ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างเคาะล้มทีโออาร์รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง พร้อมสั่งบอร์ด รฟท.ทบทวน 4 แนวทางที่เคยเสนอ ก่อนดันแนวทางที่ 5 หวังเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น พ่วงปรับแนวทางการคิดราคา โละวิธีคิดแบบหลงจ้ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง) เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างได้ข้อสรุป ให้ยกเลิกกระบวนการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางเดิมทั้งหมด และเห็นชอบให้คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทบทวนแนวทางการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ทั้ง 4 แนวทางที่เคยเสนอมา

โดยคณะกรรมการกำกับฯ เห็นว่าควรใช้ทางเลือกใหม่เป็นแนวทางที่ 5 ในการปรับปรุงทีโออาร์ ซึ่งหลังจากนี้ได้นัดประธานคณะกรรมการ รฟท.มาประชุมรับฟังแนวทางร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในข้อปฏิบัติวันที่ 22 มี.ค.นี้

ประธานบอร์ดจัดซื้อจัดจ้างกล่าวว่า สำหรับแนวทาง 5 ที่เสนอไปจะเน้นการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ขณะเดียวกันจะปรับเปลี่ยนแนวทางการคิดราคากลาง จากเดิมที่คิดแบบเหมารวมทั้งโครงการ หรือแบบหลงจ้ง เป็นคิดราคากลางแบบเป็นช่วงตามสัญญา ซึ่งจะทำให้ราคากลางเปลี่ยนไป และต้องนำโครงการทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาใหม่อีกครั้ง

โดยขั้นตอนเหล่านี้ประเมินว่าจะทำให้การเปิดประกวดราคารถไฟทางคู่ทั้ง 5 เส้นทางล่าช้ากว่าเดิมที่มีกำหนดช่วงเดือน มี.ค.60 ออกไปอีก 5-7 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อเวลาเพื่อแลกกับความรอบคอบ เพราะทั้ง 5 โครงการถือว่ามีมูลค่าการลงทุนมหาศาล และยังจะใช้เป็นบรรทัดฐานในการจัดทำทีโออาร์การประมูลรถไฟทางคู่ต่อไปในอนาคตอีกหลายเส้นทางด้วย

"หลังจากมีการรับฟังข้อมูลและอุปสรรคจากหลายฝ่าย ทั้งผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการ บริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบทางรางอย่างรอบคอบแล้ว คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างและคณะกรรมการ รฟท.เห็นตรงกันว่า ควรจะมีการทบทวนทีโออาร์และขั้นตอนการประกวดราคาเดิม พร้อมกำหนดทีโออาร์ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยยึด 3 แนวทาง คือ การเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทำให้โครงการเดินหน้ามีประสิทธิภาพ และระยะเวลาการดำเนินโครงการต้องไม่ล่าช้า โดยในส่วนของทีโออาร์ใหม่คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 1-2 เดือน"

นายประสารกล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้คำนึงถึงความสำคัญของการทำในแง่ปฏิบัติ โดยแนวทางใหม่ต้องปฏิบัติได้ด้วย ไม่ใช่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อมีการแยกโครงการออกมาเยอะแล้วบริหารจัดการได้ยาก หรือมีการส่งงานล่าช้า จึงต้องมีการหารือร่วมกับผู้ปฏิบัติคือบอร์ดการรถไฟฯ ให้เข้าใจตรงกัน

สำหรับ 4 แนวทางที่คณะกรรมการ รฟท.เสนอประกอบด้วย การใช้แนวทางเดิม คือรวมงานโยธา งานระบบราง และงานระบบอาณัติสัญญาณเป็นสัญญาเดียว จำนวน 5 สัญญา 2.แบ่งสัญญาให้มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยยังรวมโยธา ระบบราง และงานอาณัติสัญญาณไว้ด้วยกัน รวม 10 สัญญา ต่อมาแบ่งสัญญาโดยแยกงานระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา รวม 10 สัญญา และ 4.แบ่งสัญญา โดยแยกงานระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา และแบ่งงานโยธาให้มีมูลค่า 5,000 ล้านบาท รวม 15 สัญญา

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) รักษาการผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างว่า ในส่วนของ รฟท.พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของซูเปอร์บอร์ด ซึ่งขณะนี้ก็รอทิศทางที่ชัดเจน ในส่วนของฝ่ายปฏิบัติก็เตรียมพร้อมข้อมูลที่จะต้องชี้แจง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากมีการเริ่มทบทวนทีโออาร์ใหม่ จะทำให้โครงการล่าช้าประมาณ 5-6 เดือน

สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 29,447.31 ล้านบาท 2.งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. ราคากลาง 23,900 ล้านบาท 3.งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. ราคากลาง 19,270 ล้านบาท 4.งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม. ราคากลาง 9,990 ล้านบาท และ 5.งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. ราคากลาง 16,500 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีผู้รับเหมารายใหญ่เข้าประมูลทั้ง 5 เส้นทาง ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ (ITD), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และอยู่ในขั้นตอนรอการประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติให้เข้าเคาะราคาประมูล

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ รักษาการผู้ว่าฯ รฟท.ได้เรียกผู้บริหารของ รฟท.ประชุม แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าจะมีการหารือกันเรื่องอะไร.

ขอบคุณข้อมูลจาก thaipost จากหัวข้อข่าว : ล้มTOR รถไฟทางคู่ 5เส้น เปิดกว้างแข่งขันมากขึ้น