โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา เห็นชอบเกี่ยวกับ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลกลับมาให้ความสำคัญแผนปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังอีกครั้ง หลังจากถูกกระแสตีกลับกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ต้องเบรกแผนปฏิรูปภาษีมาตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา

รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังค่อนข้างมาก โดยเป็นแผนมาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีภาษีตัวใหญ่ๆ ที่ผลักดันสำเร็จไปแล้วคือภาษีมรดก ส่วนภาษีอีกตัวกำลังถูกจับตาว่าจะผลักดันสำเร็จภายในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ คือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งคณะทำงานร่างกฎหมายภาษีที่ดินทำงานเงียบๆ มานานนับปี และแว่วว่าจะมีการเสนอเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 26 เมษายนนี้

ในเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าเสนอร่างกฎหมายเพื่อบรรจุวาระ ครม.แล้ว เดิมทีทีมเศรษฐกิจตั้งใจให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีที่ดิน ผ่าน ครม.พร้อมกัน เพื่อให้เห็นว่าการปฏิรูปภาษีมีทั้งให้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ภาษีที่ดินยังรอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนของวาระ ครม. ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปจากกำหนดเดิม

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีผลปีภาษี 60

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผ่าน ครม. จะมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2560 ผู้เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561 ภาษีนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 3.2 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอีกเท่าตัว เดิมค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลอยู่ที่ 40% ของรายได้ หรือไม่เกิน 6 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 50% ของรายได้ หรือไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนค่าลดหย่อนจาก 3 หมื่นบาท เป็น 6 หมื่นบาท ค่าลดหย่อนบุตรจาก 1.5-1.7 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 3 หมื่นบาท ไม่จำกัดจำนวนบุตรจากเดิมจำกัดไว้เพียง 3 คน โครงสร้างภาษีใหม่ทำให้มนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ต่อเดือนไม่ถึง 2.6 หมื่นบาทไม่ต้องเสียภาษี จากก่อนหน้านี้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ยืนยันว่า มีผู้ได้ประโยชน์คือผู้คนเสียภาษีกว่า 8.8 ล้านราย จากจำนวนผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11 ล้านราย เพราะค่าลดหย่อนที่ได้มากขึ้น ทำให้ภาระภาษีลดลง และจากค่าลดหย่อนมากขึ้นหลายรายการ จะทำให้มีผู้ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 1 ล้านราย จากขณะนี้มีกลุ่มคนที่ยื่นแบบฯแต่ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีมีอยู่ 2 ล้านราย เพิ่มเป็น 3 ล้านราย

ส่วนกลุ่มคนรวยที่เคยเสียภาษีในอัตรา 35% จำนวนกว่าหมื่นราย จะมีภาระภาษีลดลง 6% เนื่องจากมีการปรับปรุงอัตราภาษีสูงสุด 35% ใหม่จากเดิมเงินได้สุทธิมากกว่า 4 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35% เป็นเงินได้มากกว่า 5 ล้านบาท จ่ายภาษีในอัตรา 35% ส่วนช่วงเงินได้มากกว่า 2-4 ล้านบาท เดิมจ่ายภาษีอัตรา 30% เป็นเงินได้มากกว่า 2-5 ล้านบาท จ่ายอัตรา 30% ส่วนขั้นรายได้อื่นๆ ยังคงเดิมคือรายได้สุทธิ 1-3 แสนบาท เสียภาษี 5% มากกว่า 3-5 แสนบาท เสียภาษี 10% มากกว่า 5-7.5 แสนบาท เสียภาษี 15% มากกว่า 7.5 แสนบาท-1 ล้านบาท เสียภาษี 20% มากกว่า 1-2 ล้านบาท เสียภาษี 25%

นายประสงค์กล่าวอีกว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดก่อนหน้านี้ ทำให้ภาระภาษีสูงสุดมีอัตราใกล้เคียงกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงอัตราลดหย่อนที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจใน ปัจจุบัน เพราะอัตราลดหย่อนเดิมนั้นใช้มานานกว่า 15 ปี

ยันไม่ขึ้นแวตจาก 7%

นายอภิศักดิ์ได้ให้ความมั่นใจว่า มาตรการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม ขึ้น ผลักดันให้ประชาชนกล้าใช้จ่าย เมื่อประชาชนนำเงินมาใช้จ่ายทำให้รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ยืนยันว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นแวตจากปัจจุบันเก็บอยู่ 7% เนื่องจากขณะนี้งบประมาณยังมีเพียงพอ ส่วนในอนาคตหากเศรษฐกิจฟื้น หากมีความจำเป็นต้องขึ้นแวตจะต้องพิจารณาอีกครั้ง

แวตถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงนี้ เนื่องจากแวตถูกต่ออายุ 7% มานานหลายปี ครั้งล่าสุด ครม.มีมติต่ออายุ 1 ปี ถึง 30 กันยายน 2559 ถ้ารัฐบาลไม่เสนอ ครม.เพื่อต่ออายุลดแวต ทำให้แวตเด้งกลับไปเก็บที่ 10% ตามกฎหมายที่กำหนดไว้

แวตถือเป็นภาษีที่เป็นรายได้อันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าจัดเก็บปีละกว่า 7 แสนล้านบาท ดังนั้น การขึ้นแวต 1% จะมีผลทำให้รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 7 หมื่นล้านบาท หรือถ้าเก็บเท่ากับอัตราในกฎหมาย 10% ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นทันที 2 แสนล้านบาท แต่การขึ้นแวตไม่ง่าย เนื่องจากจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น กระทบต่อการบริโภค ทำให้เกิดความชะงักของการใช้จ่ายประชาชน

ที่ผ่านมาหากจะมีการต่ออายุลดแวต จะเสนอ ครม.ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพื่อให้เกิดความชัดเจน และจากคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงการคลังจะเสนอต่ออายุแวตอีกครั้งในเร็วๆ นี้

เตรียมเดินหน้าจัดเก็บภาษีดิน

ในการประชุม ครม.สัปดาห์นี้ คงต้องติดตามให้ดีว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะถูกเสนอเข้าที่ประชุมหรือ ไม่ เพราะนายสมคิดระบุชัดเจนว่า ได้เสนอเพื่อบรรจุวาระเข้า ครม.แล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ ครม. จะบรรจุวาระทันวันที่ 26 เมษายนนี้ได้หรือไม่

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายสมคิดยืนยันว่าการเก็บภาษีนี้จะไม่กระทบประชาชนที่มีรายได้น้อย และคนที่เพิ่งมีบ้านหลังแรก เพราะเริ่มเก็บภาษีจากบ้านและที่ดินที่มีราคาประเมินเกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น นายสมคิดขอเปิดเผยภายหลัง ครม.เห็นชอบแล้ว

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นกฎหมายอาถรรพ์ ที่ใครเข้ามาแตะต้องและพยายามผลักดันต้องมีอันเป็นไปทางการเมืองเกือบทุกราย อย่างรายล่าสุด นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่พยายามผลักดัน ก็ต้องออกจากตำแหน่งเพราะเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด ส่วนรัฐบาลประชาธิปัตย์เคยเสนอผ่าน ครม.และไปรอเพื่อบรรจุวาระในสภาแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียก่อน กฎหมายถูกตีกลับมาดองไว้ที่กระทรวงการคลังหลายปี

ล่าสุดเมื่อต้นปี 2558 กฎหมายเคยเตรียมเสนอเข้า ครม. แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งเบรกกฎหมายไว้ เพราะมีกระแสต่อต้านค่อนข้างมาก พล.อ.ประยุทธ์จึงขอให้กระทรวงการคลังกลับไปทบทวนกฎหมายใหม่ เพื่อความรอบคอบ และลดผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการไม่เก็บภาษีจากบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท พร้อมกำชับให้ทำกฎหมายนี้ให้เงียบที่สุดจนกว่าจะผ่าน ครม.

คลังทำแผนปฏิรูปเพื่ออนาคต

เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้เน้นปฏิรูปภาษี เนื่องจากพบว่าภาษีที่จัดเก็บในไทยนั้นมีสัดส่วน 20.6% ของจีดีพี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการ พัฒนา หรือโออีซีดี ที่อยู่ในระดับ 40.1% ของจีดีพี และไทยยังต่ำค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนภาษีมีสัดส่วน 24.5% ของจีดีพี ซึ่งไทยเองยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก หลายล้านล้านบาท และรายจ่ายของประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น จำเป็นต้องปรับปรุงภาษีให้สอดคล้องกับรายจ่าย และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป

กระทรวงการคลังวางแผนปฏิรูปภาษีไว้กว่า 24 เรื่อง ที่ผ่านมาเดินหน้าไปแล้วกว่าครึ่งทาง อาทิ ภาษีมรดก ปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุน ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตในสินค้าบาป ขึ้นภาษีน้ำมัน ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอี ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้น ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นำระบบการรับจ่ายเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์)

ยังเหลือเรื่องที่ยังรอนโยบาย อาทิ ขยายฐานภาษีมลพิษ เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าที่ทำลายสุขภาพ อาทิ เครื่องดื่มที่มีความหวาน น้ำมันหล่อลื่น ปรับปรุงภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้า เงินโอนเพื่อคนจน (NIT)

การปฏิรูปภาษีของไทยมีจุดเน้นใน 4 เรื่องใหญ่ คือ
  1. สร้างฐานรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว
  2. การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
  3. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
  4. ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม

การที่ ครม.ผ่านข้อเสนอปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้แล้ว ทำให้คนในกระทรวงการคลังใจชื้นว่า แผนปฏิรูปภาษีที่ยังเหลืออยู่จะสามารถเดินหน้าได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะถ้าไม่เร่งทำภายในรัฐบาลนี้ คงยากที่จะให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาดำเนินการ

ที่มา : นสพ.มติชน ขอบคุณข้อมูล จาก : บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)