0-1

บทความโดย คุณดิสพล ผดุงกุล    

นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท)

ทีมงาน SMART GROWTH THAILAND ขอขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ครับ

          หลังจากผม (คุณดิสพล ผดุงกุล) ได้รับข่าวว่า อ.วเรศรา วีรวัฒน์ ภาคอุตสาหการและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสนใจ การจัดการการเดินรถ (Operation) และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (Transit Oriented Development(TOD)) โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีรถไฟสายสีแดง ศาลายา ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งในแง่มุมที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่และเป็นย่านพักอาศัยของผู้คนที่ทำงานในเขตเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ส่งผลให้ในชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรจะติดขัดมากในบริเวณก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสะพานพระรามแปดและสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนารูปแบบของเมืองที่ทันสมัยของเรา ว่าท่านจะมาร่วมกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล เพื่อหาโอกาสใหม่ในการทำวิจัยร่วมกันหรือมีกิจกรรมอื่นๆร่วมกับ ส่วน พัฒนาวิจัยด้านระบบรางของมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ชื่อว่า New Rail และหนึ่งในกิจกรรมที่รวมอยู่คือกิจกรรม เยี่ยมชมโรงงานประกอบรถไฟของ Hitachi ที่ Newton Durham ซึ่งห่างจากนิวคาสเซิลไปทางใต้ประมาณ 1 ชั่วโมง คณะเราประกอบด้วยนักจัยด้านระบบรางจากจีน, ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานจากออสเตรเลีย และ นักศึกษาจาก New Rail เองมาถึงโรงงาน ฯ ประมาณ บ่ายโมง สิ่งแรกก่อนที่เข้าเยี่ยมชมโรงงานหรือพื้นที่ก่อสร้างโดยเฉพาะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใต้การควบคุมของบริษัทหรือหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น จะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมาก ก่อนเราจะมาถึงเราต้องแจ้งขนาดของรองเท้าเพื่อที่ โรงงานฯจะได้จัดเตรียมรองเท้านิรภัยไว้ล่วงหน้า ส่วนอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลอื่นไม่ว่าจะเป็นเสื้อสะท้อนแสง,หมวกนิรภัยและแว่นตานิรภัย ได้รับการจัดเตรียมไว้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าเยี่ยมชมโรงงาน เราเริ่มสายการประกอบรถไฟจากหลังประตูส่วนต้อนรับโดยไปที่ ช่องการประกอบส่วนภายในตัวรถก่อน เช่นเคยเราไม่รับอนุญาตให้ถ่ายรูปในบริเวณที่ทำงาน แต่เราก็ได้รูปหมู่ของคณะเราไว้เป็นที่ระลึก ผมจึงต้องหาข้อมูลจาก Web Site http://hitachirail-eu.com/ ได้ข้อมูลครบถ้วน ว่าโรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีก่อนที่เราจะเดินทางไปถึง (ต.ค.2558) ด้วยเงินลงทุนกว่า 3,690 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ พื้นที่อาคารโรงงานกว่า 44,000 ตร.ม. มีทางทดสอบ (Test Track) พร้อมระบบไฟฟ้า 25 KVA ยาว 1,100 เมตร สร้างตำแหน่งงานให้แรงงานมีทักษะและกึ่งมีทักษะ ในพื้นที่ ตะวันออกเฉียงเหนือของอักฤษกว่า 730 ตำแหน่ง และสามารถประกอบรถไฟได้ทุกประเภท ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟฟ้าในเมือง ดูรายละเอียดได้ตาม Web ครับ ระหว่างที่เราได้ไปเยี่ยมชมโรงงาน โรงงานมีการประกอบรถไฟอยู่ 2 โครงการคือ โครงการรถไฟระหว่างเมืองจำนวน 866 ตู้หรือ 122 ขบวน ซึ่งนำแบบรถไฟของ Hitachi Class 800/801 ซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 200 กม/ชม ในจำนวน 122 ขบวนนี้เป็นรถไฟฟ้า 42 ขบวนและเป็นรถดีเซลไฟฟ้าอีก 80 ขบวน และนำเข้ามาทั้งคันจากโรงงาน Kasado ญี่ปุ่น จำนวน 12 ขบวนและประกอบในโรงงานแห่งนี้อีก 110 ขบวน โรงงานประกอบรถไฟแห่งนี้มิได้ประกอบรถไฟจากจุดเริ่ม กล่าวคือมิได้เริ่มทำตัวถัง (Body Shell) ไม่ได้เริ่มสร้าง แคร่ (Bogie) เองแต่นำเข้าตัวถังมาจากญี่ปุ่นและแคร่ จากญี่ปุ่นและอิตาลี ซึ่ง Hitachi ได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัท Ansaldo บริษัทฯที่ผลิตรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณสัญชาติอิตาลี ที่ Hitachi ได้ลงทุนซื้อไว้เมื่อ 2 ปีก่อนเช่นกัน ทำให้การจัดตั้งโรงงานประกอบฯ ในอังกฤษเป็นไปอย่างง่ายดาย และอีกโครงการหนึ่งคือ รถไฟระหว่างเมือง Edinburgh-Glasgow และ Stirling – Alloa –Dunblane ซึ่งเป็นรถไฟฟ้า EMU แบบ Class 385 ทำความเร็ว 160-200 กม/ชม จำนวน 70 ขบวน 46 ขบวนพ่วงรถแบบ 3 ตู้และ 24 ขบวนพ่วงรถแบบ 4 ตู้ ซึ่ง 14 ขบวนได้นำเข้ามาจากญี่ปุ่นโดยเป็น 10 ขบวนที่เสร็จสมบูรณ์ และ 4 ขบวนที่เสร็จบางส่วน เพื่อนำมาพัฒนาช่างประกอบ พร้อมทั้งใช้ Local Content ในประเทศอังกฤษและในเขตยุโรปอีกด้วยดูได้จากรูปประกอบนี้

          จากการได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถไฟในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซียและ อังกฤษในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการประกอบรถไฟส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าการที่จะทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานระบบรางซึ่งมุ่งเน้นการซื้อสินค้าระบบรางจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวและรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เป็นไปตามที่ สวทช.และ วศรท ได้ร่วมกันศึกษาเอาไว้คือ

ขั้นที่ 1 นำเข้าทั้งตู้

ขั้นที่ 2 นำเข้าบางส่วนเพื่อพัฒนาช่างแรงงานและอุตสาหกรรมสนับสุนนต่าง

ขั้นที่ 3 สร้างทั้งตู้ขบวน ขึ้นอยู่กับ เศษรฐศาสตร์ของธุรกิจโรงงาน เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

          สามารถนำไปปรับใช้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ต่อไป อย่าปล่อยให้เงินของเราทุกคนไหลออกนอกประเทศโดยได้เพียงตู้รถไฟมาเท่านั้น เอาเงินบาทนี้มาพัฒนาอุตสาหกรรมก่อให้เกินการสร้างงานและการกระจายรายได้ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนต่อๆไปครับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://hitachirail-eu.com/

1

2

3

ขอบคุณข้อมูลจาก   www.smartgrowththailand.org