับตาการพิจารณาสถานะอีกครั้งในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจซ้ำเติมสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูปที่ได้รับผลกระทบจากถูกตัดสิทธิ GSP ไปแล้วในปีที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความพยายามในการแก้ปัญหาของภาครัฐบาล และภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา น่าจะทำให้ภาพต่างๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งในกรณีพื้นฐาน สหภาพยุโรปน่าจะยังคงสถานะใบเหลืองให้กับประเทศไทย ซึ่งหมายความว่าจะยังไม่มีมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ทำให้ไทยจะยังคงส่งออกไปสินค้าในกลุ่มนี้ต่อไปได้ หากยังต้องเร่งแก้ไขผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อภาพลักษณ์ของสินค้าประมงไทย
- การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย กดดันการส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 และมีแนวโน้มว่าไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ทั้งจากผลกระทบที่เกิดต่อเนื่องจากการถูกตัดสิทธิ GSP อีกทั้งแรงกดดันล่าสุดจากการลงนามข้อตกลงของการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 และจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ยิ่งเสริมให้เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยมีความได้เปรียบมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป ขณะที่การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand – EU FTA) ยังไม่บรรลุข้อตกลงและยังต้องอาศัยระยะเวลา ประกอบกับ ราคาน้ำมันของตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกระทบต่อราคาในสินค้ากลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง โดยสินค้ากลุ่มนี้ก็เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 5.3
- กำลังซื้อของชาวยุโรปปี 2559 ยังทรงตัวสะท้อนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่จะประคองการเติบโตใกล้เคียงกับปี 2558 โดยประเด็นความไม่สงบในยุโรปจากเหตุก่อการร้ายในภูมิภาคยังเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์ไม่ยกระดับความรุนแรงจะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่เศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของสหภาพยุโรปอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสก็ยังไม่ฉายภาพแข็งแกร่งมากนัก ทำให้ขาดแรงส่งที่ช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังซบเซาจากปัญหาหนี้สาธารณะเรื้อรังและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการรับภาระเลี้ยงดูผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปตลอดปีที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลกดดันรายจ่ายภาคการคลังของประเทศต่างๆ ในระยะข้างหน้า โดยในแผนงานในปี 2559 สหภาพยุโรปได้จัดสรรเงินช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบที่ทยอยเบิกจ่ายในช่วงปี 2558-2559 มีจำนวนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี แรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2559 มาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ECB ที่ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน โดยการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ได้มีมติทั้งการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.05 อีกทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับติดลบเพื่อกระตุ้นการปล่อยเงินกู้สู่ภาคธุรกิจ และการขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ออกไปถึงเดือนมีนาคม 2560 จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559 นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินยูโรยังมีบทบาทช่วยหนุนการส่งออกของภูมิภาค ตลอดจนราคาน้ำมันโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำก็ยังช่วยลดทั้งต้นทุนภาคการผลิตและมีผลให้การนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานมีราคาต่ำลง ช่วยเสริมฐานะดุลการค้า ซึ่งสหภาพยุโรปพึ่งพาการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของการนำเข้าทั้งหมด
- กลุ่มสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 โดยคิดเป็นสัดส่วนส่งออกร้อยละ 8.5 จะเป็นตัวเสริมการส่งออกภาพรวมได้บางส่วน ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ได้อานิสงส์จากความต้องการรถอีโคคาร์ในยุโรปที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดขายรถยนต์ในหลายประเทศได้ฟื้นกลับมามากขึ้น อาทิ สเปน เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ภาพรวมส่งออกไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2559 ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยให้การส่งออกกลับมาดีขึ้นมากนักด้วยต้องเผชิญกับหลากปัจจัยลบ อาทิ การแข่งขันรุนแรงขึ้นจากการเสียสิทธิ GSP ของไทย ทำให้คู่แข่งทางการค้าของไทยค่อยๆ ชิงพื้นที่ตลาดในสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังกำลังซื้อในภาพรวมของสหภาพยุโรปก็ยังเป็นภาพเดียวกับปี 2558 ที่ค่อนข้างเปราะบาง รวมถึงยังต้องจับตาประเด็นการก่อการร้ายที่หากทวีความรุนแรงจะกระทบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่ขณะนี้ยังต้องอาศัยแรงผลักดันจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของ ECB ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของภูมิภาค แต่ในอีกด้านหนึ่งการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมากก็ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบในสายตาผู้บริโภค จึงอาจกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยในระยะข้างหน้าเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย