หลัก "ทศพิธราชธรรม"มีอะไรบ้าง
เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสว่า ''เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม''
คุณกีรติ วงศ์เสถียรชัย จากเชียงใหม่ต้องการทราบว่า ทศพิธราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยเรา ทรงยึดเป็นหลักในการบริหารปกครองบ้านเมืองนั้นมีอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันแล้ว
ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม 10 คือ จริยวัตร 10 ประการ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมืองให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
ทศพิธราชธรรมมีที่มาจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ข้อมูลจากเว็บไซต์ easyinsurance.com อธิบายไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลก็เช่นเดียวกับทุกวันนี้ คือ มีผู้ปกครองปกครองประเทศโดยขาดความยุติธรรม ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกทรมาน ถูกกลั่นแกล้งถึงตาย ถูกบังคับเก็บภาษีมากจนเกินขอบเขต และถูกลงโทษด้วยวิธีการลงโทษที่โหดเหี้ยมทารุณ พระพุทธเจ้าทรงสลดพระทัยต่อการกระทำอันไร้มนุษยธรรมเหล่านี้
ในอรรกถาธรรมบท (ธัมมปัฏฐกภา) บันทึกไว้ว่า ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงมุ่งพระทัยสู่ปัญหาว่าทำอย่างไรถึงจะมีรัฐบาลดีๆ ได้ โดยทัศนะต่าง ๆ ของพระองค์จะเป็นที่เข้าใจได้ก็ต่อเมื่อได้พิจารณาถึงภูมิหลังของด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองของยุคพุทธกาลประกอบไปด้วย พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าทั่วทั้งประเทศจะเกิดความฟอนเฟะ เสื่อมโทรม และไร้สุข เมื่อหัวหน้ารัฐบาล คือ กษัตริย์ เสนาบดี และข้าราชการ มีแต่ความฟอนเฟะ และขาดความยุติธรรม เพราะว่าการที่ประเทศจะมีความสงบสุขได้นั้น จะต้องมีรัฐบาลที่ปกครองด้วยความยุติธรรม ซึ่งวิธีการที่จะก่อให้เกิดรัฐบาลเช่นนี้ได้นั้นผู้ปกครองจะต้องยึดหลักคำสอนว่าด้วย “ กิจวัตรของพระราชา 10 ประการ ” หรือ "ทศพิธราชธรรม" นั่นเอง
หลักทศพิธราชธรรมทั้ง 10 ข้อ มีดังนี้
1.ทาน คือ การให้ หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย
2.ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา
3.บริจาค คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
4.ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต
5.ความอ่อนโยน คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า
6.ความเพียร คือ ความมีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน
7.ความไม่โกรธ คือ ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล
8.ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น
9.ความอดทน คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย
10.ความยุติธรรม คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการ Online