กรุงเทพฯ บีโอไอเผย ยอดขอส่งเสริมในอุตฯ ดิจิตอลช่วง 7 เดือนแรกปีนี้มาแรง มีถึง 155 โครงการ เงินลงทุน 2,540 ล้านบาท แถมยังต่อคิวอีกเพียบ คาดทั้งปีมูลค่าลงทุนทะลุ 5 พันล้านบาท ด้านเกาหลีใต้จ่อเปิดสำนักงานอี-คอมเมิร์ซในไทย หลังพบเติบโตสูง นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) ตามนโยบายรัฐบาล มีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.59) มีโครงการในกลุ่มนี้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากถึง 155 โครงการ คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนโครงการลงทุนทั้งหมดในเอส-เคิร์ฟที่มี 443 โครงการ มูลค่าการขอรับส่งเสริมลงทุนทั้งหมด 2,540 ล้านบาท และยังมีอีกหลายรายที่เตรียมยื่นฯ จึงคาดว่าภายในปี 2559 มูลค่าเงินลงทุนของกลุ่มนี้จะไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากดูในเรื่องเงินลงทุน จะมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่เป็นกิจการที่เน้นใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมามีโครงการที่ได้อนุมัติให้ส่งเสริมลงทุนที่น่าสนใจ เช่น การลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส (Cloud Service) โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เพื่อให้บริการดูแลระบบ บริหารจัดการ รวมถึงจัดเก็บข้อมูลผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่จะช่วยให้ลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยลดต้นทุนค่าดูแลบำรุงรักษาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมทั้งอนุมัติส่งเสริมลงทุนแก่กิจการของผู้ประกอบธุรกิจจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำอันดับหนึ่งทางด้านธุรกิจซื้อขายออนไลน์ โดยจัดทำเว็บโปรแกรมในรูปแบบการให้เช่าพื้นที่ สำหรับซื้อ-ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องประดับ เครื่องใช้ภายในบ้าน เนื่องจากบริษัทได้เข้ามาศึกษาถึงศักยภาพของตลาดออนไลน์ในไทย และพบว่ามีอัตราการขยายตัวสูง หลังจากได้เข้าไปลงทุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตุรกี เป็นต้น
นางหิรัญญากล่าวว่า ยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ในการลงทุนกิจการศูนย์ข้อมูล (เขตดาต้าเซ็นเตอร์) มูลค่าเงินลงทุนกว่า 750 ล้านบาท ที่ จ.สระบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรต่างๆ ทั้งบริการรับฝากวางคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการดูแลระบบ การดูแลป้องกันและลดความเสี่ยงการเสียหายของข้อมูล ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงของภูมิภาค รวมถึงเป็นศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือด้านศักยภาพและบริการไอทีในอนาคต นอกจากนี้ บีโอไอยังให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตย้อนหลังได้ถึง 30 วัน และในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคนิคการเขียนโปรแกรม และการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรคนไทยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิตอลของรัฐบาล.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : ลงทุนอุตฯดิจิตอลมาแรง 7เดือนขอ บีโอไอ 2.5พันล. เกาหลีใต้รุกอี-คอมเมิร์ซ