SCG Experience

ปัญหาบ้านร้อนทั้งกลางวันกลางคืนอาจเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่เจ้าของบ้านหลายท่านต้องเผชิญ ซึ่งนอกเหนือจากการลดความร้อนส่วนใหญ่ที่มาจากหลังคาแล้ว การลดความร้อนที่ผนังก็สามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านลงได้

ความร้อนจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาภายในบ้าน นอกจากจะผ่านเข้ามาทางหลังคาแล้ว ‘ผนัง’ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ควรป้องกันเช่นกัน โดยเฉพาะผนังห้องที่อยู่ทางทิศตะวันตก และทิศใต้ซึ่งต้องโดนแดดตลอดช่วงบ่าย จึงมีการสะสมความร้อนจนทำให้อุณหภูมิสูงกว่าส่วนอื่นๆ โดยถึงแม้จะเป็นช่วงกลางคืน ก็ยังรู้สึกร้อนเนื่องจากผนังคายความร้อนที่สะสมในระหว่างวันออกมา ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าอุณหภูมิจะลดลงตามที่ต้องการ และทำให้ต้องจ่ายค่าไฟมากกว่าที่ควร จึงขอแนะนำวิธีต่างๆ ที่สามารถช่วยป้องกันความร้อนที่เข้ามาทางผนังบ้านได้ ทั้งการลดความร้อนที่ผนังและช่องเปิด รวมถึงการสร้างร่มเงาให้แก่บ้าน

ลดการความร้อนที่ผนัง

สำหรับบ้านสร้างใหม่ควรเลือกใช้วัสดุก่อผนังที่มีค่าการสะสมความร้อนต่ำอย่างอิฐมวลเบา โดยที่ผนังภายนอกบ้านควรทาสีโทนอ่อนหรือโทนสว่าง เช่น สีขาว สีครีม สีพาสเทล หรือเลือกใช้สีสะท้อนความร้อน แต่หากเป็นบ้านเก่าสามารถแก้ไขได้โดยการทำผนัง 2 ชั้น (ระบบผนังโครงเบา) เพื่อเพิ่มช่องว่างอากาศในผนังซึ่งจะช่วยลดความร้อนเข้าสู่ภายในห้องได้ดีขึ้น หรือติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมที่ผนังด้านที่โดนแดดจัด เพื่อการป้องกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภาพ : การทาสีผนังบ้านภายนอกด้วยสีโทนอ่อนช่วยลดการอมความร้อนได้ดีกว่าสีโทนเข้ม สถานที่ : บ้านคุณวิสันต์ กรัณฑรัตน

ลดความร้อนที่กระจก

กระจกที่ช่องเปิดต่างๆ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ความร้อนจากแสงแดดผ่านเข้ามาได้ง่าย ทั้งทางหน้าต่าง ประตู หรือบ้านที่ออกแบบสไตล์โมเดิร์นซึ่งมักใช้กระจกแทนผนัง การเลือกใช้กระจกสองชั้น กระจกลามิเนต กระจก Low-E หรือติดฟิล์มกันรังสี UV เพิ่มเติมบนกระจกเดิม จะช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาได้มากพอสมควร รวมถึงการใช้ม่านกัน/กรองแสงยังช่วยป้องกันความร้อนได้อีกชั้นหนึ่ง

ภาพ : ติดม่านกรองแสง สถานที่ : บ้านสวนมุก หัวหิน

สร้างร่มเงาให้ผนัง

การติดตั้งระแนงหรือกันสาดรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมตามทิศทางแสงแดดในแต่ละด้านเพื่อช่วยกรองแสงแดดที่ส่องกระทบผนังและช่องเปิดจะช่วยลดความร้อนที่สะสมในผนังได้ โดยสำหรับบ้านที่ยังไม่ได้สร้าง ควรออกแบบให้มีชายคายื่นออกมา 1.5 – 2 เมตร จะช่วยกันแดดได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้หากมีพื้นที่โดยรอบบ้านพอสมควร ควรปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงา โดยหากเป็นต้นไม้ใหญ่ควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านอย่างน้อย 2-3 เมตร เพื่อป้องกันต้นไม้บังทิศทางลม

ภาพ : ติดตั้งระแนงกันสาดตามแนวทางเดินรอบบ้านเพื่อกันแดดและฝน สถานที่ : บ้านคุณเกด-เจษฎ์สุภา พิพัฒนสุภรณ์ และคุณจี๊ป-ปริญญา ณรงค์ธนรัฐ

ภาพ : การติดตั้งระแนงกันแดด สถานที่ : Muay House, บ้านคุณอิษฎา แก้วประเสริฐ, AREE HOUSE

ภาพ : ลักษณะชายคาที่ยื่นออกมาเพื่อการป้องกันแสงแดดได้ดียิ่งขึ้น สถานที่ : Coffee Hill Resort

นอกจากนี้ การออกแบบทิศทางช่องเปิด และลักษณะการวางตัวบ้านหรืออาคารก็ส่งผลต่ออุณหภูมิภายในบ้านเช่นกัน โดยการออกแบบที่ดีควรหลีกเลี่ยงการทำประตู หน้าต่าง หรือช่องเปิดต่างๆ ในทิศตะวันตก โดยควรทำเป็นผนังทึบหรือจัดพื้นที่เป็นห้องเก็บของ/ห้องน้ำ เพื่อป้องกันแดดส่องเข้าบ้านโดยตรง และควรมีช่องเปิดที่ผนังทิศเหนือและทิศใต้เพื่อรับกับทิศทางลมตลอดปี ส่งผลให้บ้านหรืออาคารหลังนั้นมีการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม รวมถึงในทิศตะวันออก อาจมีระแนง หรือม่านเพื่อช่วยกรองแสงในช่วงสาย นอกจากนี้พื้นรอบบ้านยังสามารถช่วยลดอุณหภูมิลงได้โดยการปูหญ้า หรือบล็อกปูพื้น เอสซีจี รุ่น Cool Plus แทนการเทพื้นคอนกรีตที่มีค่าการอมความร้อนสูง โดยสามารถสอบถามสถาปนิกจาก SCG ได้ก่อนการตัดสินใจ

ภาพ : (บน) ทำผนังทึบในทิศตะวันตกเพื่อป้องกันแสงแดด, (ล่าง) ออกแบบหลังคาเพื่อป้องกันแดดร่วมไปกับการติดม่าน และการปลูกต้นไม้ สถานที่ : บ้านสวนมุก หัวหิน

ขอบคุณข้อมูล จาก : www.scgbuildingmaterials.com