ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • จากการที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวนับจากต้นปี ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ โดยมองว่ามีโอกาสจะขยายตัวประมาณ 4%YoY (กรอบคาดการณ์ 3.0-5.0%) ซึ่งเป็นระดับที่ไม่หนีไปจากปีที่ผ่านมานัก
  • สำหรับทิศทางการดำเนินงานของผู้ประกอบการในปีนี้ คาดว่าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ยังคงดำเนินนโยบายสินเชื่อที่ระมัดระวัง คัดกรองลูกค้าใหม่เข้มงวด และมุ่งเจาะตลาดลูกค้าคุณภาพ เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างรายได้จากการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ขณะที่กลุ่มนอนแบงก์บางรายยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าสู่พื้นที่ต่างจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้และลดการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ภาพรวมตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2558 ที่ผ่านมาขยายตัวในกรอบที่จำกัด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า จากแรงกดดันของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน ส่งผลให้ภาคการส่งออกหดตัว ประกอบกับภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และสถานการณ์ภัยแล้ง สร้างแรงกดดันต่อรายได้ของลูกค้ารายย่อยระดับกลางลงล่าง ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล โดยการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งจำนวนบัญชี และยอดคงค้างสินเชื่อในปีที่ผ่านมาได้แรงหนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มนอนแบงก์เป็นหลัก ประกอบกับการเข้ามาแข่งขันในตลาดของผู้เล่นรายใหม่ ในขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากการดำเนินนโยบายสินเชื่ออย่างระมัดระวังต่อเนื่องจากปี 2557 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 พบว่า ยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบอยู่ที่ระดับ 3.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น ยอดคงค้างของสินเชื่อในกลุ่ม นอนแบงก์จำนวน 1.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% YoY และยอดคงค้างของสินเชื่อในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 1.58 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% YoY ส่งผลให้กลุ่มนอนแบงก์สามารถพลิกกลับมาครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2554

แนวโน้มปี 2559...ยังไม่ใช่ปีที่โดดเด่นของสินเชื่อส่วนบุคคล

แม้ว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2559 อาจเห็นแรงส่งที่ชัดเจนขึ้นในช่วงหลังของปี โดยเฉพาะหากการผลักดันโครงการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามแนวทางและกรอบเวลาที่วางไว้ แต่ในระหว่างทาง ยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายประการ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสม ภัยแล้ง และการชะลอตัวของภาคส่งออกที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จนอาจสั่นคลอนเสถียรภาพด้านรายได้ของแรงงานและผู้มีรายได้ประจำที่หลายกลุ่มมีภาระหนี้สินอยู่แล้ว ดังนั้น จากทิศทางดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่าผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลจะยังคงนโยบายการทำตลาดด้วยความระมัดระวัง ประกอบกับสินเชื่อส่วนบุคคลยังต้องแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ใกล้เคียง อาทิ บัตรเครดิตที่เสนอให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินเป็นเงินสดได้ในเงื่อนไขดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ที่อาจเข้ามาแย่งตลาด ส่งผลให้คาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้จะขยายตัวในระดับค่อนข้างต่ำต่อเนื่องที่ประมาณ 4% โดยมีกรอบการคาดการณ์ที่ 3.0-5.0% (เทียบกับอัตราการขยายตัวของปี 2558 ที่ 3.8%) หรือคิดเป็นมูลค่าวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นสุทธิราว 8,900 – 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาลงเป็นรายกลุ่มของผู้ประกอบการ คงมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันในรายละเอียด โดย ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คาดว่าจะสะท้อนภาพนโยบายการทำตลาดอย่างระมัดระวังค่อนข้างชัดเจน ผ่านการมุ่งเน้นคุณภาพของลูกค้า มากกว่าเร่งอัตราเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล โดยอาจให้ความสนใจต่อกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีประวัติเครดิตดีเป็นพิเศษ ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง/เล็กน่าจะมีนโยบายที่ยืดหยุ่นกว่า โดยเฉพาะตลาดลูกค้าเป้าหมายระดับกลางขึ้นไปที่ยังคงมีเสถียรภาพด้านรายได้ดี เพื่อตอบโจทย์ในการสร้างฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย ท่ามกลางการดูแลความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่รับได้ ควบคู่กับการรักษาคุณภาพสินทรัพย์อย่างใกล้ชิด

ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการนอนแบงก์ น่าจะยังเป็นแกนหลักที่ประคองอัตราการขยายตัวของตลาดโดยรวมไว้ เนื่องจากสินเชื่อส่วนบุคคลถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มนอนแบงก์ ดังนั้น หากปรากฎว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังจริงตามคาด ก็น่าจะยิ่งเห็นบทบาทของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ชัดเจนขึ้น แม้ว่าจะยังคงการดูแลความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพบว่าในปีนี้ผู้ประกอบการทั้งนอนแบงก์และธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการให้บริการผ่านช่องทางดิจิตอล อาทิ เว็บไซต์ และโมบายแอพพลิเคชั่น มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางเสริมที่ช่วยขยายฐานลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

นโยบายเครดิตที่ยังคงระมัดระวัง น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านปัญหาคุณภาพหนี้ในระดับหนึ่ง
ในปี 2559 คาดว่านโยบายเครดิตที่ผู้ประกอบการจะยังคงเน้นหนัก ได้แก่

(1) การคัดกรองลูกค้าใหม่อย่างเข้มงวด โดยยกระดับเกณฑ์ด้านรายได้และเกณฑ์ด้านภาระหนี้ต่อรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ (2) การพิจารณาประวัติการใช้จ่ายและการชำระหนี้ยาวขึ้น (3) การปรับลดสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อรายได้ (4) การเฝ้าระวังความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ผ่านการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบเครดิตบูโร พร้อมระบบทวงหนี้ทันทีที่ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่รอบบัญชีแรก (5) การใช้นโยบายปรับโครงสร้างหนี้อย่างทันท่วงที เช่น การให้ส่วนลดเพื่อปิดบัญชี เพื่อป้องกันการตกชั้นของสินเชื่อจนนำมาสู่การเพิ่มของ NPL

ดังนั้น ด้วยการบริหารนโยบายเครดิตในเชิงรุกดังกล่าว ควบคู่กับการที่ผู้ประกอบการบางส่วนอาจเลือกที่จะตัดขายพอร์ตสินเชื่อที่มีปัญหาด้านคุณภาพออกไปให้บริษัทภายนอกบริหารจัดการ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยประคองสถานการณ์หนี้ NPL ในภาพรวม ให้อยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลและยังสามารถบริหารจัดการได้ นอกจากนี้มองว่าผู้ประกอบการทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ยังมีการกันสำรองรองรับปัญหาการถดถอยของคุณภาพหนี้อย่างเหมาะสม โดยจากข้อมูลของผู้ประกอบการบางราย สะท้อนถึงระดับการกันสำรองที่สูงกว่ามูลค่าหนี้ NPL คงค้างหลายเท่าตัว

ทิศทางการแข่งขันในปี 2559 คาดว่า ใช้หลากกลยุทธ์...เจาะตลาดลูกค้าคุณภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์การแข่งขันในปีนี้ ยังมีทิศทางที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการ ดังนี้
  • ธนาคารพาณิชย์ มุ่งหาตลาดลูกค้าคุณภาพ โดยคาดว่าการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ด้านราคายังมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในธนาคารขนาดกลาง/เล็ก ที่ยังให้น้ำหนักในการทำตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อขยายขนาดพอร์ตสินเชื่อบุคคลให้ใหญ่ขึ้นกว่าในปัจจุบัน ขณะที่ธนาคารใหญ่ยังคงเน้นการขายตรง/ทางโทรศัพท์ เพื่อเสนอโครงการ Refinance ที่มีการลดดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มลูกค้าเก่าที่มีประวัติเครดิตดี ซึ่งเป็นการชิงส่วนแบ่งตลาดที่อาจไม่ได้ส่งผลให้สินเชื่อโดยรวมทั้งระบบเติบโตดีขึ้นมากนัก สำหรับกลยุทธ์การแข่งขันที่น่าจะเป็นสีสันของผู้เล่นกลุ่มนี้ คือ การนำเสนอนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับการพิจารณาสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบออนไลน์นอกสถานที่อย่างสะดวกรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการโดยตรง รวมถึงการพัฒนาการให้บริการผ่านช่องทางดิจิตอล เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของลูกค้า
  • นอนแบงก์รายใหญ่ คาดว่ายังมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกโปรโมชั่น/สิทธิพิเศษตามโอกาส ควบคู่ไปกับการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ด้านราคาเป็นระยะ เพื่อขยายและรักษาฐานลูกค้าที่มีคุณภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายยังคงมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าสู่พื้นที่ต่างจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มรายได้และลดการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าสินเชื่อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
  • นอนแบงก์รายเล็ก/รายใหม่ คาดว่าจะเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้า (Niche Market) โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานระดับล่าง/จบใหม่ ในพื้นที่ กทม. และหัวเมืองใหญ่ที่มีความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลสูง ผ่านขยายสาขาให้ทั่วถึงในรูปแบบที่แปลกใหม่ เช่น สไตล์คอฟฟี่ช็อป รวมทั้งนำเสนอเงื่อนไขการให้บริการที่ยืดหยุ่น เพื่อดึงดูดใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ โดยไม่เน้นกลยุทธ์ด้านราคามากนัก เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงของลูกค้า

สำหรับโปรโมชั่นที่คาดว่าน่าจะเป็นเรือธงในการกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2559 ได้แก่ แคมเปญผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการในระยะเวลานานตั้งแต่ 10 เดือน - 60 เดือน ตามความต้องการของลูกค้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บขึ้นกับโปรโมชั่นและร้านค้าพันธมิตร ตั้งแต่ 0% ขึ้นไป รวมถึงโปรโมชั่นลดอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะฐานลูกค้ารายได้ระดับสูงที่ผู้ประกอบการอาจเสนอเงื่อนไขดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 20% นอกจากนี้ยังเน้นนำเสนอบริการที่รวดเร็ว อนุมัติไว และสามารถรับเงินสดได้ทันที พร้อมการตั้งจุดให้บริการสินเชื่อนอกสถานที่ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ยังมีอยู่ กลยุทธ์การบริหารต้นทุนก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการดำเนินงานธุรกิจสินเชื่อบุคคล โดยผู้ประกอบการคงให้น้ำหนักกับการทำตลาดผ่านพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อหาลูกค้าเพิ่มเติมจากช่องทางธุรกิจเดิม และลดต้นทุนการประชาสัมพันธ์แบรนด์ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ภายใน เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงการพิจารณาขายหนี้ที่ติดตามยากให้แก่บริษัทที่เชี่ยวชาญ เพื่อลดความซับซ้อนในการติดตามหนี้ภายหลัง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย