โอนเดินรถสายสีเขียว "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ไม่คืบ หลัง กทม.ไม่ชัดเจนรับโอนหนี้ กระทบเปิดเดินรถนำร่อง 1 สถานี “แบริ่ง-สำโรง” ส่อแววเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด รฟม.ชี้ต้น ก.พ.ไม่ชัดเจน ชง ครม.แก้ปัญหา

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ได้ตรวจรับงานจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับเหมา และได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงสร้างงานโยธา ทางวิ่ง ระบบราง สถานี อาคารจอดแล้วจร และศูนย์ควบคุมการเดินรถ หรือเดปโป้

ทั้งนี้ ถือว่าแล้วเสร็จและส่งมอบได้เร็วกว่าแผน 19 วันหรือ 2% ซึ่งเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 4 ม.ค.60 แต่สามารถส่งมอบได้ในวันที่ 16 ธ.ค.59 ซึ่งหลังตรวจรับงานแล้ว ภายในวันที่ 6 ก.พ.60 จะเป็นการออกเอกสารรับรองให้ผู้รับเหมา และคาดว่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ทันตามกำหนดในเดือน ธ.ค.2561

สำหรับความคืบหน้าในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่ง รฟม.จะต้องโอนให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอความชัดเจนการรับโอนหนี้ของ กทม.วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เรียบร้อย รวมถึงการเดินรถนำร่อง 1 สถานีที่จากแบริ่ง-สำโรง ซึ่งเดิมตั้งเป้าเปิด 1 มี.ค.นี้ คาดว่าไม่สามารถเดินรถได้ทันต้องเลื่อนออกไป

หากในต้นเดือน ก.พ.นี้ ทาง กทม.ยังไม่มีความชัดเจน หรือยังไม่พร้อมที่จะรับโอน จะต้องเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางต่อไป" นายสุรเชษฐ์กล่าว

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทางระยะทาง 13 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางด้านทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง

ทั้งนี้ จะมีสถานียกระดับ 9 สถานี ได้แก่ สถานีสำโรง สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีเอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีสมุทรปราการ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ มีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 123 ไร่ บริเวณจุดสิ้นสุดโครงการหลังสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ประกอบด้วย อาคารบริหาร และศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการเดินรถ อาคารซ่อมบำรุงหลัก อาคารจอดรถไฟฟ้า รางทดสอบและอาคารประกอบอื่นๆ.

ขอบคุณข้อมูลจาก Thaipost จากหัวข้อข่าว : ส่อเลื่อนเปิด สายสีเขียว หลังกทม.เมินรับโอนหนี้ รฟม.ชงครม.เร่งแก้ปัญหา