ธปท.แจงไม่ประหลาดใจตัวเลขส่งออก เม.ย.ดิ่ง ชี้เพราะวันหยุดเยอะ ยืนยันส่งออกปี 59 ติดลบ 2% แจงจีนปรับลดค่ากลางเงินหยวนลง 1.5% ยังไม่กระทบค่าเงินบาท เป็นการปรับปกติ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากกรณีตัวเลขการส่งออกในเดือน เม.ย.2559 ที่ติดลบ 8% นั้น มองว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ประหลาดใจกับตัวเลขที่ออกมา เนื่องจากในเดือนดังกล่าวมีปัจจัยเฉพาะเข้ามากดดันค่อนข้างมาก อาทิ มีวันหยุดยาวหลายวัน ทำให้มีคำสั่งซื้อและผลิตล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน การปิดโรงกลั่นที่สำคัญหลายแห่ง

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์มีการปรับโครงสร้างการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยกดดันชั่วคราว ที่คาดว่าจะส่งผลถึงการส่งออกในเดือน พ.ค.2559 ด้วย โดย ธปท.จะติดตามตัวเลขการส่งออกและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะยังขยายตัวติดลบ 2%

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในปัจจุบัน ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับเดียวกับสกุลเงินต่างๆ ในภูมิภาค ยังไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยปัจจัยที่ต้องระมัดระวังและจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน คือ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย.นี้ โดยเชื่อว่าเฟดจะพิจารณานโยบายการเงินจากข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก

“ระหว่างนี้จะมีความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปิดความเสี่ยง เพราะค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวใน 2 ทิศทาง คือ ทั้งอ่อนค่าและแข็งค่า แต่ยืนยันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไม่น่ากังวล เนื่องจากไทยมีเสถียรภาพและความแข็งแกร่งด้านต่างประเทศ โดยมีเงินกู้ยืมต่างประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยไม่สูงเช่นกัน ขณะที่สภาพคล่องในระบบมีสูงเพียงพอ หากนักลงทุนต่างชาติไถ่ถอนพันธบัตร หรือมีการไหลออกของเงินทุนบ้างก็ไม่มีปัญหา” นายวิรไทกล่าว

อย่างไรก็ดี กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความเป็นห่วง เรื่องการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจนอาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจนั้น กนง.พร้อมติดตามใกล้ชิด โดยยอมรับว่าในสภาวะที่ประเทศมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงอาจต้องนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบ้าง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีการปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดลดลง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในระยะยาวได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย

ด้าน นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางของจีนปรับลดค่าเงินหยวนลง ว่า การปรับลดค่ากลางเงินหยวนให้อ่อนค่าลงประมาณ 1.5% นั้น เป็นการกำหนดอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนตามกลไกปกติ โดยค่ากลางเงินหยวนที่ปรับอ่อนค่าลงดังกล่าวเป็นไปตามภาวะตลาดและสอดคล้องกับแนวโน้มของค่าเงินในภูมิภาค และค่าเงินหยวนนอกประเทศจีน (Offshore Yuan) ที่อ่อนค่าลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การอ่อนตัวของค่ากลางของเงินหยวน ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทมากนัก โดยการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของค่าเงินภูมิภาคขึ้นอยู่กับการคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นสำคัญ

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipost