ตามที่พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและเอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการของลูกจ้าง เช่น อัตราค่าทดแทนระยะเวลาจ่าย ค่าทำศพ ค่าทดแทนกรณีลูกจ้างทุพพลภาพ เงื่อนไขการรักษาค่าฟื้นฟูในการทำงานฯลฯ สำนักงานประกันสังคมจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า เพื่อประโยชน์แก่นายจ้าง ลูกจ้าง อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 สำนักงานประกันสังคมจึงมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย ดังนี้

(1) เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และตาย จากร้อยละ 60 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

(2) เพิ่มค่าจัดการศพจากเดิมในอัตรา 100 เท่า ของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดตามประกาศกระทรวงแรงงาน

(3) เพิ่มระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่ายไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี และกรณีตาย จากเดิม 8 ปี เพิ่มเป็น 10 ปี

(4) เพิ่มบทบัญญัติลดการจ่ายเงินเพิ่มให้แก่นายจ้างในเขตท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง หรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

(5) ลดอัตราเงินเพิ่มกรณีนายจ้างค้างชำระเงินสมทบ จากเดิมร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 และกำหนดให้เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย

(6) ขยายความคุ้มครองตามกฎหมายไปถึงลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการทุกประเภท

(7) แก้ไขให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดจากการทำงานเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินงาน

(8) เพิ่มบทกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการกองทุนเงินทดแทน

(9) แก้ไขบทกำหนดโทษให้เหมาะสม

ความคืบหน้าในการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่... ) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมยังได้ผลักดัน เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงรหัสประเภทกิจการกองทุนเงินทดแทน จากจำนวน 16 หมวดกิจการ 131 รหัสกิจการ เป็นการจัดตามประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย ปี 2552 (TSIC–2009) จำนวน 21 หมวดใหญ่ 1,091 รหัส จากเดิมปรับเพิ่มจากอัตราเงินสมทบหลักสูงสุด 150% ลดเหลือไม่เกิน 50% ของอัตราที่จัดเก็บในปีก่อนหน้า ทั้งนี้เพื่อให้การกำหนดรหัสประเภทกิจการ “มีความละเอียดครอบคลุม ทันสถานการณ์ และเป็นมาตรฐานสากล” กล่าวคือ มีรหัสกิจการที่ละเอียดครอบคลุม สามารถรองรับประเภทกิจการของนายจ้างทุกประเภทที่ขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนรวมทั้งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้การกำหนดอัตราเงินสมทบเหมาะสมกับความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมกับนายจ้างมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบฉบับใหม่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างลงประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2560

นายโกวิท กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับปรุงรหัสประเภทกิจการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าว ยังเกิดประโยชน์ในการนำฐานข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการด้านแรงงาน การจัดหางาน การคุ้มครองแรงงานและการพัฒนาอาชีพ โดยมีฐานข้อมูล ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนในมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งสามารถนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับนานาประเทศได้ในระบบสากล ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่มาตรฐานสากลในการพัฒนางานด้านแรงงานและประกันสังคมอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก : สำนักงานประกันสังคม