ตรุษจีนปีวอก : คาดเม็ดเงินจับจ่ายสะพัดทั่วกรุงฯ 6,100-6,200 ล้านบาท ... คนจีนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แม้รุ่นเก่าจะเป็นตัวชูโรงผลักดันการเติบโตของตลาด
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจับจ่ายเพื่อการเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯปี 2559 จะมีเม็ดเงินประมาณ 6,100-6,200 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2-3 หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 3,500 บาทต่อครัวเรือน โดยการเติบโตจะมาจากกลุ่มลูกค้าหลักที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีนรุ่นเก่าที่ยังคงให้ความสำคัญกับการซื้อของเซ่นไหว้ที่ครบถ้วน ขณะที่กลุ่มลูกหลานจีนรุ่นใหม่เน้นหันมาจับจ่ายเท่าที่จำเป็น
- ในระยะข้างหน้า กลุ่มลูกหลานชาวจีนที่จะมาสืบทอดประเพณีตรุษจีนอาจจะลดน้อยลง อย่างไรก็ดี ก็ยังมีกลุ่มลูกหลานชาวจีนบางส่วนที่ยังคงต้องการสืบทอดประเพณี แต่ติดปัญหาด้านเวลา และความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวสอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการจับจ่าย กับกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในการเลือกซื้อจับจ่ายของไหว้มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะช่วยให้เทศกาลตรุษจีนยังคงสร้างเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจได้ในอนาคต
เทศกาลตรุษจีน ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ต่างก็คาดหวังถึงความคึกคักของการจับจ่ายใช้สอยของลูกหลานชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทย เนื่องจากวันไหว้ในปีนี้ตรงกับวันหยุด สะดวกต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของลูกหลานจีนรุ่นใหม่ วัยทำงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมของลูกหลานจีนที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการแยกครอบครัวออกไป ขณะที่คนจีนรุ่นเก่าก็ลดจำนวนลง ส่งผลให้เทศกาลตรุษจีนในระยะข้างหน้า อาจให้ภาพที่ไม่คึกคักหากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าดังกล่าวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่สอดคล้องกับคนจีนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และจะเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญที่ก้าวมามีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า
พฤติกรรมลูกหลานจีนที่แปรเปลี่ยน ... กระตุ้นผู้ประกอบการต้องปรับธุรกิจรับมือแม้ว่าชาวจีนในกรุงเทพฯ จะยังคงยึดมั่นต่อประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะการจัดพิธีไหว้ในเทศกาลตรุษจีน แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม และกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมลูกหลานคนจีนเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนในสังคมลูกหลานของคนจีนรุ่นใหม่ๆ ก็คือ มีการแยกครอบครัวไปเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าบางส่วนจะยังมีความเชื่อความศรัทธาเช่นคนรุ่นก่อน แต่อาจมีอุปสรรคบางประการที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการไหว้ เช่น ข้อจำกัดของที่พักอาศัยอย่าง อพาร์ทเมนท์หรือคอนโดมีเนียม ทำให้ไม่สะดวกต่อการประกอบพิธีไหว้ หรือการที่ลูกหลานจีนรุ่นใหม่บางส่วนที่แม้จะยังคงมีความต้องการสืบทอดประเพณี แต่ก็ติดปัญหาความเข้าใจในการจัดของเซ่นไหว้ด้วยตัวเอง อีกทั้งมีข้อจำกัดทางด้านเวลาในการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ เป็นต้น ดังนั้น จากสิ่งที่เกิดขึ้นหากมองในมุมของโอกาสทางธุรกิจ ก็พบว่า การเข้ามาอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการจับจ่ายเครื่องเซ่นไหว้ให้กับคนกลุ่มนี้ ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการจับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าที่มีการใช้จ่ายในเทศกาลตรุษจีนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักคือ ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม (ตลาดสดใกล้บ้าน เยาวราช) และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และอีกกลุ่มที่น่าจับตาก็คือกลุ่มร้านอาหารที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีจุดขายที่จับกลุ่มลูกค้าแตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม : ทั้งตลาดสดตามชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งมีของให้เลือกหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ได้รับความนิยมสูงจากในกลุ่มแม่บ้านเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน ยังให้การตอบรับน้อย จากข้อจำกัดเรื่องความไม่สะดวกในการเข้าไปใช้บริการ เนื่องจากเวลาเลิกงานเป็นช่วงที่ร้านค้าในตลาดปิด ขณะที่ตลาดเยาวราชเอง จะมีจุดเด่นทางด้านสินค้าหลากหลายโดยเฉพาะกระดาษไหว้เจ้า รวมทั้งอาหารแห้งต่างๆ ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเน้นจับตลาดกลุ่มคนจีนดั้งเดิมที่มีกำลังซื้อสูง แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีจำนวนลดลงตามลำดับ อีกทั้งอุปสรรคของผู้ประกอบการกลุ่มนี้คือ ยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีเวลาไปซื้อเช่นเดียวกับตลาดสด
- ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ : เข้ามามีบทบาทในตลาดเครื่องเซ่นไหว้ โดยชูจุดเด่นทางด้านสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดรวมเป็นเซ็ตแบบครบครัน ทั้งเนื้อสัตว์ ผลไม้ กระดาษไหว้เจ้า รวมทั้งมีข้อได้เปรียบด้านความสะดวกในการเข้าถึง ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าคนวัยทำงาน รวมทั้งกลุ่มที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีเวลาในการจัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้เอง อย่างไรก็ดี ในสินค้าบางรายการอาจมีราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป และความหลากหลายของสินค้าบางรายการที่อาจจะมีให้เลือกน้อยกว่า
- กลุ่มร้านอาหาร : เป็นผู้เล่นรายใหม่ที่สนใจเข้ามาในตลาดเครื่องเซ่นไหว้ โดยอาศัยสินค้าที่จำหน่ายอยู่เดิมเป็นฐานการตลาด อาทิ เมนูอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่สามารถใช้เป็นของเซ่นไหว้ได้ ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญคือ รสชาติและความสะดวกในการหาซื้อ โดยเมนูที่ได้รับความนิยมจะอยู่ในกลุ่มอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ เช่น เป็ดย่าง (ทั่วไปใช้เป็ดพะโล้) และอาหารที่สื่อถึงความเป็นมงคล ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ดี สินค้าส่วนใหญ่มักมีราคาค่อนข้างสูงหากเทียบกับท้องตลาดทั่วไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยสภาพพฤติกรรมของลูกหลานจีนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานจีนที่บางส่วนยังคงต้องการสืบทอดประเพณีตรุษจีน แต่ติดขัดด้วยข้อจำกัดต่างๆ อาจส่งผลให้ตลาดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลตรุษจีน จำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญก็คือ การอำนวยความสะดวกทางด้านเวลา รวมทั้งความเข้าใจรายละเอียดของพิธีกรรมให้กับผู้ซื้อมากที่สุด ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
แนวทางการปรับตัวของธุรกิจเพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
ตรุษจีนปี 2559 ... เม็ดเงินใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้มูลค่า 6,100-6,200 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2-3สำหรับเทศกาลตรุษจีนในปี 2559 นี้ แม้ว่าปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน จะเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของภาคประชาชน แต่ดังที่กล่าวในเบื้องต้นว่า กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าวัยกลางคนถึงสูงอายุยังคงเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายหลัก เนื่องจากยังยึดมั่นในการประกอบพิธีไหว้ในเทศกาลตรุษจีน และมักจะจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไว้ครบถ้วนตามพิธีกรรมนั้น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ อาจจะไม่ส่งผลต่องบประมาณค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนมากนัก ขณะที่กลุ่มลูกหลายจีนรุ่นใหม่ พบว่า กลุ่มนี้ค่อนข้างมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายตามปัจจัยด้านกำลังซื้อ และคาดว่าเม็ดเงินจากลูกค้ากลุ่มนี้อาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ของคนกรุงเทพฯ ในช่วงตรุษจีนปี 2559 จะอยู่ที่ประมาณ 6,100-6,200 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในขณะที่งบประมาณเฉลี่ยในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้อยู่ที่ครัวเรือนละ 3,500 บาท เทียบกับ 3,300 บาทในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 200 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น ผู้ซื้อมองว่าเกิดจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นในช่วงเทศกาล
โดยสรุป ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเซ่นไหว้ ยังคงมีโอกาสสร้างรายได้ในเทศกาลตรุษจีน แต่อาจจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนจีนรุ่นใหม่ที่ยังคงสนใจสืบทอดประเพณีที่จะมีบทบาทในระยะถัดไป ซึ่งกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของความสะดวกในการเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ รวมทั้งความรู้ความถูกต้องของขั้นตอนพิธีกรรม ซึ่งหากผู้ประกอบการเข้ามาเติมเต็มในส่วนนี้ได้ ก็คาดว่าน่าจะช่วยให้เทศกาลตรุษจีนยังคงสร้างเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจได้ในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย