เปิด "แหล่งเงินลงทุน" เมกะโปรเจ็กต์สยบกังขา...รัฐไม่มีเงิน
ปี 2559 นี้ รัฐบาลตั้งความหวังกับการลงทุนภาครัฐไว้สูง เพราะจะเป็นการ "เบิกร่อง" ให้เอกชนลงทุนตาม เพื่อจะได้ "ปั๊ม" เศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตพอที่จะบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังสามวันดีสี่วันไข้ได้
โดยในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ที่ "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลัง เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า จะผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ให้เซ็นสัญญาและเบิกจ่ายเงินลงทุนได้ประมาณ 10 โครงการภายในปีนี้
สอดคล้องกับ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคม ที่คอนเฟิร์มล่าสุดว่าจะเปิดประมูล 11 โครงการ มูลค่าลงทุน 785,794 ล้านบาท ภายในไตรมาส 2 หลังจากนายกรัฐมนตรีได้ใช้มาตรา 44 "ปลดล็อก" เกี่ยวกับรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ายุคใดสมัยใด การผลักดันโครงการลงทุนที่มีมูลค่าสูงๆ หรือ "เมกะโปรเจ็กต์" มักเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งแน่นอนคำถามคำโตที่ "หน่วยงานเจ้าของโครงการ" หรือแม้แต่บรรดา "บิ๊กรับเหมา" มักจะโยนมากลางวงเสมอๆ ก็คือ "รัฐมีเงินลงทุนหรือไม่"
ทั้งนี้ หากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะได้คำอธิบายว่า แหล่งเงินลงทุน หรือ "ฟันดิ้ง (Funding)" จะประกอบไปด้วย
1) งบประมาณ 2) เงินกู้ 3) เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจเอง 4) การเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) 5) อื่นๆ
โดยแหล่งเงินกู้ถือว่าเป็นฟันดิ้งที่สำคัญ ซึ่งจะมีการบรรจุการกู้เงินของโครงการต่างๆ ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะแต่ละปี
ทั้งนี้ สำหรับแผนประจำปีงบประมาณ 2559 ได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่มีแผนกู้เงินในปีนี้อยู่ด้วยกันราว 10 โครงการ คิดเป็นเงินกู้รวม 79,304.36 ล้านบาท
"กฤษฎา จีนะวิจารณะ" ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า การลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยหากสามารถเร่งเมกะโปรเจ็กต์ได้ตามแผนก็จะเป็นผลดีมาก ซึ่งในเรื่องแหล่งเงินลงทุนนั้นไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลมีกรอบกู้เงินได้ถึง 20% ของงบประมาณประจำปี
โดยหลังปรับปรุงแผนบริหารหนี้ ครั้งที่ 1 ไปแล้ว ยังมีกรอบคงเหลือ (Room) ให้กู้เงินในหมวดต่าง ๆ ได้อีกรวม ๆ แล้ว 581,313.41 ล้านบาท จากเพดานทั้งหมดตามกรอบกฎหมายที่ปีนี้จะกู้ได้ทั้งสิ้น 1,409,593.39 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) การกู้เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณคงเหลือกู้ได้อีก 203,593.39 ล้านบาท จากที่ใส่ไว้ในแผนกู้เงินไปแล้ว 390,000 ล้านบาท 2) การค้ำประกันและการกู้มาให้กู้ต่อ (กู้ในประเทศ) คงเหลือกู้ได้อีก 194,426.49 ล้านบาท จากที่ใส่แผนกู้ไว้แล้ว 349,573.51 ล้านบาท 3) การกู้ต่างประเทศและการกู้มาให้กู้ต่อ (กู้เงินตราต่างประเทศ) คงเหลือกู้ได้อีก 183,293.53 ล้านบาท จากที่ใส่ไว้ในแผนกู้แล้ว 88,706.47 ล้านบาท
ขณะที่ "ธีรัชย์ อัตนวานิช" รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อธิบายว่า ตามแผนบริหารหนี้จะใส่แผนการกู้เงินไว้เฉพาะโครงการที่ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว อย่างรถไฟทางคู่ก็ใส่ไว้ในแผน 2-3 เส้นทาง อย่างไรก็ดี หากช่วงระหว่างปี กระทรวงคมนาคมสามารถเร่งรัดโครงการอื่น ๆ ให้มีความพร้อมขึ้นมาได้ ก็สามารถปรับเข้ามาไว้ในแผนบริหารหนี้ได้อีก เพราะการกู้เงินในปีงบประมาณ 2559 นี้ยังมี Room อีกมาก
"เรื่องแหล่งเงินทุนไม่ใช่ปัญหา ขอเพียงหน่วยงานเจ้าของโครงการทำโครงการให้คืบหน้าจนสามารถเบิกจ่ายได้ก็พอ ซึ่งตามวงเงิน 11 โครงการที่กระทรวงคมนาคมพูดถึงที่มีวงเงิน 785,794 ล้านบาทนั้น เป็นกรอบวงเงินทั้งหมด แต่การเบิกจ่ายจริงปีนี้ใช้ไม่ถึงอยู่แล้ว เราก็ทยอยกู้ให้โครงการที่พร้อมเบิกจ่ายไป" รองผู้อำนวยการ สบน.กล่าว
สำหรับระดับหนี้สาธารณะล่าสุด มียอดคงค้าง ณ วันที่ 31 ม.ค. 2559 จำนวน 5,980,660.67 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งตามแผนกู้เงินปีงบประมาณ 2559 ประเมินว่าถึงสิ้นปีงบประมาณระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 45.1% เท่านั้น ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60% อีกพอสมควร
ทั้งหมดนี้เป็นการการันตีจากฟากกระทรวงการคลังว่าเรื่องเงิน (กู้) ไม่ใช่ปัญหา...
อยู่ที่ว่าโครงการที่จะลงทุน "พร้อม" เบิกจ่ายได้จริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ขอบคุณข้อมูล จาก : www.thaippr.com/a>