ข้อสัญญา "จำกัดสิทธิ" การประกอบอาชีพของลูกจ้าง ได้หรือไม่ ?
“นายจ้างสามารถกำหนดเงื่อนไขการทำงานของเรายังก็ได้ .. รึเปล่า?” หลายท่านที่ทำงานแล้วคงจะเคยเจอกับข้อกำหนดในสัญญาจ้างที่แปลกหรือพิสดารต่างๆมากมาย บางที่บังคับตอนจ้างไม่พอ ยังลามไปบังคับตอนเลิกจ้างอีกด้วย ตัวอย่างเช่น“เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้วห้ามลูกจ้างประกอบอาชีพที่เป็นการแข่งขันหรือมีลักษณะเดียวกันกับธุรกิจของนายจ้าง เป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ปีหรือภายในบริเวณหรืออาณาเขตที่กำหนด” แม่เจ้าอะไรจะขนาดนั้น! .. คำถามก็คือ เฮ้ย! นี่มันชีวิตเราไม่ใช่เหรอ เราทำงานให้คุณ คุณจ่ายเงินเราก็เท่าเทียมกันแล้วนี่ ข้อตกลงแบบนี้จะมีได้ยังไง? .. มาดูข้อกฎหมายกัน
พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ กำหนดให้สัญญาจ้างที่นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ศาลสั่งให้ใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมได้ (แต่ไม่เป็นโมฆะ)
หากมีคดีขึ้นสู่ศาลและศาลพิจารณาว่าสัญญาจ้าง หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้าง อันมีลักษณะที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจที่จะสั่งให้ข้อตกลงหรือข้อบังคับเหล่านั้นมีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่ลูกจ้างได้ ส่วนอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควรนั่น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลท่าน ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เราไม่ต้องไปยุ่ง!
แต่ถ้าข้อกำหนดในสัญญาจ้างถึงขนาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจ้างนั้นย่อมตกเป็น “โมฆะ” กันเลยทีเดียว
ในทางตำรานั้นถือกันว่าสัญญาจ้างเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้น ถ้าศาลเห็นว่าสัญญาจ้างใดที่ไม่เพียงแต่เป็นการเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควร แต่ถึงขนาดที่ว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วละก็ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ศาลข้อสัญญานั้นตกเป็นโมฆะได้
ส่วนกรณีใดบ้างที่จะถือว่าขัดหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องศึกษาจากคดีที่เกิดขึ้นจริงดังต่อไปนี้
**คดีตัวอย่างเป็นช่างซ่อมพิมพ์ดีด เมื่อลาออกแล้วนายจ้างห้ามไปเป็นช่างซ่อมเครื่องพิมพ์ดีดร้านอื่นในกรุงเทพมหานคร ข้อสัญญานี้ใช้บังคับได้
คดีนี้ โจทก์จ้างจำเลยเป็นลูกจ้างในร้านซ่อมเครื่องพิมพ์ดีดของโจทก์ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครโดยมีข้อตกลงโจทก์กับจำเลยว่า “ถ้าจำเลยออกจากร้านโจทก์ไปแล้ว ห้ามไม่ให้จำเลยไปทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องพิมพ์ดีดที่ร้านอื่นในกรุงเทพมหานคร” ศาลท่านวินิจฉัยว่าข้อห้ามดังกล่าวนั้นไม่เป็นการเกินสมควร ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชน จึงใช้บังคับกันได้
ข้อสัญญาที่ห้ามนักมวยหาคู่ชกเอง หรือย้ายค่ายมวยเอง ศาลถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับได้
คดีนี้ โจทก์เป็นโปรโมเตอร์มวยทำสัญญากับจำเลยซึ่งเป็นนักมวยว่าโจทก์มีหน้าที่ส่งเสริมและจัดหาคู่ชกให้จำเลย โดยโจทก์จะไม่คิดค่าตอบแทนจากจำเลยจนกว่าจำเลยจะมีชื่อเสียงแล้ว จำเลยยอมให้โจทก์รับเงินรางวัลและค่าป่วยการจากค่าชกที่จำเลยจะได้รางวัลร้อยละ ๕ “จำเลยจะไปหาคู่ชกเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไม่ได้ และจะย้ายสังกัดค่ายมวยก็ไม่ได้” ศาลวินิจฉัยว่า ข้อตกลงนี้ใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะว่าเป็นการทำสัญญาด้วยความสมัครใจของคู่สัญญาที่จะต้องระมัดระวังผลประโยชน์ของตนเอง
ข้อสัญญาที่ต้องให้ผู้ขอทุนทำงานใช้ทุนให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดผู้ให้ทุนเป็นระยะเวลาที่แน่นอน ศาลถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับได้
คดีนี้ โจทก์ทำสัญญากับจำเลยโดยโจทก์ออกเงินเสียค่าใช้จ่ายส่งจำเลยไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น และมีข้อตกลงกันว่า “จำเลยฝึกงานเสร็จแล้วต้องกลับมาทำงานให้โจทก์มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์กำหนดอัตราเงินเดือนของจำเลยได้ตามความพอใจแต่ฝ่ายเดียว” ศาลวินิจฉัยว่าสัญญาที่ทำกันนั้นเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์และจำเลยสมัครใจเข้าทำกันเอง ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและก็ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ได้ประโยชน์จากสัญญาแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะที่จำเลยไปฝึกงานนั้นโจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จำเลยได้ความรู้ความชำนาญจากการฝึกงาน ทั้งมีโอกาสใช้ความรู้ความชำนาญที่ได้รับมานั้นทำงานให้กับโจทก์ตามสัญญา และโจทก์ก็ไม่ได้กำหนดให้จำเลยต้องทำงานอยู่กับโจทก์อยู่จนตลอดชีวิตหรือเป็นระยะเวลานานเกินสมควร เมื่อจำเลยไม่ทำงานให้โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา
สรุป
ข้อตกลงตามสัญญาจ้างนั้น เป็นเรื่องระหว่างประชาชากันประชาชนด้วยกัน สามารถตกลงกันอย่างไรก็ได้ตามหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนา รัฐหรือกระบวนทางกฎหมายจะไม่เข้าไปยุ่งจนกว่า ข้อตกลงอันอิสระนั้นได้ขัดต่อกฎหมาย หรือไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ หรือเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อ้างอิง : ๑. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑
มาตรา ๑๔/๑ “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี”
๒. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๕๐ “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”
๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๖/๒๔๘๐ ๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๑๔/๒๕๐๖ ๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๕/๒๕๑๙ บทความโดย TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก