ผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกยังคงขยายสาขา แม้ตลาดออนไลน์เติบโต จีนเป็นเป้าหมายหลักในเอเชียแปซิฟิก ขณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมมากขึ้น
7 มีนาคม 2559 – จากรายงานการวิจัยเรื่อง “ผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวอย่างไร” ฉบับที่ 7 ของซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก ระบุว่า การเติบโตของยอดขายสินค้าทางออนไลน์ไม่สามารถเปลี่ยนแผนการขยายสาขาของผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกในปี 2559 ได้
ขณะที่ ประเทศในทวีปยุโรปเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจอันดับต้นๆ ของโลกในการขยายพื้นที่ค้าปลีกในปีนี้ จีนครองอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยผู้ค้าปลีก 27% วางแผนจะขยายสาขาในจีน ตามด้วยฮ่องกงในอันดับ 6 (24%) ญี่ปุ่นในอันดับ 7 (22%) สิงคโปร์ในอันดับ 9 (21%) ส่วนทำเลที่ได้รับความสนใจในอันดับต้นๆ ของโลก อันดับ 1 คือ เยอรมนี (35%) ตามด้วยฝรั่งเศส (33%) และสหราชอาณาจักร (29%)
ประเด็นสำคัญอื่นๆ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก :- จีนและฮ่องกงยังรั้งอันดับ 4 และ 6 ตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่น (อันดับ 7) สิงคโปร์ (อันดับ 9) และออสเตรเลีย (อันดับ 11) นั้นขยับสูงขึ้นจากอันดับ 13, 18 และ 15 ตามลำดับ
- ตลาดส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในปี 2559 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยกเว้นจีนและเกาหลีใต้ที่ดูเหมือนจะได้รับความสนใจลดลงเล็กน้อย
- ขณะเดียวกัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยมาเลเซีย (10%) อินโดนีเซีย (9%) ไทย (8%) เวียดนาม (8%) และฟิลิปปินส์ (8%) ต่างได้รับความสนใจมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากปี 2558 ขณะที่ตลาดโดยรวมได้รับความสนใจเพิ่มโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-3%
เมื่อถามถึงปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ แบรนด์ต่างๆ ให้คำตอบว่า ค่าใช้จ่ายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น (56%) และแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน (42%) เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ
ดร.เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่มีความท้าทายมากกว่าที่ผ่านมาและมีข้อกังวลต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูง และปริมาณพื้นที่ค้าปลีกคุณภาพที่มีน้อย ส่งผลให้ผู้เช่ามีความระมัดระวังมากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดในจีนและฮ่องกงจะชะลอตัว เรายังเห็นว่าผู้เช่าที่มองเห็นถึงโอกาสมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อขยายไปสู่ตลาดอย่างฮ่องกง ซึ่งมีแรงสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่ยังแข็งแกร่ง ด้านญี่ปุ่นและออสเตรเลียยังคงได้รับความสนใจ ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่สูงขึ้น เนื่องจากยังมีโอกาสสำหรับผู้ค้าปลีกจากการขยายตัวของชนชั้นกลางและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น”
นายโจเอล สตีเฟน ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี เอเชีย ให้ความเห็นว่า “ผู้ค้าปลีกยังคงมีโอกาสที่จะขยายธุรกิจในเอเชีย เพราะมีประเทศในเอเชียติดอันดับเป้าหมายยอดนิยมระดับโลกถึง 4 ประเทศ เป้าหมายหลักของผู้ค้าปลีกที่ต้องการพื้นที่ร้านค้า คือ การสร้างข้อเสนอที่สามารถดึงดูดลูกค้าให้อยู่ที่ร้านนานขึ้นและใช้จ่ายมากขึ้น”
การมีหน้าร้านยังคงเป็นสิ่งสำคัญผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 83% ของแบรนด์ระบุว่า แผนการขยายสาขาในปี 2559 จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่ผู้ค้าปลีกมองว่า มีเพียง 22% ของแบรนด์เท่านั้นที่กังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงกับโลกออนไลน์ในฐานะคู่แข่งทางธุรกิจ ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกมองว่าการขยายเครือข่ายร้านค้านั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดี 17% ของผู้ค้าปลีกมีความตั้งใจที่จะขยายมากกว่า 40 สาขาในปี 2559 (เพิ่มขึ้นจาก 9% จากปี 2558) ขณะที่ส่วนใหญ่ (67%) ต้องการขยายมากสุด 20 สาขา
“การมีหน้าร้านในทำเลหลักนั้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และต้องสร้างความผูกพันด้านจิตใจกับลูกค้าด้วย ลูกค้าต้องยังรู้สึกว่าอยากไปซื้อของที่ร้าน สัมผัสกับตัวสินค้า และมีความรู้สึกที่ดีพร้อมกับการได้รับประสบการณ์เฉพาะของแบรนด์นั้นๆ หน้าร้านมีความสำคัญต่อการซื้อสินค้า และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น รับสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์ไว้ วิจัยเกี่ยวกับสินค้าหรือแบรนด์ หรือทดลองสินค้า มิใช่เป็นแต่เพียงเพื่อการซื้อขายสินค้าเท่านั้น” นายโจเอลกล่าว
แนวโน้มใหม่สำหรับปี 2559 แสดงให้เห็นว่าในปีนี้มี 5 แบรนด์ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา (EMEA) ตั้งใจที่จะขยายสาขาไปยังศูนย์กลางการเดินทาง เช่น สนามบินและสถานีรถไฟ เนื่องจากเป็นทำเลที่คึกคักมีลูกค้าเดินเข้าออกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ค้าปลีกที่มาจากเอเชียแปซิฟิก ศูนย์การค้ายังคงเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดด้วยอัตราสูงถึงเกือบ 90%
ขณะที่ปัจจัยที่แบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกเป็นกังวลในการเจรจาต่อรองการเช่าพื้นที่ คือ ระยะเวลาการเช่า แต่ผู้เช่าที่มาจากเอเชียแปซิฟิกมีความกังวลมากที่สุด คือ เรื่องค่าเช่าที่คำนวณจากผลประกอบการ (GP) ซึ่งมีการกำหนดค่าเช่าขั้นต่ำไว้ด้วย นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (40%) ซึ่งเป็นระดับความกังวลที่มีมากกว่าทั่วโลก (31%)
ขอบคุณข้อมูล จาก : www.cbre.co.th