อ่วม!จ่อขึ้น ค่าเอฟที 21สต. ชี้เหตุจากการอุ้มพลังงานทดแทนคาดพีกทะลุ3.2หมื่นเมก
ประชาชนอ่วม! ค่าเอฟทีช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.จ่อพุ่งกว่า 21 สต. ด้าน กกพ.อ้างเป็นผลมาจากจ่ายเงินหนุนผลิตไฟฟ้าพลังงานนทดแทน ด้าน สนพ.เผยแหล่งก๊าซยาดานาหยุดซ่อม 9 วัน หวั่นกระทบไฟในประเทศ พร้อมคาดการณ์พีกปีนี้เกิน 3.2 หมื่นเมกฯ เหตุอากาศร้อนขึ้น
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กลางเดือน เม.ย.นี้ กกพ.จะมีการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพื่อพิจารณาเรียกเก็บในบิลค่าไฟประชาชนงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.60 ซึ่งยอมรับว่า ค่าเอฟทีงวดดังกล่าวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 21 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบมากขึ้น และการใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าในช่วงปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ยาดานาในเมียนมา เป็นเวลา 9 วัน ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.นี้
"ที่ผ่านมานั้นค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย.60 อยู่ที่ -37.29 สตางค์ต่อหน่วย ลดลงจากงวด ก.ย.- ธ.ค.59 จำนวน 4 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนงวดใหม่เดือน พ.ค.-ส.ค. มีปัจจัยบวกหลายอย่าง ทำให้มีแนวโน้มต้องปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานทดแทนยอมรับว่า ปีที่ผ่านมามีผลต่อค่าเอฟที เพิ่มขึ้น 21 สตางค์ต่อหน่วย แต่ปีนี้คาดว่าพลังงานทดแทนที่เข้าระบบเพิ่มมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อเอฟที สูงขึ้นกว่า 21 สตางค์ต่อหน่วย" นายวีระพลกล่าว
นายวีระพลกล่าวว่า ปีนี้จะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบหลากหลายประเภท เริ่มจากโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ภาคราชการ ระยะที่ 1 ที่จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบจนครบ 280 เมกะวัตต์ ในเดือน เม.ย.นี้, พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (เอสพีพี ไฮบริด) จำนวน 300 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบเดือน มิ.ย.-ก.ค. และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของเอกชนขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) จะเข้าระบบในเดือน ก.ย.-ต.ค. โดยยอมรับว่าการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของพลังงานทดแทนหลายประเภทจะส่งผลให้กระทบต่อค่าเอฟที
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.2560 จะมีการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา ประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซหลักที่ประเทศไทยพึ่งพา จำนวน 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อผลิตไฟฟ้า 6,400 เมกะวัตต์ และกระทบต่อปริมาณก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่งให้หายจากระบบ 20% ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะอันตรายตลอด 9 วัน ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้
ขณะเดียวกันในช่วง 9 วันดังกล่าว อาจจะตรงกับช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของปี 2560 ที่พยากรณ์ว่า มีโอกาสเกิดช่วงปลายเดือน มี.ค.-พ.ค. อยู่ที่ 32,059 เมกะวัตต์ ขยายตัวจากปีก่อน 1,086 เมกะวัตต์ หรือ 3.5% เนื่องจากอุณหภูมิจะสูงขึ้นถึงประมาณ 37-40 องศาเซลเซียส จึงยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่
ดังนั้นกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันปัญหาไฟตก ไฟดับ กระทบต่อชีวิตประชาชน ทั้งการเตรียมพร้อมน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ให้ 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เตรียมพร้อมรับมือ ขณะเดียวกันอยากขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรม ภาคบริการ และประชาชนในการประหยัดพลังงานด้วย.
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipost จากหัวข้อข่าว : อ่วม!จ่อขึ้น ค่าเอฟที 21สต. ชี้เหตุจากการอุ้มพลังงานทดแทนคาดพีกทะลุ3.2หมื่นเมก