ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • การหารือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้ง 4 ประเทศ โดยคงปริมาณการผลิตน้ำมันให้เท่ากับเดือนมกราคม 2559 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ประกอบกับอิหร่านยังคงไม่มีท่าทีที่จะลดกำลังการผลิตลง ซึ่งการหารือรอบนี้ยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ปริมาณการผลิตส่วนเกินลดลงและมีผลทำให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นได้มากนักในระยะสั้น กระนั้นก็ดี ในระยะต่อไปยังต้องติดตามท่าทีระหว่างแกนนำ OPEC กับประเทศนอกกลุ่มว่าจะร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพให้ราคาน้ำมันไม่ไถลลงไปมากกว่านี้ได้หรือไม่
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันที่ต่ำลงในรอบ 1-2 ปีนี้ มีสัญญาณว่าคงไม่กลับไปเร่งตัวสูงมากเหมือนในอดีต สะท้อนว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากการค้าน้ำมัน ควรหันกลับมาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยการให้น้ำหนักมากขึ้นกับการพัฒนาทรัพยากรด้านอื่น ให้เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะการปรับตัวคงต้องอาศัยระยะเวลา
  • การอ่อนแรงของเศรษฐกิจผู้ค้าน้ำมันกดดันให้การส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกไปยังประเทศผู้ค้าน้ำมันในปี 2559 จะหดตัวราวร้อยละ 8-17 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 17.6 ในปี 2558 กระทบต่อสินค้าอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อเศรษฐกิจ อาทิ สินค้ายานยนต์ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรกล รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยอาจจำกัดการใช้จ่ายต่อเนื่องในปีนี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยให้มีแนวโน้มปรับตัวลงต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ปี 2559 การแข่งขันช่วงชิงตลาดน้ำมันร้อนแรงมากขึ้น ทั้งประเด็นข้อพิพาทระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านนำไปสู่ชนวนการประกาศลดราคาน้ำมันงวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ให้แก่ตลาดเมดิเตอร์เรเนียนและตลาดยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อช่วงชิงตลาดดั้งเดิมของอิหร่านที่ขณะนี้สามารถกลับมาจำหน่ายน้ำมันได้อีกครั้งจากการยกเลิกการคว่ำบาตร ตามมาด้วยการที่อิหร่านใช้มาตรการเช่นเดียวกันปรับลดราคาน้ำมันงวดส่งมอบเดือนมีนาคม 2559 เพื่อชิงตลาดเอเชียจากซาอุดีอาระเบีย สถานการณ์ดังกล่าวผนวกกับการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดจีน และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ทวีแรงกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปั่นป่วนอย่างมาก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวใกล้เคียง 30 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล หลังจากลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันที่ต่ำลงยาวนาน กัดกร่อนรายได้จากการส่งออกน้ำมันและกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลาง (GCC อิรัก อิหร่าน) แอฟริกา (ลิเบีย ไนจีเรีย ซูดาน อัลจีเรีย) อาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน) และประเทศผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคต่างๆ (รัสเซีย คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน นอร์เวย์ เวเนซุเอลา โคลัมเบีย โบลิเวีย เอกวาดอร์) ซึ่งแรงกดดันด้านรายได้ที่ลดลงค่อนข้างมาก ฉุดดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงขึ้น กระทบต่อรายได้รัฐบาล และฐานะการคลังขาดดุล ท่ามกลางความจำเป็นต้องรัดเข็มขัดควบคู่กับการใช้มาตรการภาคการคลังในการประคองเศรษฐกิจไปด้วย ตอกย้ำความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ โดยความท้าทายสำคัญในการพาให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากวิกฤตน้ำมันในรอบนี้คงขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแต่ละประเทศที่สะท้อนผ่านปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงและหนี้ภาครัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำ โดยมีเพียงซาอุดีอาระเบีย อัลจีเรีย คูเวตที่น่าจะแข็งแกร่งยืนหยัดได้ยาวนานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ต้องยอมรับว่าประเทศผู้ค้าน้ำมันส่วนใหญ่กำลังเผชิญข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น จะเห็นได้จากเวเนซุเอลาที่มีความเสี่ยงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจก็เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต รวมถึงรัสเซียที่ถูกปัญหาราคาน้ำมันซ้ำเติมให้ปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมรุนแรงขึ้น และหากมองย้อนกลับมายังประเทศผู้ค้าน้ำมันในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไน ที่นอกจากรายได้จากน้ำมันจะลดลงแล้ว ยังถูกกระทบทางอ้อมผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญก็ถูกกดดันให้ลดลงอย่างมาก ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก

แม้ปัญหาราคาน้ำมันผันผวนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในขณะนี้ กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้ามองในระยะยาวแล้วปัจจัยที่จะเป็นแรงกดดันราคาน้ำมันไม่ได้มีเพียงปัจจัยด้านอุปทานน้ำมันส่วนเกินเท่านั้น แต่การพัฒนาพลังงานทดแทน รวมไปถึงเทคโนโลยีรถยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบอื่นๆ ก็อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันในอนาคตเช่นกัน ซึ่งคงถึงเวลาแล้วที่ประเทศเหล่านี้จะต้องตระหนักถึงการสร้างรายได้ทางอื่นเข้ามาบรรเทาความเสี่ยงจากราคาน้ำมันผันผวนในระยะข้างหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เป็นโจทย์เร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะต้องอาศัยระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดศักราชใหม่แก่ประเทศผู้ค้าน้ำมันในระยะยาว ซึ่งประเทศผู้ค้าน้ำมันมีโอกาสพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ ขึ้นมาได้อีกในอนาคต โดยอาศัยประโยชน์รายได้มหาศาลจากธุรกิจน้ำมันเพื่อมาพัฒนาธุรกิจที่น่าสนใจ อาทิ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสถาปัตยกรรมทันสมัย การพัฒนาภาคการเงินระหว่างประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อยอดจากการผลิตน้ำมัน การวิจัยและพัฒนาสินค้าแห่งอนาคตที่ต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก และแหล่งท่องเที่ยวสันทนาการครบวงจร เป็นต้น โดยแต่ละประเทศอาจมีจุดเด่นหรือทรัพยากรที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องวางแนวทางพัฒนาภาคส่วนนั้นๆ ให้มีบทบาทในการเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจมีความทนทานในการรับมือกับปัจจัยลบที่เข้ามาในแต่ละช่วงเวลา

แรงกระเพื่อมจากเศรษฐกิจผู้ค้าน้ำมันกระทบไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำยาวนาน มีส่วนกดดันความต้องการสินค้าส่งออกของไทยไปประเทศผู้ค้าน้ำมันให้ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ17.6 ในปี 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ความอ่อนแรงของกำลังซื้อในประเทศผู้ค้าน้ำมันอาจส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2559 โดยตลาดมาเลเซีย อินโดนีเซียและตะวันออกกลางที่เป็นตลาดสำคัญกำลังเผชิญความท้าทายอย่างมาก รวมทั้งตลาดในภูมิภาคอื่นที่คาดว่าจะกระทบต่อสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศผู้ค้าน้ำมันก็อาจระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในภาพรวมนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 19.4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย หรือคิดเป็นจำนวน 5.8 ล้านคน ในปี 2558 นำโดยชาวมาเลเซีย ตามมาด้วยรัสเซีย ชาติอาหรับ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียน่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อนเนื่องจากราคาน้ำมันซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ ขณะที่ชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียอาจจำกัดการใช้จ่ายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวชาวอาหรับน่าจะยังคงเดินทางมาเที่ยวไทยต่อเนื่องจากปี 2558 ที่เติบโตร้อยละ 10.1 มีจำนวน 603,001 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2.41 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทย โดยมีความน่าสนใจตรงที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง มียอดการใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทยเฉลี่ย 5,679 บาท/วัน/คน สูงเป็นอันดับ 3 รองจากฮ่องกงและสิงคโปร์ และนักท่องเที่ยวอาหรับยังเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายเดินทางมาพักผ่อนพร้อมกับดูแลสุขภาพ ซึ่งมักจะมีผู้ติดตามมาพร้อมกัน แต่หากการชะลอตัวของกำลังซื้อชาวอาหรับกินเวลายาวนานกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ในระยะต่อไปอาจกระทบต่อธุรกิจไทยที่รองรับนักท่องเที่ยวอาหรับ ในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล โรงแรม สันทนาการ และการดูแลสุขภาพ

สำหรับผลกระทบทางอ้อมที่เกิดกับไทยนั้น ในด้านหนึ่งการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศซึ่งมีราคาต่ำลง จะช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าและเอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ในทางตรงกันข้าม ผลลบที่เกิดต่อราคายางพาราและผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ราคาอิงกับน้ำมัน เป็นปัญหาเร่งด่วนของเกษตรกรไทยในขณะนี้ และกระทบการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทย (น้ำมันสำเร็จรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก) ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อยาวนานออกไป อาจเป็นปัจจัยฉุดภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังตลาดต่างๆ ในปี 2559 ต่อเนื่องจากปี 2558 โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

โดยสรุป ในระยะสั้นไทยอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศผู้ค้าน้ำมันและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งกระทบสู่การค้าและการท่องเที่ยวของไทยในปี 2559 ขณะที่ปัจจัยจากการที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ เวเนซุเอลา และรัสเซียร่วมมือกันตรึงปริมาณการผลิตน้ำมันไว้ที่ระดับ ณ เดือนมกราคม 2559 ประกอบกับท่าทีของอิหร่านก็ยังไม่ช่วยให้ราคาน้ำมันขยับขึ้นได้มากนัก แต่มีนัยว่าความร่วมมือกันระหว่างแกนนำ OPEC และสมาชิกนอกกลุ่ม ก็มีน้ำหนักต่อการกำหนดอุปทานการผลิตน้ำมัน ซึ่งอาจรักษาเสถียรภาพระดับราคาไม่ให้ต่ำไปกว่านี้

ทั้งนี้ หากสัญญาณความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันนำไปสู่ความมีเสถียรภาพของราคาน้ำมันมากขึ้นในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ ก็อาจช่วยพยุงให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศผู้ค้าน้ำมันหดตัวชะลอมาที่ร้อยละ 8 จากที่หดตัวร้อยละ 17.6 ในปี 2558 แต่ถ้าหากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวต่ำในระดับปัจจุบันราว 30 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรลต่อเนื่องตลอดทั้งปี ก็มีโอกาสกดดันให้การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวอาจหดตัวสูงใกล้เคียงกับร้อยละ 17 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สำหรับภาคธุรกิจที่พึ่งพาตลาดในประเทศผู้ค้าน้ำมันนั้น ในระยะสั้นคงต้องกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น การหาตลาดใหม่ ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้สินค้าไทยทำตลาดได้สะดวกมากขึ้น

สำหรับการปรับตัวในระยะต่อไป ควรต้องติดตามความเคลื่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศผู้ค้าน้ำมันเหล่านี้ ในการพลิกโฉมเศรษฐกิจของประเทศให้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน ซึ่งเป็นโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบการในสาขาที่สอดคล้องกับความชำนาญของธุรกิจไทย อาทิ การแปรรูปอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร การรับเหมาก่อสร้าง งานบริการด้านสันทนาการและการท่องเที่ยว รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่ในระยะข้างหน้าอาจเห็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกิดขึ้นจากประเทศเหล่านี้

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย