ยกเครื่องบำนาญ อัพรายได้เกษียณ ดูแลกลุ่ม ผู้สูงอายุ
คลังเตรียมยกเครื่องระบบบำนาญ เพิ่มประสิทธิภาพดูแลผู้สูงอายุ หวังคนชรามีรายได้ 50% ของรายได้สุดท้ายก่อนเกษียณ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ระบบบำนาญและการลงทุน เป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทย เนื่องจากก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว หากไม่มีการเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ภาระงบประมาณการดูแลผู้สูงอายุ 15 ปีข้างหน้า สูงถึง 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้คนไทยมีเงินบำนาญหลังเกษียณไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้สุดท้ายก่อนเกษียณ จะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ระบบบำนาญของไทยมีหลายแบบ ตั้งแต่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นกองทุนภาคบังคับของข้าราชการ ซึ่งมีการดำเนินงานที่ดี ทำให้สมาชิกมีรายได้หลังเกษียณสูงถึง 70% อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้พิจารณาแก้กฎหมาย กบข. ให้ตั้งหน่วยงาน หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) รับจ้างบริหารเงินกองทุน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกของ กบข.มากขึ้น
“การแก้ไขกฎหมาย กบข.ได้รับความเห็นชอบจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ส่วนหนึ่งก็เพื่อรองรับให้ กบข.ไปบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย คาดว่าจะผ่านการพิจารณาของ สนช.ในปีนี้ และมีผลบังคับใช้ ม.ค.2561 เป็นต้นไป” นายสมชัยกล่าว
สำหรับ กบช.จะเป็นการออมภาคบังคับของแรงงานภาคเอกชน โดยให้ผู้ประกอบการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน จากเดิมที่เป็นกองทุนภาคสมัครใจ ซึ่งจะทำให้แรงงานเอกชนมีรายได้หลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนประกันสังคม รวมกันได้ไม่น้อยกว่า 50%
ในส่วนของกองทุนประกันสังคม ปัจจุบันมีสมาชิกสะสมเงินน้อย ทำให้มีรายได้หลังเกษียณต่ำเพียง 20% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายให้มีการส่งเงินสมทบเพิ่มมากขึ้นจาก 5% เป็น 10% และขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน จะส่งผลให้กองทุนมีรายได้จ่ายสมาชิกหลังเกษียณมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะแก้ไขกฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้สมาชิกแรงงานนอกระบบ รวมถึงรัฐบาลส่งเงินสมทบได้มากขึ้น เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ระบบบำนาญให้มากขึ้น.
ขอบคุณข้อมูลจาก thaipost จากหัวข้อข่าว : ยกเครื่องบำนาญ อัพรายได้เกษียณ ดูแลกลุ่ม ผู้สูงอายุ