เป็นตัวเราดีที่สุด ทำให้เมืองดีขึ้นจากอัตลักษณ์และการออกแบบ
หลังจากภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ หรือที่เราเข้าใจและเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า “เศรษฐกิจวิกฤติต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 ประเทศต้องเปลี่ยนเข็มทิศการพัฒนาและตั้งตัวใหม่อีกครั้ง โดยเห็นได้จากสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่ภาครัฐได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เกิดการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการปรับตัวโดยกลับไปโฟกัสที่ธุรกิจที่อาศัยความชำนาญ และให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการดึงอัตลักษณ์แบบไทยมาใช้ โดยเกิดวลีที่ฮิตและได้ยินบ่อยๆจากนโยบายการพัฒนาว่า “Creative Economic” ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกินบนพื้ฐานสินค้าของความสร้างสรรค์ ถึงแม้ในปัจจุบันคำนี้จะถูกแทนที่ด้วยคำว่า ไทยแลนด์ 4.0 ที่เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าแบบโภคภัณฑ์เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมไปแล้ว แต่เราก็ยังคงเห็นร่องรอยของรูปแบบ Creative Economic ชัดเจน เช่น สินค้า OTOP เป็นต้น
แต่ในครั้งนี้ เราจะพาไปดูว่าในยุคของนวัตกรรมและไทยแลนด์ 4.0 นั้น ยังคงมีผลิตผลของยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์เหลืออยู่บ้าง ผ่านการออกแบบ ที่มีศูนย์กลางคือการพัฒนาเมืองและส่วนรวม
โครงการ Public Transit Lounge by TEN FOR NINETY
“หัวลำโพง” สถานที่ตั้งต้นการเดินทางที่มีความจอแจและมีความแตกต่างมากที่สุดของสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ กลุ่ม TEN FOR NINETY เกิดความคิดในการพึ่งพาความสามารถในการออกแบบของสถาปนิก จากเดิมที่ใช้เวลา 90% ของการทำงานในการออกแบบพื้นที่ให้คน 10% เป็นการใช้เวลาการทำงาน 10% เพื่อการออกแบบให้กลุ่มคน 90% โดยได้ทดลองการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ทำให้ลดความเหลื่อมล้ำ แตกต่าง และสร้างประโยชน์บริเวณใจกลางสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ห้องสมุดโรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น จังหวัดสุพรรณุรี โดยนักศึกษาสถาปัตย์ ศิลปากร
เกิดจากกิจกรรมการออกค่ายอาสาพัฒนาของกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยได้เลือกพื้นที่โรงเรียนบ้านทุ่งนาตาปิ่น เนื่องจากโรงเีีรียนมีความขาดแคลน และบริเวณรอบๆโรงเรียนมีหมู่บ้านเล็กๆอยู่หลายหมู่บ้าน โดยการออกแบบพื้นที่ห้องสมุดที่มีหนังสืออยู่น้อยมากแห่งนี้ อาศัยพื้นฐานของพฤติกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนของเด็ก พื้นที่จึงตอบสนองกิจกรรมหลายรูปแบบ บริเวณรอบห้องสมุดมีต้นหูกวางขนาดใหญ่หลายต้น ทำให้เกิดความร่มรื่นและเอื้อต่อการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมไปถึงการเข้าถึงของชาวบ้านในละแวกนั้นด้วย
กระเป๋าผ้าจากเศษจีวรพระ โดยชุมชนวังกรมพระสมมติอมรพันธ์และกลุ่ม TRAWELL
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนวังกรมพระสมมติอมรพันธ์มีอาชีพเย็บผ้าตรมาเป็นเวลาช้านาน จนเกิดเศษผ้าเหลือทิ้งมากขึ้นทุกวัน กลุ่ม TRAWELL ดีไซเนอร์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จึงได้เข้ามาต่อยอดอาชีพของชาวบ้านในชุมชน โดยได้นำการออกแบบสินค้าที่เกาะติดเทรนด์การบริโภคของคนในปัจจุบันมาเพิ่มมูลค่าของเศษผ้าที่หลงเหลือ จนต่อยอดให้เกิดอาชีพละความชำนาญในหลายชุมชน เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬและชุมชนวรจักร
“ห้อม” แห่งวัฒนธรรม บนถนนทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่
ผ้าหม้อห้อม เป็นสินค้าที่ชาวเมืองแพร่นั้นเป็นกลุ่มผู้ผลิตมาเป็นเวลานาน จนเกิดถนนแห่งห้อมหรือ “ถนนทุ่งโฮ้ง” ซึ่งเป็นถนนที่มีสินค้าจากหม้อห้อมเรียงรายอยู่สองข้างทาง ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันสินค้าหม้อห้อมของแพร่นั้นมีการพัฒนาจนเกิดเป็นกลุ่มงานคราฟท์ในเมืองแพร่ ที่มีแนวคิดในการพัฒนาสินค้าจากภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ของคนแพร่ ให้มีความทันสมัยและสร้างมูลค่ามากขึ้น จากเดิมหม้อห้อมมีมูลค่าประมาณ 600-800 ล้านบาทต่อปี แต่ปัจจุบันมูลค่าของสินค้าหม้อห้อมมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี