หลายคนคงรู้ว่าก่อนการแต่งงานนั้นจะมีพิธีที่เรียกว่า “การหมั้น” เกิดขึ้น เพื่อเป็นสัญญาใจระหว่างหนุ่มสาวคู่นั้นว่าจะทำการสมรสกันในภายหน้า และในพิธีหมั้นนั้นก็จะมีการให้สิ่งที่เรียกว่า “ของหมั้น” แก่กันไว้ด้วย ซึ่งวันนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่า “ของหมั้น” นั้นในทางกฎหมายได้กล่าวไว้อย่างไรและมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

“ของหมั้น” นั้นเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการหมั้นเปรียบเสมือนการทำสัญญาใจระหว่างชายหญิง ส่วนของหมั้นคือสิ่งที่ทำให้สัญญาใจนั้นมีน้ำหนักมากขึ้น แม้การหมั้นจะไม่ทำให้สถานะของหญิงชายตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่การหมั้นนั้นย่อมมีผลทางกฎหมายอย่างแน่นอน เพราะเมื่อหมั้นกันแล้วของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหญิงคู่หมั้นทันที

โดยลักษณะสำคัญของ “ของหมั้น” ตามกฎหมายนั้นมีอยู่ 4 ประการ คือ

1. ของหมั้นต้องเป็นทรัพย์สิน

ของหมั้นนั้นจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ และยังอาจหมายความรวมถึงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ เป็นต้น

2. ของหมั้นต้องเป็นของฝ่ายชายที่ให้ไว้แก่หญิงเท่านั้น

เพราะตามกฎหมายการหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อชายคู่หมั้นส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นเท่านั้น ดังนั้นทรัพย์สินที่หญิงให้แก่ชายจึงไม่ถือเป็นของหมั้น และไม่ทำให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย

มีข้อสังเกตว่า ของหมั้นไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของชายคู่หมั้นเสมอไป แม้เป็นของบุคคลอื่นก็อาจใช้เป็นของหมั้นได้หากเจ้าของนั้นยินยอม และของหมั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหญิงคู่หมั้นทันทีเมื่อได้หมั้นกันดังที่กล่าวไว้แล้ว

3. ของหมั้นต้องให้ไว้ในขณะหมั้นและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว

ดังนั้น หากเพียงแต่สัญญาว่าจะให้ของหมั้นกันในวันหน้า แม้ภายหลังจะยกให้กันจริงตามที่สัญญา ทรัพย์สินที่ให้นั้นก็ไม่ถือเป็นของหมั้น ในกรณีที่ของหมั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วย มิใช่แต่เพียงเอาโฉนดที่ดินมาผูกโบว์แล้วใส่พานไว้แต่เพียงเท่านั้น

4. ของหมั้นต้องเป็นการให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

เพราะถ้าชายหญิงคู่หมั้นไม่มีเจตนาที่จะสมรสและจดทะเบียนอย่างถูกต้องกันในภายหลัง ของที่ให้กันนั้นย่อมไม่ถือเป็นของหมั้น เป็นเพียงการให้โดยเสน่หาอันเป็นสัญญาอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น จุดตัดที่สำคัญก็คือ ถ้าถือเป็นของหมั้นแล้ว หากฝ่ายหญิงผิดสัญญาหมั้นหรือมีเหตุสำคัญที่ทำให้ชายคู่หมั้นไม่ควรสมรสกับหญิงนั้น ชายคู่หมั้นย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นและเรียกของหมั้นคืนได้ แต่หากเป็นการให้โดยเสน่หาแล้ว แม้หญิงคู่หมั้นจะไม่ยอมสมรสด้วยก็ตาม กฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุประพฤติเนรคุณอันจะทำให้ชายคู่หมั้นฟ้องถอนคืนการให้ได้

ดังนั้น เจตนาที่จะสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายของชายหญิงคู่หมั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเคยมีตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริง คือ ชายกับหญิงตกลงแต่งงานกันโดยวิธีการ “ผูกข้อมือ” ศาลตัดสินว่า ชายและหญิงนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงจึงไม่เป็นของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ชายให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสแก่หญิง และไม่เป็นสินสอดเพราะมิใช่การให้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงนั้นยอมสมรสด้วย ดังนั้นการที่หญิงไม่ยอมร่วมหลับนอนกับชาย จึงไม่ถือเป็นละเมิดหรือเป็นการผิดสัญญาหมั้นแต่อย่างใด ชายจึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายและเรียกทรัพย์สินนั้นคืนได้

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะทราบถึงความหมายและผลทางกฎหมายของของหมั้นกันบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่ผมขอให้ข้อสังเกตนิดนึงว่าการหมั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการสมรสแต่อย่างใด เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าชายหญิงจะต้องทำการหมั้นกันก่อน แล้วจึงทำการจดทะเบียนสมรสกันได้ ที่จะบอกก็คือความรักเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่สวยงามของคนสองคน การที่จะจัดงานหมั้นเพื่ออวดความร่ำรวยให้คนอื่นได้รับรู้จนเป็นหนี้เป็นสินนั้นเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง สู้ว่าชายหญิงพากันไปอำเภอแล้วจดทะเบียนสมรสกันอย่างเงียบๆ แล้วเป็นคู่สามีภริยาที่ซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยกันทำมาหากินสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวชายหญิงเองและสังคมมากกว่า ..

____________________________ อ้างอิง: 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและสอง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง” มาตรา 1438 “การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้นข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มาตรา 1442 “ในกรณีที่มีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้ชายไม่ควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย” 2. คำพิพากษาฎีกาที่ 592/2540

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก