เปิดเทอม เงินสะพัด5หมื่นล. ทำสถิติสูงสุดหลังเจอผลกระทบสินค้าแพง-ค่าหน่วยกิตพุ่ง
ม.หอการค้าไทย คาดเปิดเทอมปีนี้เงินสะพัดกว่า 5 หมื่นล้านบาท มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังราคาสินค้าพุ่ง แต่อัตราขยายตัวแค่ 2% เหตุประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะเศรษฐกิจจุลภาคยังไม่ฟื้นจริง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม (ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในระดับมหาวิทยาลัย) ที่สำรวจจากประชาชน 1,202 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-9 พ.ค.60 ว่า ในช่วงเปิดเทอมปีนี้ คาดมีการใช้จ่ายเงินรวม 50,196.81 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.14% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่า 49,145 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจเมื่อปี 53 ที่มีค่าใช้จ่าย 38,377 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนจะอยู่ที่ 12,295.70 บาท ซึ่งผู้ตอบ 53.3% ระบุค่าใช้จ่ายในปีนี้เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วน 20.1% ตอบเท่าเดิม และอีก 16.7% ตอบน้อยลงถึงน้อยลงมาก อย่างไรก็ตาม คนที่ตอบค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเพราะรายได้สูงขึ้น จึงซื้อของเพิ่มจำนวนชิ้น รวมถึงราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินลดลง และภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่คนตอบค่าใช้จ่ายน้อยลง เพราะรายได้ลดลง ดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง/ใช้ของเก่า-ของพี่ ไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจไทย มีภาระหนี้มาก และราคาของแพงขึ้น
สำหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว แบ่งเป็น ค่าเล่าเรียน/ค่าหน่วยกิต 13,894.83 บาท เพิ่มขึ้น 41.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน, ค่าบำรุงโรงเรียนตามปกติ 2,133 บาท เพิ่มขึ้น 42.9%, ค่าบำรุงโรงเรียนกรณีเปลี่ยนโรงเรียน/แป๊ะเจี๊ยะ 9,138.63 บาท เพิ่มขึ้น 47.1%, ค่าหนังสือ 1,642.34 บาท เพิ่มขึ้น 34.2%, ค่าอุปกรณ์การเรียน 1,928.79 บาท เพิ่มขึ้น 35.1%, ค่าเสื้อผ้า 1,267.20 บาท เพิ่มขึ้น 49%, ค่ารองเท้า/ถุงเท้า 772.32 บาท เพิ่มขึ้น 46% และค่าบริการจัดการพิเศษ เช่น ค่าประกันชีวิต 1,685.63 บาท เพิ่มขึ้น 31.1%
นอกจากนี้ เมื่อถามว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมหรือไม่ ผู้ตอบ 46.9% ตอบเพียงพอ โดยใช้แหล่งที่มาของเงินจากเงินเดือน เงินออม โบนัสและรายได้พิเศษ ส่วนอีก 53.1% ตอบไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะหาเงินโดยการจำนำทรัพย์สิน กู้ยืมเงินนอกและในระบบ ยืมญาติพี่น้อง เบิกเงินสดจากบัตรเครดิต เสี่ยงโชค
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนเสริม ผู้ตอบส่วนใหญ่ส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนเสริม โดยระดับมัธยมปลายเรียนเสริมมากที่สุด รองลงมาคือ มัธยมต้น มหาวิทยาลัย ประถม และอนุบาล เพราะการเรียนในโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมก่อนเรียน
”ค่าใช้จ่ายช่วงเปิดทอมปีนี้เพิ่มขึ้นสูงสุด เพราะของแพงขึ้น แต่อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.14% ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย คนที่มีรายได้น้อยยังซื้อของน้อยชิ้น อะไรที่ยังใช้ได้ก็ยังใช้อยู่ หรือใช้ของพี่ เพราะแม้เศรษฐกิจมหภาคดีขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปยังทุกพื้นที่ เศรษฐกิจของประชาชนยังไม่ดีขึ้นจริง จึงระมัดระวังการก่อหนี้ แต่เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ผู้ปกครองพร้อมก่อหนี้ในระยะสั้น และโรงรับจำนำยังเป็นขวัญใจของผู้ปกครองอยู่เช่นเดิม” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวต่อถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ว่า ศูนย์ฯ ยังคงคาดขยายตัวอยู่ที่ 3.6% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.2% โดยมีปัจจัยผลักดันคือ ภาคการส่งออกที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน รายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินลงทุนของภาคเอกชน และของรัฐที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง.
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด
ขอบคุณข้อมูลจาก : เปิดเทอม เงินสะพัด5หมื่นล. ทำสถิติสูงสุดหลังเจอผลกระทบสินค้าแพง-ค่าหน่วยกิตพุ่ง
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.