เสียงร่ำไห้ของคนไทยระงมทั้งแผ่นดิน เมื่อสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม เวลา 15.52 น. พุทธศักราช 2559 สิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา

เสด็จพระบรมราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในพระบรมราชจักรีวงศ์ ถึง 70 ปี

ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระ มหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และ หม่อมสังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ

ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชŽž

ทรงเป็นพลังแผ่นดิน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า เล็กŽ พระนาม ภูมิพลอดุลยเดชŽ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทางโทรเลข โดยความหมายของพระนามนั้น คำว่า ปรมินทรŽ หมายความว่า ผู้เป็นใหญ่ที่สุด หรือผู้เป็นใหญ่อย่างยิ่ง ภูมิพลŽ คำว่า ภูมิŽ หมายความว่า แผ่นดิน และ พลŽ หมายความว่า พลังŽ

รวมกันแล้วหมายถึง พลังแห่งแผ่นดิน อดุลยเดช-อดุลยŽ หมายความว่า ไม่อาจเทียบได้ และ เดชŽ หมายความว่า อำนาจŽ รวมกันแล้วหมายถึง ผู้มีอำนาจที่ไม่อาจเทียบได้

เมื่อพระชนมายุได้ 4 พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ ต่อจากนั้นเสด็จฯไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน

ในปี พ.ศ.2477 ได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียน เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองด์ เมืองแชลลี-ซูร์-โลซาน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติและทรงได้รับประกาศนียบัตร บาเชอลิเย เอ แลทร์ จากการศึกษาดังกล่าว

ทรงรอบรู้หลายภาษา ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และละติน ในระดับอุดมศึกษาทรงเข้าศึกษาในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมืองโลซาน

เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

ทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชŽ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2478 เมื่อพระบรมเชษฐาธิราชเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลŽ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี

เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ด้วยพระชนมพรรษา 18 พรรษา ทรงเป็นยุวกษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และพระองค์ที่ 2 แห่งราชสกุล มหิดลŽ

จากนั้นวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ กรุงโลซาน แม้พระองค์จะโปรดวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพื่อประโยชน์ในการปกครองประเทศได้ทรงเปลี่ยน มาศึกษาวิชากฎหมาย คือ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ อันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของชนชาติต่างๆ พร้อมกับทรงศึกษาด้านอักษรศาสตร์จนทรงเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ละติน เป็นต้น

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมž

ในช่วงที่ทรงศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ทรงมีพระราชหฤทัยสนิทเสน่หาในหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส จึงทรงหมั้นด้วยพระธำมรงค์เพชรที่มีหนามเตยเป็นรูปหัวใจเล็กๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยพระราชทานหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2492

กระทั่งวันที่ 24 มีนาคม 2493 ทั้งสองพระองค์เสด็จฯนิวัติพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ วังสระปทุม และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493

ต่อมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวังพระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ในพระบรมมหาราชวัง ประทับเหนือราชอาสน์บัลลังก์ทอง เฉลิมพระปรมาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรŽ และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามŽ

พระอัจฉริยภาพอัครศิลปินž

ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีพระสมณฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุŽ และเสด็จฯไปประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพในศิลปะหลากหลายแขนง ทรงเชี่ยวชาญในภาษาหลากหลายภาษา และทรงดนตรีได้หลายชนิด ทรงพระราชนิพนธ์เพลงอันไพเราะรวม 47 เพลง เป็นที่ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพจนสถาบันดนตรีในออสเตรเลียได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ ทรงได้รับยกย่องเป็น อัครศิลปินŽ ของชาติ

นอกจากนี้ยังทรงสร้างสรรค์งานจิตรกรรมและวรรณกรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ เช่น ทรงพระราชนิพนธ์ แปลเรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และพระราชนิพนธ์เรื่องชาดกพระมหาชนก พระราชทานคติธรรมในการดำรงชีวิตด้วยความวิริยอุตสาหะอดทนจนพบความสำเร็จแก่พสกนิกรทั้งปวง

นอกจากนี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านกีฬา โดยเฉพาะเรือใบ ทรงเป็นตัวแทนประเทศไทยลงแข่งในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9-16 ธันวาคม 2510 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทรงชนะเลิศเหรียญทอง และยังได้ทรงออกแบบและประดิษฐ์เรือใบด้วยพระองค์เอง

ทรงขจัดทุกข์ยาก-นำความผาสุก

ตลอด 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทยให้มีความอยู่ดีกินดี โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารในภูมิภาคต่างๆ ทุกภาคทั่วประเทศ ทรงประจักษ์ในปัญหาของราษฎรในชนบทที่ดำรงชีวิตด้วยความยากจน ลำเค็ญ และด้อยโอกาส ทรงพระวิริยอุตสาหะหาทางแก้ปัญหา

กล่าวได้ว่าทุกหนทุกแห่งบนผืนแผ่นดินไทยที่รอยพระบาทได้ประทับลง ทรงขจัดทุกข์ยากนำความผาสุกและทรงยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร และเพื่อความเจริญพัฒนาของประเทศชาติ ตลอดระยะเวลาโดยมิได้ทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนพระองค์เลย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโครงการนานัปการมากกว่า 4,000 โครงการ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม ตลอดจนการเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรในชนบท ทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น ทรงแก้ปัญหาการจราจร อุทกภัย และปัญหาน้ำเน่าเสีย

พระราชทาน ‘"เศรษฐกิจพอเพียงž"

แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ เศรษฐกิจพอเพียงŽ และ ทฤษฎีใหม่Ž ให้ราษฎรได้พึ่งตนเอง ใช้ผืนแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบอาชีพอยู่กินตามอัตภาพซึ่งราษฎรได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลดีอยู่ในปัจจุบัน

ความทุกข์ประชาชนรอไม่ได้

การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ต้องเป็น 24 ชั่วโมง พระองค์ทรงอยู่บนยอดปิรามิดของสังคม แต่ปิรามิดในประเทศไทยนั้น เป็นปิรามิดหัวกลับ หมายความว่า พระองค์ทรงอยู่ด้านล่าง เพื่อรองรับปัญหาทุกๆ อย่างของประชาชน และทรงย้ำเตือนบรรดาบุคคลที่ทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ อยู่เสมอมาว่า

”ความทุกข์ของประชาชนนั้น รอไม่ได้Ž”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ในหนังสือ ในหลวงของเราŽ ว่า เวลาที่ทรงพระสำราญคือ เวลาที่เสด็จออกวางโครงการพัฒนาประเทศ และเห็นว่าพระราชดำริ คงจะมีประโยชน์ต่อประชาชน ในเวลาที่เห็นผลจากโครงการต่างๆ อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ทำให้ทรงพระสำราญ คือ การที่ได้ทอดพระเนตรเห็นประชาชนมีน้ำใจต่อท่านและประชาชนด้วยกัน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินจะมีส่วนพระองค์ท่านได้ โดยการช่วยตัวเอง ช่วยเพื่อนร่วมชาติคนอื่นๆ มีความรักความสามัคคี ทำตนเป็นพลเมืองดีเห็นแก่ชาติบ้านเมือง

ดั่งพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์Ž ว่า

“เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน ไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้า เมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านจริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า

ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือ การได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวงŽ”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ระบุในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่า ความผูกพันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับคนไทยนั้นมีอยู่มากมายเกินกว่านิมิตหมายแห่งความเป็นชาติไทย เกินกว่ามิ่งขวัญ เกินกว่าความเคารพบูชา แต่เป็นความผูกพันด้วยชีวิตระหว่างคนไทยคนหนึ่ง กับคนไทยอีกทุกๆ คนŽ

“เท่าที่ผมทราบ ไม่มีอะไรจะทำให้ทั้งสองพระองค์สำราญพระราชหฤทัยเกินไปกว่าที่ได้ทรงพบปะกับราษฎรของพระองค์ แม้จะใกล้หรือไกลก็ตามที ตามที่มีคำพังเพยแต่ก่อนว่า รัชกาลที่ 1 โปรดทหาร รัชกาลที่ 2 โปรดกวีและศิลปิน รัชกาลที่ 3 โปรดช่างก่อสร้าง (วัด) นั้น ผมกล้าต่อให้ได้ว่า รัชกาลที่ 9 นี้โปรดราษฎร และคนที่เข้าเฝ้าฯได้ใกล้ชิดที่สุดเสมอไปก็คือ ราษฎร มิใช่ใครอื่นที่ไหนเลยŽ”

ปวงชนชาวไทยต่างมีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง ดังปรากฏในวาระสำคัญ เช่น ศุภวาระเถลิงถวัลยราชครบ 25 ปี พระราชพิธีรัชดาภิเษก 9 มิถุนายน 2514, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530, พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ทรงดำรงสิริราชสมบัติยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ 2 กรกฎาคม 2531, มหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539, พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

พระราชบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

พระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก คือ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จัดวันที่ 8-13 มิถุนายน 2549 ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ 25 ประเทศ จากทั้งสิ้น 29 ประเทศทั่วโลกตอบรับคำเชิญของรัฐบาลไทยมาร่วมพระราชพิธีครั้งนี้ นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก

ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงมุ่งแก้ไขปัญหาแก่อาณาประชาราษฎร์ ปวงประชาต่างพร้อมใจถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระราชบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย พระราชบิดาแห่งฝนหลวง พระราชบิดาแห่งนวัตกรรม พระราชบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระราชบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระบิดาแห่งการวิจัยไทย พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

นอกจากนี้ พระเกียรติคุณเกริกไกร นานาประเทศทั่วโลกต่างยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณ เพื่อเทิดพระเกียรติในด้านต่างๆ ได้แก่

พัฒนาประเทศ-พัฒนาชนบท

เหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณในการนำชนบทให้วัฒนา (The Gold Medal of Outstanding Leadership in Rural Development) The Asian Institute of Technology ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530

เหรียญสดุดีขององค์กรโรตารีสากล (The Award of Honor) องค์กรโรตารีสากลทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2534 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงมุ่งมั่นพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

เหรียญฟิแล (Philae Medal) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงยกระดับคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รางวัล UN HABITAT Scroll of Honour Award (Special Citation) โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlements Programme : UN HABITAT) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย ทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอย่างยั่งยืน

รางวัลเกียรติยศ ดร.นอร์แมน อี บอร์ล็อค ประจำปี 2549 มูลนิธิเวิลด์ฟู้ด (World Food Prize Foundation) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2550 ในฐานะ พระมหากษัตริย์นักพัฒนาŽ

พระราชกรณียกิจพัฒนาเกษตร

เหรียญทองประกาศเกียรติคุณด้านสิ่งแวดล้อม (UNDP Gold Medal of Distinction) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจดีเด่นเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เหรียญรางวัลเทิดพระเกียรติในด้านการสงวนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ (The Natura Pro Futura) The International Society of Chemical Ecology (ISCE) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2536 เพื่อประกาศเกียรติคุณด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันได้ริเริ่มจัดให้มีรางวัล

รางวัล The International Merit Award โดย The International Erosion Control Association (IECA) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ ในการนำหญ้าแฝกมาใช้อนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพ สิ่งแวดล้อม

รางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด (The Bronze Vetiver Sculpture Award) ธนาคารโลก (World Bank) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2536 เพื่อเทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงเป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ และสดุดีพระเกียรติคุณความสำเร็จด้านวิชาการและการพัฒนาในการส่งเสริมเทคโนโลยีหญ้าแฝกระหว่างประเทศ

อุทิศตนเพื่อมนุษยธรรม

เหรียญอะกริคอลา (Agricola Medal) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพเพาะปลูก และทรงบำรุงรักษาน้ำและป่า ซึ่งพระองค์ทรงยึดหลัก สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อความมั่นคงในอนาคตŽ มาเป็นหลักปฏิบัติ

เหรียญทองเทิดพระเกียรติในฐานะทรงห่วงใย และอุทิศพระองค์ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และพสกนิกรโดยรวม (The International Rice Award Medal) สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (The International Rice Institute : IRRI) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 เพื่อสดุดีและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยและอุทิศพระวรกายในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและพสกนิกร ด้วยการส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการปลูกข้าว

เหรียญเทเลฟู้ด (Telefood Medal) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (The Food and Agriculture Organization : FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เป็นเหรียญเทเลฟู้ดเหรียญแรกของโลก เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความผาสุกของราษฎรในชนบท ให้ยืนหยัดต่อสู้เพิ่มพูนผลผลิตทางการเกษตรและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

เหรียญรางวัลดอกเตอร์นอร์แมน อี. บอร์ลอก มูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์ ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 โดยเหรียญรางวัลนี้จัดทำขึ้นเพื่อมอบแด่ผู้นำประเทศต่างๆ ที่อุทิศตนเพื่อมนุษยธรรมในการขจัดความหิวโหยและความยากจนช่วยให้การพัฒนามนุษย์ก้าวหน้าขึ้น โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ รางวัลจากมูลนิธิเวิลด์ฟู้ดไพรซ์นี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า เป็นเสมือนรางวัลโนเบลสาขาอาหารและการเกษตร

พัฒนาวิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี 2619

รางวัลอุตุนิยมวิทยาโลก (Award of Recognition of His Majestyžs Strong Support for Meteorology and Operational Hydrology) ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสดุดีพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ ที่ทรงเป็นผู้นำความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา

โล่รางวัลเกียรติยศการศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมและพัฒนาดัดแปลงสภาวะอากาศ (UAE International Prize for Weather Modification) เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทยทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมและพัฒนาดัดแปลงสภาวะอากาศได้สำเร็จ

รางวัลไอเอฟไอเอ คัพ (IFIA CUP) และรางวัล Genius Medal ซึ่งสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (The International Federation of Inventoržs Associations : IFIA) ทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมประกาศนียบัตรเกียรติคุณในผลงานเรื่อง กังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550

รางวัล Special Prize พร้อมประกาศนียบัตร ซึ่งสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (Korea Invention Promotion Associaton : KIPA) หรือคิปา ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เป็นรางวัลพิเศษจากผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนาŽ ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติของนักประดิษฐ์ในระดับโลก

รางวัลพระอัจฉริยภาพทางการประดิษฐ์ (Glory to the Greatest Inventor Award from IFIA) ซึ่งสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (The International Federation of Inventoržs Associations : IFIA) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551 ในฐานะที่ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน และทรงมีผลงานการประดิษฐ์คิดค้นกว้า 1,000 ชิ้น รางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลแรกและรางวัลเดียวของโลก

รางวัล ผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญาŽ (WIPO Global Leaders Award) ที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เป็นรางวัลสูงสุดครั้งแรกขององค์กรเนื่องจากได้ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถด้านการประดิษฐ์คิดค้น จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ คือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝนหลวง ไบโอดีเซลและทฤษฎีใหม่

พัฒนาสังคม-ทรัพยากรมนุษย์

เหรียญทองสาธารณสุขเพื่อมวลชน (Health-for-All) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 ด้วยตระหนักในพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ นานัปการ เพื่อประโยชน์ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อสุขภาพและความกินดีอยู่ดีของพสกนิกรชาวไทย

เหรียญทองคำสดุดีพระเกียรติคุณด้านการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด (Award of Appreciation in Recognition of Outstanding Contributions in the Field of International Drug Control) ซึ่งโครงการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (The United Nations International Drug Control Programme : UNDCP) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2537 เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบสูง

โล่เกียรติคุณในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ในระดับผู้นำประเทศ (The Presidential Award for Humanitarian Service) ซึ่งองค์กรโรตารีสากล (The Rotary International) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 เพื่อเทิดพระเกียรติการทรงงานพัฒนาประเทศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร และเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติสุขความเจริญก้าวหน้า ความรุ่งเรืองของประเทศชาติ ตลอดจนความเป็นเอกภาพแก่มวลมนุษย์ทั่วโลก

ทรงงานหนักเพื่อสุขภาพชาวไทย

รางวัล The Partnering for World Health Award ซึ่งวิทยาลัยแพทย์รักษาโรคทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Chest Physicians) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2540 เพื่อแสดงความชื่นชมและสำนึกในพระวิริย อุตสาหะที่ทรงสนับสนุนให้มีการป้องกันและรักษาโรคทรวงอกในประเทศไทย และเพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงงานอย่างอุทิศพระวรกายเพื่อสุขภาพและอนามัยของปวงชนชาวไทย

เหรียญทองเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นทั้งผู้นำ ผู้บุกเบิก และดำเนินโครงการควบคุมปัญหาการขาดสารไอโอดีนในประเทศไทย ซึ่ง The International Council for Control of lodine Deficiency Disorders (ICCIDD) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540

เหรียญทองสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยต่อสุขภาพปอดของประชาคมโลก ซึ่งสหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (The International Union Against Tuberculosis of Lung Disease : IUATLD) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2541

รางวัล International Humanitarian Award ซึ่งสโมสรไลออนส์ (The Lions Clubs International) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2542 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและการศึกษา

โล่เฉลิมพระเกียรติ (WHO Plaque) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ในฐานะที่ทรงสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขทุกด้านในประเทศไทย รวมทั้งการงดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก



พระมหาราชาžผู้ยิ่งใหญ่

รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development Life Achievement Award) ซึ่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 เป็นครั้งแรกที่สหประชาชาติได้จัดทำรางวัลเกียรติยศนี้ขึ้น เพื่อมอบให้กับบุคคลดีเด่นที่อุทิศตนตลอดช่วงชีวิต และสร้างคุณค่าของผลงานเป็นที่ประจักษ์ และคุณูปการที่ผลักดันความก้าวหน้าในการพัฒนาคน

ซึ่งในโอกาสนี้ นายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ว่า

“…พระองค์ทรงเอื้อมพระหัตถ์เอื้อไปยังบรรดา ผู้ที่ยากจนที่สุด และเปราะบางที่สุดในสังคมไทย ทรงรับฟังปัญหาของพวกเขาเหล่านั้น และให้ความช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นให้สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตของตนเองต่อไปได้ด้วยกำลังของตัวเอง…โครงการเพื่อการพัฒนาชนบทต่างๆ ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังประโยชน์ให้กับประชาชนนับเป็นล้านๆ ทั่วทั้งสังคมไทย…

ผลสำเร็จของโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะสร้างประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีพระประมุข ผู้นำองค์กร และหน่วยงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งผลให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริไปยังพื้นที่อื่นในนานาประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงŽ”

บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหาราชาอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเสด็จสวรรคตแล้ว ปวงชนชาวไทยทุกคนต่างหลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์

น้ำตาแห่งความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติจะเป็นสายน้ำแห่งความอาลัยรัก พระมหาราชาŽ ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของปวงชนชาวไทย

ภาพประกอบจาก หนังสือ “๗๐ สัมพัจฉร์ฉลองรัชธรรมราชา” กวีนิพนธ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๗๐ ปี พิมพ์ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2559 โดยกรมศิลปากร

ขอบคุณข้อมูลจาก matichon