สัตว์ทุกชนิดในโลกเกิดและวิวัฒนาการมาคู่กับระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่งที่ตนได้ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ ได้ อย่างในแม่น้ำโขง ความเปลี่ยนแปลงที่แน่นอนที่เกิดขึ้นทุกปีก็คือระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลงในฤดูแล้งและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูฝน ถ้าดูกราฟเก่าๆ จะเห็นว่าเป็นเส้นโค้งตกท้องช้างที่เรียบง่าย ถ้าเอาหน้าแล้งไว้ตรงกลาง สองฝั่งก็เหมือนขึงเชือกให้ไม่ตึง ระดับค่อยๆ ลดลงจนถึงจุดต่ำสุด ค้างอยู่อย่างนั้นสักสองสามเดือนแล้วก็ค่อยๆ กลับขึ้นไปจนถึงจุดล้นตลิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นที่จุดต่ำสุดกับสูงสุดเป็นความสำคัญต่อวงจรชีวิตของเหล่าสรรพสัตว์อย่างที่สุด

ที่ท้องช้าง

ที่จุดต่ำสุด น้ำไหลช้า ตื้นและใส แสงแดดส่องถึงหินถึงกรวดถึงวัสดุต่างๆ ใต้น้ำโขง ตะไคร่จะขึ้น สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไดอะตอม แมลงน้ำ หอย ก็จะมากินตะไคร่ ปลาก็มากินตะไคร่น้ำมากินสัตว์ตัวเล็กๆ เหล่านี้ ปลาที่เป็นปลาเนื้อสำคัญของลุ่มน้ำโขง อย่างปลาเพี้ย ปลาบัว ปลาหว้า ปลาสะอี ปลาขิ้ง ปลาม่อน รวมไปถึงปลาบึก ล้วนแล้วแต่กินสิ่งเหล่านี้เป็นอาหาร ในช่วงกรกฎาคมถ้าใครไปเที่ยวน้ำโขง อย่างที่จังหวัดเลยจะมีชาวบ้านไปสร้างศาลาอยู่กลางน้ำ เดินลุยน้ำโขงตื้นๆ ลงไปกินข้าว ใครเดินไม่ระวังเหยียบหินใต้น้ำจะล้มหัวแตกเอาง่ายๆ จากเมือกชีวภาพเหล่านี้

นอกจากนั้น ถ้าคุณสังเกตให้ดี ช่วงน้ำลงแบบนี้จะเป็นช่วงที่เหล่าปลาเล็กๆ ร่าเริง น้ำไหลไม่แรง น้ำตื้นๆ ปลาเล็กจะเข้ามาหลบกันตรงนี้ที่ปลาใหญ่ตามเข้ามาไม่ได้ ปลาพวกนี้หลายชนิด อย่างพวกปลาค้อ ปลาบู่ ถือโอกาสอันดีดังกล่าวในการทำรังวางไข่กันในฤดูนี้ เผื่อโอกาสให้ลูกปลาได้โตในช่วงที่น้ำไหลไม่แรงนัก พอน้ำมาก็ดูแลตัวเองได้พอดี ปลาเล็กเหล่านี้ถ้าดูแลตัวเองไม่ดี ก็กลายเป็นอาหารของปลาใหญ่

ตามริมตลิ่งช่วงนี้สาหร่ายต่างๆ ก็จะเริ่มขึ้นเหมือนกัน ทั้งสาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายพุงชะโด พวกเทปต่างๆ ได้อาศัยตะกอนที่น้ำพัดมาในฤดูน้ำหลากเพื่อเติบโต พืชขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นที่หลบซ่อนของกุ้งของปูของลูกปลา รวมทั้งปลาชนิดที่มีขนาดเล็กอย่างปลาหลดแคระ ปลาขยุย ไปช้อนดูเอาเถิด ยังไงก็ได้กับข้าว ปลาบางชนิดกินสาหร่ายพวกนี้เป็นอาหาร สาหร่ายที่กินได้อย่างเทาก็เกิดในฤดูนี้ให้คนได้เอาไปกินได้เลยโดยตรง ตะกอนที่ตกค้างอยู่ตามหาดทรายริมตลิ่งยังเป็นปุ๋ยชั้นดีให้ชาวบ้านได้ลงมาปลูกพืชผักอายุสั้นเก็บเกี่ยวกันในฤดูนี้ ปลาอยู่ในน้ำ ผักอยู่ริมตลิ่ง ข้าวอยู่ในนา

ปลาอีกกลุ่มที่ชื่นใจในช่วงกรกฎาคมคือกลุ่มที่กินอาหารกับพื้นท้องน้ำ พวกกลุ่มปลาที่กินอาหารโดยการขุดคุ้ยเอากับหน้าดิน น้ำที่ไหลช้าลง เกิดการตกตะกอนเป็นเวิ้งให้ปลากลุ่มนี้ได้หากิน สัตว์เล็กๆ หลายชนิดกินตะกอนและอาศัยอยู่ในตะกอนเหล่านี้ กลายเป็นอาหารให้ปลาแกง ปลาสร้อยดอกงิ้ว ปลาหางบ่วง เป็นตัวอย่างที่ดีของปลากลุ่มที่ปากอยู่ด้านล่างและหากินอยู่กับระบบนิเวศนี้

ยังไม่พอเท่านั้น น้ำที่ไหลช้าลงในฤดูนี้ทำให้ธาตุอาหารปุ๋ยต่างๆ เกิดการสะสมอยู่เฉพาะจุดในวังน้ำวนเขตน้ำนิ่งไหลช้า ธาตุอาหารเหล่านี้มีความเข้มข้นเพียงพอให้เกิดสาหร่ายเซลล์เดียวล่องลอย เกิดแพลงตอนพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่ พวกสัตว์ที่กรองกินอาหารอย่างหอยสองฝาก็จะมีความสุขในฤดูนี้ ในขณะเดียวกัน ปลาที่กินหอยอย่างปลาสวายหนู ปลาเอิน ก็มีความสุขไปด้วย

ฤดูแล้งแบบนี้ยังเป็นช่วงที่ต้นไม้ดอกไม้หลายชนิดสืบพันธุ์ ความแล้งกระตุ้นให้ต้นไม้เหล่านี้ผลิดอกออกผล ลมแล้งพัดให้กลีบดอกกุ่มน้ำหลุดลอยตกลงบนผิวน้ำกลายเป็นอาหารของปลาตะพาก ลูกมะเดื่อตกตุ๋มลงน้ำก็เป็นอาหารของปลาโพง กินทันเพราะน้ำริมตลิ่งยิ่งไหลช้ากว่ากลางแม่น้ำอีก

น้ำที่ลดลงก่อให้เกิดสันดอนทรายและเกาะมากมายบนแม่น้ำโขง นกหลายชนิด อย่างพวกนกแอ่นทุ่งและกระแตแต้แว๊ด ใช้หาดทรายเหล่านี้ในการทำรัง วางไข่และเลี้ยงลูก นกพวกนี้ทำรังเป็นแอ่งง่ายๆ อยู่บนพื้นตามหาดทราย ลูกของมันที่บินไม่ได้อาศัยความปลอดภัยจากการที่ไม่มีสัตว์ผู้ล่าบนเกาะเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งตามริมหาดมีทั้งแมลงทั้งไส้เดือนให้กินอย่างเพียงพอ วันดีคืนดี พวกมันอาจจะต้องตกใจกับตะพาบหัวกบยักษ์ตัวเท่าโต๊ะที่ลากตัวเองขึ้นมาจากน้ำเพื่อวางไข่ ตะพาบเหล่านี้อาศัยอยู่ตามหาดทรายที่น้ำไม่ลึกนัก เพียงพอให้มันฝังตัวอยู่ในทรายแต่ยืดคอขึ้นมาหายใจได้ ปลาน้ำโขงอุดมสมบูรณ์ พวกมันนอนอยู่เฉยๆ รอให้ปลาว่ายผ่านมาก็ฉกกินเอาจนตัวใหญ่หลายสิบกิโล ที่ริมตลิ่งผาดินเตี้ยๆ เกิดขึ้นในบางจุด รูที่ปลาขุดไว้ในช่วงที่น้ำสูง ตอนนี้กลายเป็นที่อยู่ของครอบครัวนกกระเต็น ซึ่งมีเพื่อนบ้านเป็นนกจาบคา

ที่เอ่ยถึงมานี่ล้วนเป็นปลาขนาดเล็ก ปลากินพืช กินตะกอน มีปลาเล็กพวกนี้ก็มีปลาผู้ล่า ถ้าในป่ามีเสือเป็นผู้ล่าขนาดใหญ่อันปราดเปรียว ในแม่น้ำโขงมีปลาเทพา ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลกที่แสนสง่างาม มันมีรูปร่างปราดเปรียวราวกับปลาฉลาม ครีบทุกครีบมีเปียยาวสวยชวนให้นึกถึงเครื่องบินขับไล่ มันมีขนาดไม่ได้เล็กไปกว่าปลาบึกสักเท่าไหร่ สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องพึ่งพาระบบนิเวศที่สมบูรณ์เท่านั้น ปลาผู้ล่าขนาดใหญ่ในน้ำโขงยังมีปลาแข้ ปลาเคิง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่หนักได้เกิน 40 หรือ 50 กิโล ขนาดย่อมลงมาก็มีปลานาง ปลาฝักพร้า ปลาโจกแดง ปลาเบี้ยว ล้วนแล้วแต่เป็นปลาเนื้อดี แหล่งโปรตีนชั้นดี มี DHA กินแล้วไม่โง่

น้ำมาปลาจะไปไหน

พอพ้นฤดูแล้งไป ฝนเริ่มตก น้ำเริ่มไหลแรงขึ้น เริ่มมีแร่ธาตุต่างๆ ไหลมากับน้ำ เปลี่ยนแปลงเคมี อุณหภูมิของน้ำ ปลาหลายชนิดอาศัยสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณของการเริ่มเดินทาง รีบไปก่อนที่ทัพใหญ่จะมาถึงตอนนั้นจะเดินทางไม่ไหว คำถามคือจะไปไหน ไปทำอะไร สมมุติแบบนี้ มีจุด A, B, C น้ำไหลจาก A ไป C สมมุติว่าใช้เวลา 3 วัน สมมุติต่อว่า จุด C คือจุดที่ปลาซวย (ชื่อท้องถิ่นของปลาสวาย) อยู่สบายที่สุดในชีวิตของปลาซวยแล้ว ทีนี้ไข่ปลาซวยนี่ใช้เวลาประมาณ 24-36 ชั่วโมงกว่าจะฟักเป็นตัว ลูกปลาที่ใช้ไข่แดงเป็นอาหารว่ายน้ำไม่เก่ง กว่าจะเริ่มพอจะว่ายน้ำดูแลตัวเองได้ใช้เวลาอีกสักสองวัน ที่นี่ถ้าปลาซวยอยากจะให้ลูกอาศัยอยู่ที่จุด C ปลาซวยจะทำอย่างไร ไข่ที่จุด C น้ำก็พัดลงไปอยู่จุด E แล้ว ดังนั้นถ้าอยากจะให้ลูกอยู่ที่จุด C ได้ ปลาซวยของเราก็ต้องทำการอพยพว่ายทวนน้ำไปที่จุด A ไข่ตรงนั้นแล้วให้สายน้ำที่เต็มไปด้วยออกซิเจนและอาหารพัดเอาลูกปลามาเรื่อยๆ 3 วันก็ถึงจุด C ลูกปลาดูแลตัวเองได้พอดี ฮึบๆ อ่านมาถึงตรงนี้จะสงสัยว่าแล้วจะมีจุด B ไว้ทำอะไร จุด B เอาไว้สมมุติว่ามีคนเห็นแก่ตัวไปสร้างเขื่อน พ่อแม่ปลาซวยอพยพผ่านไม่ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตอนนี้มี 5 อย่าง หนึ่งคือก็ไข่มันเสียตรงนั้นแหละ ลูกปลาก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่ควรจะได้อยู่ ไหลเลยไปไหนไม่รู้ สองคือไม่ไหวบิวท์อารมณ์ไม่ขึ้น สถานที่ไม่ผ่าน เครียด ปวดหัว เหนื่อย เซ็กซ์เสื่อม ไข่ฝ่อ ปีนี้ก็ไม่มีการผสมพันธุ์ สามคือถึงแม้จะมีกฎหมายห้ามทำการประมงบริเวณประตูน้ำและหน้าเขื่อน แต่เอาจริงๆ ก็ไม่เห็นมีใครห้าม ปลาอพยพขึ้นมาติดอยู่หน้าเขื่อนหน้าฝายก็มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจับไปทีละมากๆ สี่ ไข่จุกท้อง ตายอยู่ตรงนั้น

ห้า ให้ย่อหน้าใหม่เลย เพราะว่ามีเขื่อนที่เคลมว่าเป็นมิตรกับปลาลงทุนสร้างทางให้ปลาผ่านได้แบบแทบจะทวงบุญคุณเอากับปลาและสาธารณชน สมมุติว่าปลาซวยบังเอิญไปเห็นบันไดปลาโจน (เห็นเค้าว่าให้เรียกว่าทางลาดให้ปลาผ่านเพราะมันลาดม้ากมาก) ซึ่งจริงๆ ก็คือปลาส่วนใหญ่จะไปหลงอยู่กับน้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ของเขื่อนมามากกว่าเพราะตรงนั้นไหลแรงกว่า แต่สมมุตินะ เราสมมุติว่าปลาซวยไปเจอทางผ่านที่ว่า ที่ด้านล่างนี่มีทั้งปลาบึก ปลาเข้ ปลาเคิง ปลาคูน พ่อแม่พันธุ์ตัวนึง ห้าสิบโล ร้อยโล สองร้อยโล กำลังมองไอ้ทางลาดปลาที่ว่านี่ว่ากูจะผ่านไปได้ยังไง แต่ปลาซวยของเราไม่สนใจว่ายลัดเลาะขึ้นบันไดไปปึ๊บ ขึ้นลิฟต์ต่อ ทำความสูงได้สามสิบกว่าเมตรเท่ากับตึก 11 ชั้นก็ข้ามเขื่อนมาได้ ลิฟท์ลต์เปิดผ่างงงงงง ก็จะงงนิดนึง ปกติปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำไปเรื่อยๆ ไง แต่น้ำไหลผ่านเขื่อนมันไม่ได้ไหลแบบน้ำแม่น้ำ มันไม่ได้ไหลไปทั้งมวล มันมีจุดที่ไหลเบาไหลเร็วตามแต่เค้าจะเปิดมากน้อย

สมมุติอีกว่าปลาซวยของเราเจอกระแสน้ำที่นำทางทั้งสองไปจนถึงจุดที่จู๋จี๋กันเมื่อตั้งแต่สมัยยังไม่มีเขื่อนได้สำเร็จ ประกอบการกันจนเสร็จกิจ ไข่น้อยก็ล่องลอยไป ลอยไปสักพักไปเจอน้ำเอ่อของเขื่อน ก็ไม่ลอยต่อแล้ว จมอยู่ตรงนั้นแหล่ะ ไม่โดนปลาอื่นกินไป ก็นอนหายใจไม่ออกตายอยู่ที่ก้นเขื่อนนั่นแหละ จะมีสักกี่ใบที่โชคดีจับกระแสน้ำจนไหลผ่านเขื่อนไปได้ คือปลาบ้านเรามันไม่ใช่ปลาแซลมอนของทางประเทศต้นแบบที่สร้างบันไดปลาโจนขึ้นมา (ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้แซลมอนมันรอดได้อะนะ) แซลมอนขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำแล้วพ่อแม่ตายเลย ไม่ต้องอพยพกลับ ส่วนลูกปลาอาศัยอยู่ต้นน้ำจนโตระดับหนึ่งถึงว่ายน้ำกลับลงมาเอง ผ่านกังหันปั่นไฟ รอดบ้างตายบ้างแต่มันว่ายน้ำเป็นแล้วไงและตัวไม่ใหญ่มาก ปลาบ้านเราพ่อแม่ขึ้นไปวางไข่แล้ว ขาลงมันไหลลงมาเป็นไข่เป็นลูกปลาน้อยๆ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มันไม่ได้ผ่านน้ำนิ่งหลังเขื่อนไปได้ง่ายๆ หรอก ส่วนพ่อแม่ปลา ขากลับนี่ก็ขอให้โชคดีไหลไปตรงทางที่เค้าใช้ให้เรือผ่านได้ จะได้ไม่ต้องเสี่ยงไปผ่านเทอร์ไบน์ ที่เค้าบอกว่าปลาปลอดภัย เพราะยังไงก็มีโอกาสโดนกังหันปั่นขาดท่อนเอาอยู่ดี

น้ำมาปลากินอะไร?

สมมุติย้อนเวลากลับไปก่อนนะ สมมุติว่ากินชานมไข่มุกแล้วไม่อ้วนและตอนนี้ในแม่น้ำโขงยังไม่มีเขื่อน เอาเป็นว่าตอนนี้น้ำหลากแล้ว น้ำโขงสีขุ่นคลั่กเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่พัดมาจากต้นน้ำ (สีตอนนี้จะชวนให้นึกถึงชาไทยใส่นม) น้ำนี้กำลังเริ่มไหลล้นตลิ่งท่วมทุ่ง ป่าบุ่ง ป่าทาม บึงน้ำน้อยใหญ่รับน้ำกันทั่ว และก็ยังหลากล้นเข้าไปในนาข้าว พื้นที่เกษตร ปลาน้อยใหญ่ก็ไหลตามน้ำกันเข้ามา สิ่งแรกที่ปลาจะได้กินก็คือสัตว์ต่างๆ ที่หนีน้ำไม่ทัน มด ปลวก ไส้เดือน สัตว์หน้าดินต่างๆ พวกชิ้นส่วนของพืชที่กินได้ ใบไม้ ฝักอ่อน สัตว์ใหญ่ๆ ที่จมน้ำตายก็ยังกลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำน้อยใหญ่มากมายเลย ท่วมนานสักนิดจะเริ่มมีตะไคร่ขึ้นตามใบไม้ ใบหญ้า ท่อนไม้ ขอนไม้ ก้อนหิน ก็มีปลามีสัตว์น้อยใหญ่มากิน ท่วมต่ออีกหน่อยสวรรค์น้อยๆ ก็เริ่มก่อตัว พืชเริ่มเน่ากลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย แบคทีเรียเป็นอาหารของสัตว์เล็กๆ สัตว์เล็กๆ กลายเป็นอาหารของปลาเล็กๆ ปลาเล็กๆ กลายเป็นอาหารของปลากลางๆ ปลากลางๆ ไม่เป็นอาหารของคนก็เป็นอาหารของสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นไปอีก พอพืชบกตายทีนี้พืชน้ำขึ้นแทนก็กลายเป็นอาหารของสัตว์ต่อ

ในทุ่งน้ำท่วมนี่นอกจากหาอาหารง่ายแล้วยังมีข้อดีอีก เช่น น้ำไหลไม่แรงลูกปลาอยู่ได้ มีที่หลบภัยมากให้ลูกปลาหลบซ่อนได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นที่ซุ่มโจมตีของปลาล่าเหยื่อเหมือนกัน ลูกปลาพ่อแม่ปลาก็หากินกันอยู่ในทุ่งนี่แหละ พอน้ำลดก็ไหลตามน้ำกลับลงไป ลูกปลาที่โตมาในทุ่งน้ำท่วม ทั้งกลุ่มที่พ่อแม่ขึ้นไปไข่ให้ไหลกลับลงมาตามน้ำ ทั้งพวกที่พ่อแม่อพยพสั้นๆ เข้ามาวางไข่ในทุ่ง ตอนนี้ก็โตพอจะดูแลตัวเองได้แล้ว พวกปลาขาวทั้งหลายตอนนี้ตัวยาวสักนิ้วสองนิ้ว ลงไปอยู่ตามแม่น้ำได้แล้ว

ส่วนพื้นที่เกษตรที่ถูกน้ำท่วมหลากไป ตอนนี้ได้ปุ๋ยจากตะกอนที่น้ำพัดมา ช่วงที่น้ำท่วมเกิดการหมักสารอินทรีย์ในดินก็กลายเป็นปุ๋ย พวกเกลือต่างๆ ที่สะสมอยู่จากการใช้น้ำบาดาลมาลดหรือจากปุ๋ยก็ถูกน้ำชะไปสิ้น เพาะปลูกก็ได้ผลดีล่ะทีนี้

พืช พืช และ พืช

จะเห็นว่าฤดูกาลไหนๆ ผมก็จะเอ่ยถึงว่าพืชขึ้นมายังไง ขึ้นตรงไหน ใครกิน เพราะทุกระบบนิเวศ ผู้ผลิตตั้งต้นคือพืช ระบบนิเวศในน้ำที่สมบูรณ์คือระบบนิเวศที่มีพืชขึ้นและเข้ามาเกี่ยวข้องตามฤดูกาลอย่างเหมาะสม เมื่อใดที่ส่วนตื้นของแหล่งน้ำที่มีพืชขึ้นถูกขุดให้ลึกจนแสงส่องไม่ถึงพื้นและไม่มีพืชต้นใหญ่พอจะงอกทะลุน้ำขึ้นมาได้ เมื่อใดที่น้ำขุ่น และ/หรือ ไหลเชี่ยว และ/หรือ มีระดับสูงอยู่ตลอดเวลา พืชก็ขึ้นเมื่อได้ เมื่อไหร่ที่น้ำถูกเก็บกักไม่ล้นตลิ่ง ปลาก็เข้าไปใช้ประโยชน์พืชบกไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ตะกอนที่จะมาตกเป็นปุ๋ยให้พืชได้ใช้กลับไปตกทับถมกันอยู่ในแอ่งน้ำลึกของเขื่อน พืชก็ขึ้นไม่ได้ เมื่อไหร่ที่น้ำขึ้นลงไม่ตรงตามฤดูกาลพืชก็ขึ้นไม่ได้ เมื่อนั้นระบบนิเวศก็ล่มสลาย

ปัจจุบันที่มีเขื่อน

น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฤดูแล้งมีน้ำ ฤดูฝนไม่มีน้ำก็มี สัตว์ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน พืชน้ำขึ้นไม่ได้ พืชริมน้ำแห้งตายก็มี จมน้ำตายก่อนมีดอกมีผลก็มี นกทำรังในฤดูแล้งอยู่บนหาดทรายอยู่ดีๆ เขื่อนก็ปล่อยน้ำมาท่วม ไข่ตะพาบก็ไปด้วย ตัวตะพาบเองก็เร่ร่อนกะไม่ถูกแล้วว่าต้องไปฝังตัวตรงไหนเพราะน้ำขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ คนจะปลูกพืชริมฝั่งก็ปลูกไม่ได้เพราะบางทีผักยังไม่ทันโตเขื่อนก็ปล่อยน้ำมา ปลูกได้ผลผลิตก็ไม่ดี เพราะตะกอนที่เป็นปุ๋ยส่วนหนึ่งก็ไปนอนนิ่งอยู่หลังเขื่อนแล้ว

กั้นปลาไม่ให้อพยพทวนขึ้นไปวางไข่ ทางปลาผ่านที่ปลาหลายชนิดไม่สามารถผ่านได้ ปลาชนิดที่ผ่านไปได้ลูกปลาก็มีโอกาสรอดน้อยเพราะไข่และลูกปลาตกจมอยู่หลังเขื่อน แน่นอนว่าจะมีหน่วยงานหนึ่งรับหน้าที่เพาะปลาต่างถิ่นไปปล่อยเพื่อซ้ำเติมด้วย

น้ำไม่หลากท่วมทุ่งเพราะฤดูน้ำหลากเขื่อนต้องเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อปั่นไฟในฤดูแล้ง

มินับรวมเรื่องการสูญเสียดินแดนและพื้นที่ผลิตอาหาร

น้ำที่ลงอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติ มีโอกาสให้ระดับความชื้นในดินริมตลิ่งค่อยๆ ลดลง ทำให้ดินเบาและแข็งตัว ทรงสภาพเป็นตลิ่งอยู่ได้ แต่น้ำที่ขึ้นลงเร็ว น้ำที่ซึมอยู่ในดินริมตลิ่งจะแห้งไม่ทัน จะทำให้ดินหนักและเกิดการพังถล่มลงได้ง่าย ริมแม่น้ำโขง ดินถล่มลงไปเท่าไหร่ประเทศไทยก็เสียดินแดนไปเท่านั้น และที่ตามลงไปก็คือต้นกุ่มน้ำและมะเดื่อที่ปลาใช้เป็นอาหาร บางเขื่อนเห็นว่าน้ำจะขึ้นลงรายวันรายชั่วโมง คงต้องรอชมกันว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนที่ปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามทุกวันนี้เริ่มมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงขึ้นจากการที่ตะกอนในแม่น้ำโขงไหลไปไม่ถึงปากแม่น้ำ ตรงนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม คนกินกันทั้งประเทศและเหลือส่งออกไปในหลายประเทศ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าประเทศฟิลิปปินส์จะแสดงความกังวลต่อการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งๆ ที่ประเทศตัวเองเป็นเกาะไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำโขงเลย เพราะประเทศฟิลิปปินส์ก็กินข้าวที่ปลูกจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเช่นกัน

จบไหม

ปลาคือแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีของผู้คน ผักที่ปลูกริมตลิ่งก็เป็นอาหารที่สำคัญ คนที่พึ่งพาอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย กลุ่มนี้มีเป็นร้อยล้านคนในลุ่มน้ำโขง ซึ่งบางประเทศยังมีปัญหาเรื่องเด็กขาดสารอาหารอยู่เลย การสร้างเขื่อนเพื่อให้คนไม่กี่ครอบครัวได้ร่ำรวยยิ่งขึ้น โดยอ้างความมั่นคงทางพลังงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะทางด้านระบบนิเวศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ควรจะเกิดขึ้น

คำถามที่อยากให้คนไทยถามกันเองในวันนี้ก็คือ ในที่สุดแล้วสังคมที่เปิดโอกาสให้คนรวยรวยขึ้นไปเรื่อยๆ โดยแย่งชิงทรัพยากรเอาจากคนชายขอบ มันจะเป็นสังคมที่มีความสงบสุขและร่มเย็นได้อย่างไร

SOURCE : www.thaipublica.org