ถ้าจะให้ลองนึกถึงเมืองที่มีเศรษฐกิจดี ภาพของคนหลายๆ คนอาจจะมองว่าเมืองเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะต้องเป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมืองเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายตัวรวมถึงมีเม็ดเงินลงทุนสนับสนุนจากภาครัฐฯ และเอกชนให้เข้าลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต เป็นต้น แน่นอนว่าเมืองเศรษฐกิจเหล่านี้จะต้องเป็นเมืองที่อยู่ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ทางรัฐบาลให้การสนับสนุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า ปัจจุบันมีอยู่เมืองหนึ่งในต่างจังหวัดที่ TerraBKK Research สัมผัสได้ถึงเม็ดเงินลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ มากมาย นั้นก็คือ เมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี จังหวัดที่มี GDP สูงเป็นอันดับที่สองรองจากกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน “ศรีราชา” ต้องบอกเลยว่าเป็นเมืองที่เนื้อหอมมาก ทั้งรถติด ขับรถไปสองข้างทางจะเห็นการพัฒนา การก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการขยายถนนรองรับปริมาณรถที่มากเกินกว่าท้องถนนจะสามารถรองรับได้ การพัฒนาเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นมาเพื่อเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต ศรีราชาถือเป็นอำเภอๆ หนึ่งที่มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากจนถูกขนานนามว่า “Japan Town” จากการย้ายฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพในปี 2554 (จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ) เข้ามาอยู่ในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยองทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้เห็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อเข้ารองรับความต้องการของชาวญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Service Apartment และ โรงแรม เรามาหาคำตอบกันว่าทำไมศรีราชาถึงเป็นเมืองที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างมหาศาล

ศรีราชา เป็นเมืองที่มีความได้เปรียบตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของประเทศบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย และถือเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและใหญ่เป็นอันดับที่ 22 ของโลกอีกด้วย เมืองศรีราชาเป็นเขตกึ่งเกษตรกรรมและกึ่งอุตสาหกรรมซึ่งแนวโน้มในอนาคตอุตสาหกรรมจะก้าวนำการเกษตร จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในศรีราชามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนั้นศรีราชาเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1-2-3 นิคมอุตสาหกรรมเหมราช และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นต้น ด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นหนาแน่นในบริเวณนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักและอุตสาหกรรมไฮเทคทำให้เป็นศูนย์รวมพนักงานเอกชนหลายหมื่นชีวิตที่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น วิศวกร ผู้บริหารระดับหน้าหน้างาน และชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ทำให้ศรีราชาเป็นศูนย์รวมของแหล่งอุปสงค์ที่มีคุณภาพสูง มีเงินเงินเดือนที่มั่นคง จึงเป็นตัวดึงนักธุรกิจผู้เห็นโอกาสเข้ามาฉวยโอกาสในเมืองแห่งนี้

นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาแหลมฉบังซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอำเภอศรีราชาได้ถูกยกระดับให้ขึ้นมาเป็น “เทศบาลนครแหลมฉบัง” จากเดิมที่เป็นเพียงเทศบาลตำบล เพื่อรองรับให้บริเวณนี้เป็นเมืองท่าหลักของประเทศ และหากเราดูตัวเลขประชากรเฉพาะตำบลแหลมฉบังจะพบว่า แหลมฉบังมีประชากรแฝงถึง 40,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสหากรรมแทบทั้งสิ้น ส่วนประชากรตามทะเบียนราชมีประมาณ 45,000 คน

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ศรีราชา ศูนย์รวมเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมทางรถ เรือ ราง อากาศ ที่สำคัญของประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนกว่า 330,000 ล้านบาท เรามาดูกันว่าศรีราชาในปัจจุบันมีแผนการลงทุนอะไรบ้างและมีโครงการใดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา มีรายละเอียดดังนี้

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

1. ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มูลค่าเงินลงทุน 83,000 หมื่นล้านบาทปัจจุบันอยู่ในแผนการพัฒนา คาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 มีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้ 11 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งถูกใช้ไปแล้ว 8 ล้าน ทีอียู/ปี จากแนวโน้มการเติบโตของการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านท่าเรือแหลมฉบังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 4-5% ต่อปีจึงมีความจำเป็นต้องลงทุนท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าได้อีก 7 ล้านทีอียู ในอนาคตท่าเรือแหลมฉบังจะเป็นท่าเรือที่ไม่ได้ใช้บริการเฉพาะภายในประเทศแต่จะเป็นท่าเรือที่เรือขนาดใหญ่เข้ามาจอดมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียงสิงคโปร์ที่รับได้ เป็นการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือถ่ายลำ หรือศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

2. โครงการรถไฟรางคู่สายชายฝั่งทะเลตะวันออกตอนฉะเชิงเทรา–ศรีราชา–แหลมฉบัง มูลค่าเงินลงทุน 5,850 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนเปิดใช้ในปีนี้ เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของการขนส่งสินค้า (Logistics) ทางรถไฟในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและสถานี ICD ที่ลาดกระบัง ระยะทางรวม 78 กิโลเมตร

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

3. รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง มูลค่าเงินลงทุน 152,000 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการได้อนุมัติแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2560 เป็นโครงการที่เข้ามาเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมถึงรองรับความต้องการโดยสารและขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนวเส้นทางของโครงการพาดผ่าน ประกอบด้วย 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดระยะทางรวม 193.5 กิโลเมตร

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

4. มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด มูลค่าเงินลงทุน 14,000 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2562 โครงการนี้จะเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างภาคกลางเข้ากับภาคตะวันออกให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคตะวันออก และการขนส่งทางอากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

5. โครงข่ายทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา มูลค่าเงินลงทุน 69,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 แล้วเสร็จในปี 2565 เป็นโครงการส่วนต่อขยายทางพิเศษบูรพาวิถี ไปยังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ท่าเรือแหลมฉบัง และเมืองพัทยา เพื่อรองรับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมและบรรเทาปัญหาด้านการคมนาคมให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

6. สนามบินพาณิชย์อู่ตะเพา เปิดบริการเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต สำหรับสนามบินอูตะเพาจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ

  • ระยะแรก (ปี 2558-2560) สร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารจากเดิมรองรับได้ 800,000 คน เป็น 3 ล้านคน
  • ระยะสอง (ปี 2561-2563) การเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 5 ล้านคน และเตรียมการศึกษาบริหารจัดการพื้นที่การให้บริการเชิงพาณิชย์และความมั่นคงภายใต้ความเห็นชอบของกองทัพเรือ
  • ระยะสาม (หลังปี 2563 เป็นต้นไป) การศึกษาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ (Landside และ Airside) และสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้รองรับการเติบโตของกิจการการบินในอนาคต

7. โครงการเรือเฟอร์รี่ บางปู-พัทยา-ปราณบุรี มูลค่าเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท คาดว่าท่าเรือเฟอร์รี่จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2560 เป็นโครงการที่เข้ามาแก้ปัญหาการจราจรบนท้องถนนเนื่องจากมีปัญหาการจราจรที่ค่อนข้างติดขัดทำให้การเดินทางโดยเรือประหยัดเวลามากกว่าบริษัท สยามอีสเทิร์น อินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด (Siam Eastern Industrial Park Co. หรือกลุ่ม SEP ได้ทุ่มเงินลงทุนสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ 3 แห่ง คือ บางปู จ.สมุทรปราการ, พัทยา จ.ชลบุรีและปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนซื้อเรือเฟอร์รี่ขนาดกลาง 4 ลำ (Four Mid-Sized Catamaran-style Ferries) สำหรับท่าเรือเฟอร์รี่จะให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากบางปู ไปยังพัทยาและหัวหิน โดยเรือเฟอร์รี่ดังกล่าวจะเป็นเรือขนาดใหญ่ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 500 คน และบรรทุกรถยนต์ได้ราว 30 คัน ในเบื้องต้นจะใช้เรือ 3 ลำ มูลค่าการลงทุนลำละประมาณ 1,000 ล้านบาท

ถ้าท่านได้เห็นโครงการเมกะโปรเจกต์ทั้งหมดที่ทาง TerraBKK Research นำเสนอมานี้ท่านผู้อ่านคงเห็นอะไรบางอย่างในศรีราชาว่าเหตุใดศรีราชาถึงเป็น Destination ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศไทย และเห็นว่าทำไมศรีราชาถึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติโดยเฉพาะคนญี่ปุ่นให้เข้ามาขยายฐานการผลิตในประเทศได้มากขนาดนี้ - เทอร์ร่า บีเคเค

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก