สนข. จัด Market Sounding ชวนเอกชนร่วมพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน สะดวกเดินทาง "สร้างแลนด์มาร์กใหม่" ระดับอาเซียน
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการ สัมมนาทดสอบความสนใจนักลงทุน ( Market Sounding ) โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร โรงแรม กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า มาร่วมภายในงาน
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินการศึกษาและออกแบบเบื้องต้นการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 10 สายทาง โดยเฉพาะสถานีรถไฟกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ทำให้การพัฒนาการบริการระบบขนส่งมวลชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่ 2,325 ไร่ มีกิจกรรมทางด้านการพัฒนาพื้นที่ประกอบด้วย พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่พัฒนาโครงการ กม.11 และพื้นที่ย่านตึกแดง ได้มีการออกแบบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาเชื่อมต่อทางเดินเท้า มีการเชื่อมต่อการเดินทางภายในและบริเวณโดยรอบด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อและจุดกำเนิดการเดินทางในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน
การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบการเสวนาหัวข้อ "การพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณสุภาพรรณ สง่าศรี ผู้จัดการโครงการ นำเสนอรูปแบบการพัฒนาโครงการ และเป้าหมายของการจัด Market Sounding ในครั้งนี้ คุณณภัสสร์ยา ธำรงสมบัติสกุล ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการตลาด-อสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงการตลาดและแนวแกนเชื่อมต่อการเดินทางกับการพัฒนาพื้นที่โครงการและระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง และนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนหลักและระบบขนส่งมวลชนรองในพื้นที่ พร้อมด้วยคุณอธิป พีชานนท์ กรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความเป็นไปได้ของแนวทางการพัฒนาโครงการ โดยมี รศ.มานพ พงศทัต ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยการเสวนาในครั้งนี้คือรูปแบบการพัฒนาโครงการ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน
การพัฒนาโครงสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางและสิทธิการพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์กลางการคมนาคม (โซน D) เนื้อที่รวมกว่า 83 ไร่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ประมาณ 1,065,920 ตร.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งอยู่ใจกลางเชื่อมต่อระหว่างแนวแกนทางเดินเท้าทั้งแบบเหนือดินและบนดิน ระหว่างสถานีระบบขนส่ง ทางรางต่างๆ ตลอดจนสถานีขนส่งย่อย บขส. โดยทางเดินเท้าเชื่อมต่อแบบเหนือดิน (Skywalk) ที่เชื่อมต่อหลักกับสถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร จะมีระยะทางรวมประมาณ 1.3 กิโลเมตร ทางเดินเชื่อมต่อระดับดินไปยังสถานีย่อย บขส. มีระยะทางรวมประมาณ 1.4 กิโลเมตรทั้งนี้มูลค่าการลงทุนรวมของโครงสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางกว่า 1,000 ล้านบาท และประเมินคร่าวๆ หากรวมมูลค่าการพัฒนาพื้นที่โซน D เต็มศักยภาพประมาณ 1 ล้านตารางเมตร ก็จะมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท
การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรองด้วยรูปแบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุงเนื้อที่กว่า 7 ไร่ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมการเดินทางภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธินให้เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีจุดขึ้นลงทั้งหมด 16 สถานี ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สำคัญๆ ในบริเวณพื้นที่ 2,325 ไร่ ที่มีรูปแบบเป็นเลนแยกเฉพาะที่มีเอกสิทธิในการจราจรก่อนระบบอื่นในพื้นที่ มีระยะทางรวมประมาณ 10 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,700 ล้านบาท
ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินแล้วเสร็จ จะส่งผลให้พื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับการเดินทางด้วยระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) และรถไฟความเร็วสูงในอนาคต