เงินเฟ้อเดือน ส.ค.สูงขึ้น 0.29% ต่อเนื่องเดือนที่ 5 แต่เฉลี่ย 8 เดือนยังติดลบ 0.03% พาณิชย์คงประมาณการณ์ทั้งปี 0.0-1.0% เผยสินค้าอาหารดาหน้าแพง ทั้งข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ผัก-ผลไม้ คลังเตรียมขายบอนด์ออมทรัพย์ปีงบ 2560 อีก 5 หมื่นล้านบาท นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2559 เท่ากับ 106.64 สูงขึ้น 0.29% เทียบ ส.ค.2558 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 5 นับจาก เม.ย.2559 ที่เงินเฟ้อขยายตัว 0.07% แต่เมื่อเทียบ ก.ค.2559 เงินเฟ้อลดลง 0.04% และเฉลี่ย 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.59) ลดลง 0.03% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ส.ค.สูงขึ้น 0.29% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.88% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 1.88% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 2.16% ผักและผลไม้ 7.41% เครื่องประกอบอาหาร 0.87% อาหารบริโภคในบ้าน 1.09% อาหารบริโภคนอกบ้าน 1.02% เว้นข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลง 0.52% ส่วนดัชนีหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.59% เป็นผลมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง 6.02% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก ลดลง 1.32% แต่มีสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13.09% หมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.92% อย่างไรก็ดี ได้มีการคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ใหม่ โดยยังคงประมาณการณ์ไว้ที่ 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐาน เศรษฐกิจขยายตัว 2.8-3.8% แต่มีการปรับสมมติฐานในเรื่องของราคาน้ำมันดิบดูไบจากเดิมจะอยู่ที่ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มเป็น 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเดิมคาดการณ์ที่ 36-38 บาท/เหรีญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นมาอยู่ในช่วง 35-37 บาท/เหรียญสหรัฐ "กระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ไว้เท่าเดิม คือ ช่วง 0.0-1.0% โดยปัจจัยสนับสนุนเงินเฟ้อเป็นบวก มาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพและอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเดือน ส.ค.อยู่ที่ 43.83 บาท/เหรียญสหรัฐ ส่วนค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือน ส.ค.แข็งค่ามาอยู่ที่ 34.72 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน” นายสมเกียรติกล่าว สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักรายการสินค้าอาหารสดและพลังงาน) เดือน ส.ค.2559 เท่ากับ 106.80 สูงขึ้น 0.79% เทียบ ส.ค.2558 และสูงขึ้น 0.07% เทียบ ก.ค.2559 เฉลี่ย 8 เดือน สูงขึ้น 0.74% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การขายพันธบัตรออมทรัพย์ปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปิดจำหน่ายเมื่อ 30 ส.ค.2559 สามารถจำหน่ายได้ 1.9 หมื่นล้านบาท หรือ 95% ของวงเงินที่ออกจำหน่าย เหลือ 927 ล้านบาท ซึ่ง สบน.จะกู้ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินแทน เพื่อให้การกู้เงินครบ 2 หมื่นล้านบาทตามที่วางไว้ สำหรับปีงบประมาณ 2560 กระทรวงการคลังมีแผนจะกู้เงินโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องพิจารณาความต้องการของนักลงทุน และอัตราดอกเบี้ยในตลาดว่าสามารถจูงใจให้นักลงทุนสนใจมาซื้อพันธบัตรออมทรัพย์หรือไม่.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : อาหารแพงดัน เงินเฟ้อ ขึ้น คลังเข็นบอนด์ออมทรัพย์อีก 5หมื่นล.