ทันทีที่กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2565 ผ่านการอนุมัติจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งผลให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับความแตกต่างของระบบรางพอสมควร เนื่องจากโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีการก่อสร้างรถไฟระยะ เร่งด่วนหลายโครงการ ทั้งรางแบบ มิเตอร์เกจ (Metre gauge) ขนาดความกว้างราง 1 เมตร และรางแบบมาตรฐาน หรือ สแตนดาร์ดเกจ (Standard gauge) ขนาดความกว้างของราง 1.435 เมตร เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ เรื่องของระบบรางที่ใช้กันทั่วโลก จึงทราบว่าขนาดความกว้างของรางรถไฟที่ใช้กันในแต่ละประเทศทั่วโลกมีหลายขนาด ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นราง แบบสก๊อตช์เกจ (Scotch gauge) ขนาด 1.372 เมตร แบบเคปเกจ (Cape gauge) ขนาด 1.067 เมตร แบบอินเดียนเกจ (Indian gauge) ขนาด 1.676 เมตร แบบไอเบอเรียนเกจ (Iberian gauge) ขนาด 1.668 เมตร แบบไอริเกจ (Irish gauge) ขนาด 1.600 เมตร และ แบบรัสเซียนเกจ (Russian gauge) ขนาด 1.520 เมตร เป็นต้น ในจำนวนรางทั้งหมดที่ใช้มากสุด คือ แบบมิเตอร์เกจ และแบบสแตนดาร์ดเกจปัจจุบันประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนใช้รางแบบมิเตอร์เกจ ดังนั้น ในการพัฒนารถไฟทางคู่ตามกรอบยุทธศาสตร์จึงกำหนดให้ขยายรถไฟทางคู่ซึ่งเป็น แบบมิเตอร์เกจ จำนวน 6 เส้นทาง เพื่อให้เชื่อมต่อกับระบบเดิมที่มีอยู่ได้ และยังจะช่วยเพิ่มความเร็วของขบวนรถได้มากขึ้น จากปัจจุบันความเร็วเฉลี่ยของขบวนรถสินค้าใช้ความเร็วได้ 29 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเพิ่มขึ้นเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขบวนรถโดยสารใช้ความเร็วได้เฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะยังใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนเหมือนเดิม ซึ่งจำนวน 6 เส้นทางที่จะสร้าง ประกอบด้วย 1.สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร 2.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร 3.สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร ทั้ง 3 เส้นทางจะดำเนินการช่วงปี 2558-2561 4.สายมาบกะเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร 5.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร และ 6.สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ดำเนินการระหว่างปี 2559-2563 รวม 6 สาย ระยะทาง 887 กิโลเมตร ส่วนรางแบบสแตนดาร์ดเกจจะใช้มากในแถบยุโรป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยก็ใช้รางขนาดนี้ในโครงการรถไฟฟ้าในทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ด้วย คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่ก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 94% และจะเปิดบริการได้ต้นปี 2559 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเช่นเดียวกัน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี ขณะเดียวกันก็จะนำมาใช้ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ใหม่อีก 2 เส้นทาง ซึ่งจะเป็นรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางแรกที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า คือ 1.สายหนองคาย-นครราชสีมา-สระบุรี-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ระยะทาง 737 กิโลเมตร และ 2.สายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 2558-2564 นั่นหมายความว่าอาจจะมีการก่อสร้างเสา เพื่อโยงสายไฟไว้ ด้านบนเหมือนกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ให้บริการจากพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือสายไฟไว้ด้านล่างขนานไปกับรางเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวจะสามารถให้บริการได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งการดำเนินงานศึกษาและออกแบบโครงการ จะนำผลการศึกษาของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในเส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ และเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ซึ่งใช้รางแบบสแตนดาร์ดเกจ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้มาต่อยอด เพื่อให้การดำเนินโครงการรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในอนาคตจะสามารถปรับเป็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งให้บริการ ได้ด้วยความเร็วตั้งแต่ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไปได้ เพราะขนาดของรางและระบบสามารถรองรับได้ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐานดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้สามารถก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้รวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันจะไม่ต้องใช้ชื่อซ้ำกันกับโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย แต่ท้ายที่สุดรถไฟทางคู่ทั้ง 2 เส้นทางก็จะกลายเป็นรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง ส่วนระบบรางอีกรูปแบบหนึ่งที่คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะยังไม่มีให้บริการขนส่งสาธารณะ คือ รถไฟรางเดี่ยว หรือโมโนเรล มีรางเดียวอยู่ตรงกลาง โดยมีขบวนรถไฟวิ่งอยู่ตรงกลาง ก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์เช่นเดียวกัน แต่อยู่ในส่วนของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย ที่มา : นสพ.มติชน