จากนโยบายในการพัฒนาพื้นที่ในภาพรวมของภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เริ่มจากการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในหัวเมืองหลักของภาคอีสานเพื่อเชื่อมโยงและสานต่อกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตามเส้นทางอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ในขณะนี้หลายจังหวัดเกิดกระแสการตื่นตัวในการที่จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น ที่จะส่งผลต่อการค้า การลงทุน ที่สำคัญคือการจ้างงานในระดับท้องถิ่นจนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ และวงเงินสะพัดในพื้นที่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีเขตชายแดนติดกับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว และ กัมพูชา ที่ต่างมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายของการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับนโยบายของรัฐบาลไทยเช่นเดียว             โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมา มีคำยืนยันชัดเจนจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการที่จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเป็นพื้นที่ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศในด้านการค้าและการลงทุนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเกษตร และการนำเข้าและส่งออก หากมองในภาพรวมของแนวทางการพัฒนาที่เป็นไปในรูปแบบเชื่อมโยงแบบใยแมงมุม จึงทำให้ขอนแก่นเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญที่จะเป็นการเชื่อมต่อแนวนโยบายดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนที่สุด ทั้งทางบก ทางอากาศ ที่สำคัญคือทางเรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ความสนใจในการร่วมพัฒนาท่าเรือบกที่ จ.ขอนแก่น แล้วในขณะนี้.... 

          เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอนแก่นวันนี้ได้ถูกขนานนามและถูกยกให้เป็นมหานครขอนแก่น ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันทุกหน่วยงานในพื้นที่ ขอนแก่นโชคดีที่มีหน่วยงานภาครัฐที่แข็งแกร่งและมีภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ทุกเรื่องและทุกสิ่งที่จะทำนั้นมีการพูดคุยกันและเดินหน้าทำงานไปด้วยกัน และในปลายปี 2560 จะเข้าสู่การตอกเสาเข็มโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางแรกในระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของคนขอนแก่น            

          ขณะเดียวกันการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ชุมทางจิระ จ.นครราชสีมา-ขอนแก่น มีความคืบหน้าในแผนการดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมต่อชุมทางบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ไปนครพนม ที่ประชุมครม.ได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ดังนั้น การขนส่งระบบราง วันนี้ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อระหว่างหัวเมืองและพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างครบถ้วนตรงไปจนถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมของไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่ท่าเรือได้แล้วเช่นกัน            

          ขณะเดียวกันในการขนส่งทางอากาศ ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมา ขอนแก่นมีสัดส่วนการเดินทางและมีประชาชนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จ.ขอนแก่น เพื่อมาประชุมสัมมนา มาท่องเที่ยวหรือมาประกอบธุรกิจมากถึง 5 ล้านคน ทำให้กรมท่าอากาศยานไทย ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารสนามบินเพิ่มเติมในเฟสที่ 2 ด้วยงบประมาณรวมเกือบ 2,500 ล้านบาท โดยขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนของการศึกษา การออกแบบ และการบริหารจัดการพื้นที่ด้านข้างอาคารสนามบินขอนแก่นแห่งเดิม            

          ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า วันนี้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของขอนแก่น  จัดอยู่ในอันดับที่ 16 ของประเทศที่ 187,271 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 2 ของภาคอีสาน รองจาก จ.นครราชสีมา ขณะที่แนวทางการพัฒนาจังหวัดที่ยังคงเน้นไปในรูปแบบร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา และเดินหน้าพัฒนาตามกรอบแนวทางของเมืองศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจสมัยใหม่ หรือขอนแก่น คอนเน็ก ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างมากที่จะแสดงให้เห็นฝีมือของคนขอนแก่นในการที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นแล้ว ในหลายรูปแบบ ทั้งในเรื่องของขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ, การดำเนินการขอนแก่น สมาร์ทซิตี เส้นทางแรกของประเทศไทย ที่ปรับโฉมรูปแบบรถโดยสารของไทย เป็นรถโดยสารสมัยใหม่ให้บริการที่ครอบคลุมทุกเส้นทาง ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย บริการตลอดทั้ง 24 ชม.การกำหนดรูปแบบเมืองที่สามารถให้บริการแก่ผู้มาเยือนอย่างครบถ้วน ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย และที่สำคัญคือการที่หน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมและช่วยผลักดันโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ เพื่อให้ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ถูกกล่าวถึงและเป็นพื้นที่ที่ดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยว จากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาในพื้นที่ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี.... 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก   www.khonkaenlink.info