แม่น้ำโขง ความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอน
สัตว์ทุกชนิดในโลกเกิดและวิวัฒนาการมาคู่กับระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่งที่ตนได้ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ ได้ อย่างในแม่น้ำโขง ความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนที่เกิดขึ้นทุกปีก็คือระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลงในฤดูแล้งและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูฝน ถ้าดูกราฟเก่าๆ จะเห็นว่าเป็นเส้นโค้งตกท้องช้างที่เรียบง่าย ถ้าเอาหน้าแล้งไว้ตรงกลาง สองฝั่งก็เหมือนขึงเชือกให้ไม่ตึง ระดับค่อยๆ ลดลงจนถึงจุดต่ำสุด ค้างอยู่อย่างนั้นสักสองสามเดือนแล้วก็ค่อยๆ กลับขึ้นไปจนถึงจุดล้นตลิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นที่จุดต่ำสุดกับสูงสุดเป็นความสำคัญต่อวงจรชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์อย่างที่สุด
ที่ท้องช้าง
ที่จุดต่ำสุด น้ำไหลช้า ตื้นและใส แสงแดดส่องถึงหินถึงกรวดถึงวัสดุต่างๆ ใต้น้ำโขง ตะไคร่จะขึ้น สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไดอะตอม แมลงน้ำ หอย ก็จะมากินตะไคร่ ปลาก็มากินตะไคร่น้ำมากินสัตว์ตัวเล็กๆ เหล่านี้ ปลาที่เป็นปลาเนื้อสำคัญของลุ่มน้ำโขง อย่างปลาเพี้ย ปลาบัว ปลาหว้า ปลาสะอี ปลาขิ้ง ปลาม่อน รวมไปถึงปลาบึก ล้วนแล้วแต่กินสิ่งเหล่านี้เป็นอาหาร ในช่วงกรกฎาคมถ้าใครไปเที่ยวน้ำโขง อย่างที่จังหวัดเลยจะมีชาวบ้านไปสร้างศาลาอยู่กลางน้ำ เดินลุยน้ำโขงตื้นๆ ลงไปกินข้าว ใครเดินไม่ระวังเหยียบหินใต้น้ำจะล้มหัวแตกเอาง่ายๆ จากเมือกชีวภาพเหล่านี้
นอกจากนั้น ถ้าคุณสังเกตให้ดี ช่วงน้ำลงแบบนี้จะเป็นช่วงที่เหล่าปลาเล็กๆ ร่าเริง น้ำไหลไม่แรง น้ำตื้นๆ ปลาเล็กจะเข้ามาหลบกันตรงนี้ที่ปลาใหญ่ตามเข้ามาไม่ได้ ปลาพวกนี้หลายชนิด อย่างพวกปลาค้อ ปลาบู่ ถือโอกาสอันดีดังกล่าวในการทำรังวางไข่กันในฤดูนี้ เผื่อโอกาสให้ลูกปลาได้โตในช่วงที่น้ำไหลไม่แรงนัก พอน้ำมาก็ดูแลตัวเองได้พอดี ปลาเล็กเหล่านี้ถ้าดูแลตัวเองไม่ดี ก็กลายเป็นอาหารของปลาใหญ่
ตามริมตลิ่งช่วงนี้สาหร่ายต่างๆ ก็จะเริ่มขึ้นเหมือนกัน ทั้งสาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายพุงชะโด พวกเทปต่างๆ ได้อาศัยตะกอนที่น้ำพัดมาในฤดูน้ำหลากเพื่อเติบโต พืชขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นที่หลบซ่อนของกุ้งของปูของลูกปลา รวมทั้งปลาชนิดที่มีขนาดเล็กอย่างปลาหลดแคระ ปลาขยุย ไปช้อนดูเอาเถิด ยังไงก็ได้กับข้าว ปลาบางชนิดกินสาหร่ายพวกนี้เป็นอาหาร สาหร่ายที่กินได้อย่างเทาก็เกิดในฤดูนี้ให้คนได้เอาไปกินได้เลยโดยตรง ตะกอนที่ตกค้างอยู่ตามหาดทรายริมตลิ่งยังเป็นปุ๋ยชั้นดีให้ชาวบ้านได้ลงมาปลูกพืชผักอายุสั้นเก็บเกี่ยวกันในฤดูนี้ ปลาอยู่ในน้ำ ผักอยู่ริมตลิ่ง ข้าวอยู่ในนา
ปลาอีกกลุ่มที่ชื่นใจในช่วงกรกฎาคมคือกลุ่มที่กินอาหารกับพื้นท้องน้ำ พวกกลุ่มปลาที่กินอาหารโดยการขุดคุ้ยเอากับหน้าดิน น้ำที่ไหลช้าลง เกิดการตกตะกอนเป็นเวิ้งให้ปลากลุ่มนี้ได้หากิน สัตว์เล็กๆ หลายชนิดกินตะกอนและอาศัยอยู่ในตะกอนเหล่านี้ กลายเป็นอาหารให้ปลาแกง ปลาสร้อยดอกงิ้ว ปลาหางบ่วง เป็นตัวอย่างที่ดีของปลากลุ่มที่ปากอยู่ด้านล่างและหากินอยู่กับระบบนิเวศนี้
ยังไม่พอเท่านั้น น้ำที่ไหลช้าลงในฤดูนี้ทำให้ธาตุอาหารปุ๋ยต่างๆ เกิดการสะสมอยู่เฉพาะจุดในวังน้ำวนเขตน้ำนิ่งไหลช้า ธาตุอาหารเหล่านี้มีความเข้มข้นเพียงพอให้เกิดสาหร่ายเซลล์เดียวล่องลอย เกิดแพลงตอนพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ พวกสัตว์ที่กรองกินอาหารอย่างหอยสองฝาก็จะมีความสุขในฤดูนี้ ในขณะเดียวกัน ปลาที่กินหอยอย่างปลาสวายหนู ปลาเอิน ก็มีความสุขไปด้วย
ฤดูแล้งแบบนี้ยังเป็นช่วงที่ต้นไม้ดอกไม้หลายชนิดสืบพันธุ์ ความแล้งกระตุ้นให้ต้นไม้เหล่านี้ผลิดอกออกผล ลมแล้งพัดให้กลีบดอกกุ่มน้ำหลุดลอยตกลงบนผิวน้ำกลายเป็นอาหารของปลาตะพาก ลูกมะเดื่อตกตุ๋มลงน้ำก็เป็นอาหารของปลาโพง กินทันเพราะน้ำริมตลิ่งยิ่งไหลช้ากว่ากลางแม่น้ำอีก
น้ำที่ลดลงก่อให้เกิดสันดอนทรายและเกาะมากมายบนแม่น้ำโขง นกหลายชนิด อย่างพวกนกแอ่นทุ่งและกระแตแต้แว๊ด ใช้หาดทรายเหล่านี้ในการทำรัง วางไข่และเลี้ยงลูก นกพวกนี้ทำรังเป็นแอ่งง่ายๆ อยู่บนพื้นตามหาดทราย ลูกของมันที่บินไม่ได้อาศัยความปลอดภัยจากการที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าบนเกาะเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งตามริมหาดมีทั้งแมลงทั้งไส้เดือนให้กินอย่างเพียงพอ วันดีคืนดี พวกมันอาจจะต้องตกใจกับตะพาบหัวกบยักษ์ตัวเท่าโต๊ะที่ลากตัวเองขึ้นมาจากน้ำเพื่อวางไข่ ตะพาบเหล่านี้อาศัยอยู่ตามหาดทรายที่น้ำไม่ลึกนัก เพียงพอให้มันฝังตัวอยู่ในทรายแต่ยืดคอขึ้นมาหายใจได้ ปลาน้ำโขงอุดมสมบูรณ์ พวกมันนอนอยู่เฉยๆ รอให้ปลาว่ายผ่านมาก็ฉกกินเอาจนตัวใหญ่หลายสิบกิโล ที่ริมตลิ่งผาดินเตี้ยๆ เกิดขึ้นในบางจุด รูที่ปลาขุดไว้ในช่วงที่น้ำสูง ตอนนี้กลายเป็นที่อยู่ของครอบครัวนกกระเต็น ซึ่งมีเพื่อนบ้านเป็นนกจาบคา
ที่เอ่ยถึงมานี่ล้วนเป็นปลาขนาดเล็ก ปลากินพืช กินตะกอน มีปลาเล็กพวกนี้ก็มีปลาผู้ล่า ถ้าในป่ามีเสือเป็นผู้ล่าขนาดใหญ่อันปราดเปรียว ในแม่น้ำโขงมีปลาเทพา ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลกที่แสนสง่างาม มันมีรูปร่างปราดเปรียวราวกับปลาฉลาม ครีบทุกครีบมีเปียยาวสวยชวนให้นึกถึงเครื่องบินขับไล่ มันมีขนาดไม่ได้เล็กไปกว่าปลาบึกสักเท่าไหร่ สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่สมบูรณ์เท่านั้น ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ในน้ำโขงยังมีปลาแข้ ปลาเคิง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่หนักได้เกิน 40 หรือ 50 กิโล ขนาดย่อมลงมาก็มีปลานาง ปลาฝักพร้า ปลาโจกแดง ปลาเบี้ยว ล้วนแล้วแต่เป็นปลาเนื้อดี แหล่งโปรตีนชั้นดี มี DHA กินแล้วไม่โง่