ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • ในภูมิภาคอาเซียน “ไทย” ถือเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism โดยพิจารณาจากจำนวนคนไข้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ดี คู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียต่างก็ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำตลาดดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ไทยควรที่จะรักษาจุดแข็งด้านต่างๆ โดยเฉพาะคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาและการให้บริการที่เป็นมิตร พร้อมกับการชูกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism อย่างต่อเนื่อง
  • ท่ามกลางกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะเห็นว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติยังคงรักษาอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11.7 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ซึ่งสูงกว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากกลุ่มลูกค้าคนไทยที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 7.0 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด Medical Tourism จะเป็นตลาดที่เข้ามามีบทบาทในการทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากขึ้น
  • อย่างไรก็ดี การขยายตลาด Medical Tourism ก็จะต้องตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเป็น Medical Hub ที่รองรับกับตลาดคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และความมั่นคงในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานแก่คนในประเทศ

ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่พยายามผลักดันให้ตนเองกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีประเทศอื่นที่ถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งแต่ละประเทศต่างชูจุดเด่นและศักยภาพทางการแพทย์ของตนเองเพื่อดึงดูดและรองรับกับตลาด Medical Tourism ให้เข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในประเทศของตนเอง ซึ่งตลาดดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายๆ ประการนอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาที่แต่ละประเทศต่างได้รับการยอมรับจากคนไข้ชาวต่างชาติแล้ว พบว่า แต่ละประเทศต่างมีการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ที่แตกต่างกัน โดยจุดแข็งที่สำคัญของประเทศไทยนอกจากความมีชื่อเสียงในการรักษา คือ ความคุ้มค่าคุ้มราคา รวมทั้งความมีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและจูงใจให้กลุ่ม Medical Tourism เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทยมากขึ้น

เปรียบเทียบศักยภาพในการเป็น Medical Hub ของประเทศที่สำคัญในอาเซียน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายๆ ประการนอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานในในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกำลังซื้อในประเทศที่ซบเซา รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติสูงกลับเติบโตได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวม

ในช่วงปี 2557-2558 ภาวะกำลังซื้อของคนในประเทศที่ลดลงได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้คนไทยสูง ทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนคนไข้คนไทยสูงเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ต่ำกว่ารายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมที่เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.0 ต่อปี (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) ในทางกลับกัน รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับตลาดคนไข้ต่างชาติกลับเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรวมที่ร้อยละ 11.7 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) โดยมีรายได้ที่มาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.1 (ค่าเฉลี่ยปี 2557-2558) สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดคนไข้ต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นจับตลาดคนไข้ต่างชาติสามารถเติบโตได้สูงกว่าภาพรวมของตลาด

สำหรับทิศทางธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด Medical Tourism จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยจะเห็นได้จากรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25 ของรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชน ในปี 2554 เป็นกว่าร้อยละ 30 ในปี 2558 และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก การทำการตลาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนไข้ชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่ม Medical Tourism เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสรองรับกับกลุ่มลูกค้า EXPAT ที่สนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจหรือเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) มากขึ้น โดยจะเห็นได้จาก การเข้ามาลงทุนทางตรงของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ใน CLMV ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ต่อปี (CAGR ปี 2552-2557) จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยจะรองรับกลุ่มลูกค้า EXPAT ที่เข้ามาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากระบบการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านอาจจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนขยายฐานลูกค้าไปยัง Medical Tourism...แต่ตลาดหลักแข่งขันสูง ควรมองหาตลาดใหม่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายฐานลูกค้ากลุ่ม Medical Tourism นับว่าเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยท่ามกลางตลาดลูกค้าในประเทศที่กำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากกำลังซื้อที่ยังคงซบเซา

หากพิจารณาในแง่ของจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติ พบว่า ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2559 อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยของคนไข้ชาวต่างชาติจะอยู่ที่ประมาณ 3.2 ล้านครั้ง แบ่งเป็นตลาด Medical Tourism 2.6 ล้านครั้ง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติ ในขณะที่กลุ่มลูกค้า EXPAT มีประมาณ 6 แสนครั้ง หรือประมาณร้อยละ 20 ของจำนวนคนไข้ชาวต่างชาติ

สำหรับบริการด้านสุขภาพที่ได้รับความนิยมของกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ที่เข้ามารับการรักษาในไทย ส่วนใหญ่เป็นบริการตรวจสุขภาพ (Check Up) ร้อยละ 17 ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ ศัลยกรรมความงาม (ร้อยละ 14) และทันตกรรม (ร้อยละ 11) ตามลำดับ

เมียนมาและตะวันออกกลาง ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เดิมอาจจะไม่ได้เน้นจับกลุ่มคนไข้ต่างชาติมากนัก แต่การรุกตลาดนี้ ผู้ประกอบการก็คงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงจากผู้เล่นหลักที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว

  • เมียนมา ระบบการรักษาพยาบาลในเมียนมายังไม่พัฒนาเทียบเท่าระดับสากล อีกทั้งยังไม่เพียงพอต่อการรองรับกับความต้องการของคนในประเทศ ทำให้กลุ่มมีกำลังซื้อของเมียนมาเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานในการรักษา อีกทั้งยังได้รับการบริการเป็นที่น่าพอใจ คุ้มค่าคุ้มราคา และมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จนทำให้เมียนมากลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญและมีจำนวนเข้ารับการรักษาพยาบาลมากเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยหลายแห่ง
  • ตะวันออกกลาง เนื่องด้วยการให้บริการรักษาพยาบาลของไทยค่อนข้างหลากหลายและครบวงจร ไม่ต้องรอคิวนาน อีกทั้งยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (ท่องเที่ยว ค้าปลีก) ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนในครอบครัวหรือผู้ติดตามของผู้ป่วย พร้อมกับเอกลักษณ์ของการบริการที่เป็นมิตร ซึ่งสามารถปรับตัวให้สอดรับกับอุปนิสัยของคนตะวันออกกลางได้ดี ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเป้าหมายและเป็นที่ชื่นชอบสำหรับการเข้ามาใช้บริการ Medical Tourism ของคนกลุ่มนี้อย่างมาก จนทำให้บางประเทศอย่างคูเวตให้สิทธิคนไข้สามารถเบิกค่าใช้จ่ายประกันสังคมในโรงพยาบาลเอกชนของไทยได้

สำหรับปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำนั้น ก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลของคนไข้กลุ่ม Medical Tourism บ้าง โดยเฉพาะจากผู้ติดตามหรือญาติคนไข้ แต่ผลกระทบต่อจำนวนคนไข้ตะวันออกกลางที่เข้ามารับการรักษาในไทยจะยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากคนไข้ตะวันออกกลางส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลโดยตรง (Direct Fly-in) โดยสะท้อนได้จากการรายได้ค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มลูกค้าจาก UAE ของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งในปีที่ผ่านมายังคงขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 (YoY)

ประเด็นสำคัญ คือ แม้ว่าตลาดเมียนมาและตะวันออกกลางจะมีแนวโน้มขยายตัว แต่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่สนใจจะขยายฐานลูกค้าต่างชาติในกลุ่มนี้ ก็อาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นกับผู้เล่นหลักที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของลูกค้ามายาวนาน ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายฐานลูกค้าเมียนมาและตะวันออกกลางอาจจะต้องชูกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นหรือแตกต่าง อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโรงพยาบาลเอกชนไปทำให้เป็นที่รู้จัก การชูความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางในด้านต่างๆ โดยอาจจะให้สอดคล้องไปกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเจาะตลาด เช่น การรักษาโรคเฉพาะทางที่เน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็ก เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถทำการตลาดผ่านช่องทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินสาย Road Show พร้อมนำเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยไปให้บริการ ก็น่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งแต่ละครั้งทางโรงพยาบาลก็อาจจะยกทีมไป ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ อาจจะมีการทำตลาดผ่านตัวแทนของโรงพยาบาล/บริษัททัวร์ หรือการทำการตลาดผ่านสื่อต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ หรือ Social Media รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น

ขยายฐานลูกค้า Medical Tourism ให้ครอบคลุมตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ จีน และบางประเทศในอาเซียน (เวียดนาม อินโดนีเซีย) เนื่องจากเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งตลาดดังกล่าวถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ อีกทั้งระบบสาธารณสุขในประเทศอาจจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ ส่งผลให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลยังต่างประเทศ และไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งประเทศเป้าหมายสำหรับลูกค้ากลุ่มดังกล่าว

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกจากการทำตลาดกลุ่มลูกค้าหลักแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้า Medical Tourism ไปยังตลาดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับตัวและชูกลยุทธ์การตลาดและการให้บริการที่สอดรับกับความต้องการของลูกค้าดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ตลาด Medical Tourism ยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวจากการเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการแพทย์และการท่องเที่ยว ส่งผลให้การขยายตลาด Medical Tourism เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะรองรับหรือขยายฐานลูกค้าต่างชาติกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะกำลังซื้อของคนในประเทศยังคงซบเซา การขยายธุรกิจไปยังตลาด Medical Tourism ก็นับเป็นอีกหนึ่งหนทางการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ช่วยรักษาหรือประคองรายได้โดยรวมของธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางด้านการแพทย์ของไทยอย่างยั่งยืน การขยายการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตทั้งในกรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจหลักและรองนั้น ผู้ประกอบการควรจะตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาซึ่งถือเป็นจุดแข็งของไทย รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเป็น Medical Hub ที่รองรับกับตลาดคนไข้ชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และความมั่นคงในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานแก่คนในประเทศ

ขอบคุณข้อมูล จาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย