เคาะงบ61ทะลุ2.9ล้านล้าน รัฐหวังขับเคลื่อนการใช้จ่าย ต่ออายุมาตรการ ภาษี ลงทุน
ครม. เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2561 ที่ 2.9 ล้านล้านบาท เคาะตัวเลขรายได้สุทธิ 2.45 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท สั่งขยายเวลามาตรการเข็นเอกชนลงทุนเพิ่มอีก 1 ปี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 โดยคาดว่ารัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 2.93 ล้านล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษี การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว จะคงเหลือรายได้สุทธิ อยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.99 หมื่นล้านบาท หรือ 3.4%
ขณะที่มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2561 อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 74% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.05 หมื่นล้านบาท หรือ 0.5%, รายจ่ายลงทุน 6.67 แสนล้านบาท คิดเป็น 23% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.79 พันล้านบาท หรือ 1.3%, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 3% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.81 พันล้านบาท หรือ 7.2% ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่ได้มีรายการที่เสนอตั้งงบประมาณ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 ได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสุทธิ 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของงบประมาณรวม ลดลงจากปีก่อนหน้า 1.02 แสนล้านบาท หรือ 18.6% โดยการจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า เศรษฐกิจในปี 2561 จะขยายตัวที่ระดับ 3.3-4.3% ดีกว่าปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าอยู่ที่ 1.5-2.5%
“ในปีงบประมาณ 2561 ถือเป็นครั้งแรกที่งบลงทุนแตะที่ระดับ 23% ของงบประมาณรวม สะท้อนว่ารัฐบาลมีความตั้งใจในการขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการจากเดิมเน้นรายกระทรวงเป็นแบบขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งมีการจัดทำงบกลุ่มจังหวัดเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการกระจายการเติบโตของเศรษฐกิจ” นายกอบศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ตามข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2560 เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทั้งมีการปรับปรุงจำนวนการหักรายจ่ายจาก 2 เท่าในปีที่แล้ว เหลือ 1.5 เท่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลังมากเกินไป
สำหรับสาระสำคัญของการขยายเวลามาตรการกระตุ้นเอกชนลงทุนในครั้งนี้ กำหนดให้บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่าย เพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพ
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การขยายเวลามาตรการในครั้งนี้ ยังให้สิทธิ์กับผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับสิทธิ์มาตรการกระตุ้นการลงทุนหักรายจ่าย 2 เท่าในปีที่ผ่านมาได้อีกด้วย โดยจะต้องเข้ามาแจ้งความจำนงและรายละเอียดรวมทั้งวงเงินของโครงการ.
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipost จากหัวข้อข่าว : เคาะงบ61ทะลุ2.9ล้านล้าน รัฐหวังขับเคลื่อนการใช้จ่าย ต่ออายุมาตรการ ภาษี ลงทุน