• เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2559 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.4 YoY) จากการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอลงทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการในปี 2558 ในขณะที่การส่งออกกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จากการส่งออกสินค้าที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยท่ามกลางรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ดี
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2559 คาดว่า จะยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ไว้ได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 4/2559 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในช่วงปีก่อนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 3.3
  • สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2559 โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทิศทางการค้าและการลงทุนของโลกจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

การส่งออกสินค้าที่เป็นบวกได้กลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2559 โดยการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะผ่อนแรงลงไปบ้าง

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่องจากในไตรมาสที่ 2/2559 โดยตัวเลข GDP ที่ปรับฤดูกาลในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 0.6 (QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 (QoQ, s.a.) ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงประคองตัวเติบโตได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 (QoQ, s.a.) แต่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงของการใช้จ่ายในสินค้าคงทนและกึ่งคงทน จากการซื้อยานพาหนะที่หดตัวร้อยละ 3.9 (QoQ, s.a.) และการใช้จ่ายในหมวดของตกแต่งบ้านและเครื่องเรือนหดตัวลงร้อยละ 3.2 (QoQ, s.a.)

ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 (YoY) ในไตรมาส 2/2559 มาจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ลดลง โดยการบริโภคภาครัฐที่หดตัวร้อยละ 5.8 (YoY) ส่วนหนึ่งเป็นผลเชิงเทคนิคจากการปรับฐานเงินเดือนย้อนหลังของข้าราชการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 6.3 (YoY) เป็นผลมาจากการลงทุนในอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรหดตัวลง รวมถึงการก่อสร้างที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวกลับมาเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.4 (YoY) รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้ดีส่งผลให้ภาคการส่งออกกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2559

  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2559 คาดว่า จะยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) ไว้ได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 4/2559 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในช่วงปีก่อนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมถึงการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต รวมถึงการท่องเที่ยวที่อาจจะได้รับผลจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 3.3
  • สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2559 โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทิศทางการค้าและการลงทุนของโลกจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
ขอบคุณข้อมูลจาก www.kasikornresearch.com