ไทยเฮ! ผลจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันปี 59 จาก IMD ขยับเพิ่ม 2 อันดับมาอยู่ที่ 28 อานิสงส์ด้านเศรษฐกิจและประสิทธิภาพภาครัฐแกร่ง ชูจุดเด่นการจ้างงาน-ท่องเที่ยว นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เปิดเผยว่า ในปี 2559 ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD ของไทยดีขึ้นทั้งโดยคะแนนและอันดับ โดยคะแนนรวมในปีนี้เท่ากับ 74.681 เพิ่มขึ้น 4.90 คะแนนจากปีที่ผ่านมา และมีอันดับอยู่ที่ 28 ซึ่งดีขึ้น 2 อันดับ จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 30 จากทั้งหมด 61 ประเทศทั่วโลก โดยฮ่องกงอยู่อันดับที่ 1 สวิตเซอร์แลนด์อยู่ในอันดับที่ 2 ขณะที่สหรัฐอันดับที่ 3 ลดลงจากเดิมอยู่อันดับที่ 1 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ประเทศอาเซียนที่อยู่ในการจัดอันดับนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอันดับดีขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอันดับต่ำลง 1-6 อันดับ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการ กพข. เปิดเผยว่า จากผลการจัดอันดับดังกล่าวทำให้เห็นว่าไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าปีที่ผ่านมาทุกประเทศจะตกอยู่ในภาวะลำบากจากเศรษฐกิจโลก แต่มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเอื้ออำนวยธุรกิจ รวมถึงความเข้มแข็งของภาคเอกชนไทย ทำให้ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีขึ้นถึง 9 อันดับ
ในการจัดอันดับของ IMD จะมีการพิจารณา 4 ด้าน ได้แก่ 1.สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งไทยมีอันดับดีที่สุด อยู่ที่อันดับ 13 จาก 61 ประเทศ ซึ่งจุดเด่นของไทยยังคงเป็นด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน การท่องเที่ยว ส่วนประเด็นที่ยังต้องพัฒนาต่อไป คือ ด้านรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรที่อยู่ในอันดับ 53 และด้านค่าครองชีพ เป็นต้น 2.ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 4 อันดับ มาอยู่ที่ 23 จากเดิม 27 สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการ เช่น มาตรการเกี่ยวกับภาษี สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน รวมถึงความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย 3.ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ไทยมีอันดับลดลง 1 อันดับ มาอยู่ที่ 25 โดยเรามีจุดเด่นจากสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อประชากร แต่ที่ต้องปรับปรุงคือด้านผลิตภาพที่ยังอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ และ 4.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไทยมีอันดับลดลง 3 อันดับ มาอยู่ที่ 49 ไทยมีอันดับหมวดนี้ค่อนข้างต่ำ "ภาพรวมการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศครั้งนี้เป็นเรื่องน่าพอใจและเป็นข่าวดีของไทย ทำให้นักลงทุนที่ยังรอการลงทุนเห็นทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะมีผลต่อการลงทุนของประเทศไทย" นายปรเมธีกล่าว.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :

ขอบคุณข้อมูลจาก :